xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉมงานวิจัย “แคลเซียมอัดเม็ด” จาก “เกล็ดปลานิล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แคลเซียมเสริมอัดเม็ดสกัดจากเกล็ดปลา
หลังจากพัฒนาตามโจทย์เอกชนอยู่หลายปี ในที่สุดนักวิจัยจากมหิดลประสบความสำเร็จ ในการเปลี่ยน “เกล็ดปลานิล” เป็นแคลเซียมเสริมแบบอัดเม็ด และยังต่อยอดสู่เครื่องดื่มเสริมแคลเซีียมไม่มีสีไม่มีกลิ่นได้อีกผลิตภัณฑ์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ จากภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้รับโจทย์วิจัยจากบริษัท แสงทอง จังหวัดสมุทรสาคร บริษัทเอกชนที่รับซื้อเกล็ดปลาแล้วส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อสกัดเป็นแคลเซียมผงที่มีราคาแพง แต่จำนวนเกล็ดปลานั้นมีเยอะมากจนเหลือทิ้ง ทางบริษัทจึงอยากเพิ่มมูลค่าของเกล็ดปลา และกำจัดปัญหาเรื่องของกลิ่นไม่พึงประสงค์

เมื่อทีมวิจัยได้เกล็ดปลามาจากบริษัทแล้ว ได้นำเกล็ดปลาไปทำการทดสอบก่อนว่าในเกล็ดปลานั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีสารพิษอย่างโลหะหนัก ปรอทปะปนมาหรือไม่ เนื่องจากเป็นเกล็ดปลาที่ได้มาจากอุตสาหกรรม จึงต้องทดสอบหาความเป็นพิษ และยังต้องเก็บรักษาที่ไว้ที่อุณหภูมิต่ำถึง -20 องศาเซลเซียส เนื่องจากเกล็ดปลาเน่าเสียง่าย และเมื่อสกัดออกมาเป็นก้อนแคลเซียม ก็ยังต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิเดิม จึงเป็นเหตุให้มีต้นทุนในการเก็บรักษาสูง

เป้าหมายของทีมวิจัยคือพัฒนาสูตรแคลเซียมเสริมที่สักดได้จากเกล็ดปลา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิจัยหลายสาขา ทั้งด้านชีวเคมี ด้านชีววิทยา ด้านคณิตศาสตร์ในการมาสร้างแบบจำลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านฟิสิกส์ ซึ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ บอกว่าได้ความร่วมมือจาก ผศ. ดร.วีรพัฒน์ พลอัน อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร

“ในขั้นตอนการทำวิจัยนั้นจะสกัดเอาโปรตีนออกจากส่วนผสมแคลเซียมสกัดบางส่วน เพื่อทำให้สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องได้ แล้วนำแคลเซียมสกัดที่ได้ ไปทดลองกับหนูในระยะให้นมลูก เนื่องจากในช่วงระยะดังกล่าว แม่หนูจะสร้างและการสลายของแคลเซียมประมาณร้อยละ 5 ของร่างกาย โดยแคลเซียมจากร่างกายของแม่หนูนั้น จะถูกสลายจากกระดูกและเข้าไปละลายในน้ำนม เมื่อนำไปทดลองกับแคลเซียมที่สกัดออกมาจากเกล็ดปลา จะทำให้เห็นผลได้ชัดกว่าหนูในสภาวะปกติ”

จากการทดลองดังกล่าวนั้นทำให้เกิดการต่อยอดศึกษาตัวแปรที่ส่งผลในการดูดซึมของแคลเซียมในร่างกายต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาทีมวิจัยพบว่ามี โซเดียม น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและมีกรดอะมิโนบางตัว เป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย จากนั้นจะนำข้อมูลไปศึกษาเรื่องสูตรของผลิตภัณฑ์แคลเซียมเสริมว่า ต้องใส่ตัวแปรต่างๆ กับแคลเซียมในสัดส่วนเท่าใด เพื่อที่จะทำให้ดูดซึมแคลเซียมเสริมได้ดีที่สุด โดยแคลเซียมที่มีขายตามท้องตลาดตอนนี้นั้น ร่างกายสามารถดูดซึมได้ร้อยละ 20 แต่ตอนนี้ทีมวิจัยยังหาตัวแปรที่จะช่วยเสริมการดูดซึมของร่างกายได้ยากมาก

“ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมานั้น หากเปลี่ยนวัตถุดิบจากเกล็ดปลานิลเป็นปลาน้ำจืดอื่น หรือแม้แต่ปลาทะเล โครงสร้างของแคลเซียมก็ไม่ต่างกันเพราะเป็น “ไฮดรอกซีอะพาไทด์” คล้ายๆ กัน แต่ถ้าใช้เกล็ดปลาจากปลาทะเลจะมีข้อจำกัดเรื่องจำนวน เนื่องจากบางฤดูไม่สามารถออกไปจับปลาได้ แต่หากใช้เกล็ดปลานิล ซึ่งเป็นปลาฟาร์มหรือปลาเลี้ยงนั้น จะทำให้กระบวนการผลิตมีวัตถุดิบอยู่ตลอด ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ตลาดผู้บริโภค นอกจากนี้ยังสามารถใช้เกล็ดปลาชนิดอื่นมาทดแทนในกรณีที่เกล็ดปลานิลขาดตลาดได้” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นทีทิพย์ กล่าวเสริม

สำหรับอุปสรรคในงานวิจัยนั้นเป็นเรื่องของเงินทุนด้านการจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับงานวิจัย เนื่องจากทุนวิจัยที่ได้รับนั้นไม่รวมในส่วนของการจัดซื้อครุภัณฑ์มาด้วย และในระหว่างงานวิจัยนั้นก็อาจจะได้ผลไม่ตรงกับทฤษฏีบ้าง ซึ่งในส่วนนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นทีทิพย์ กล่าวว่าเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักวิจัย

งานวิจัยสกัดแคลเซียมจากเกล็ดปลานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา และพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ จึงยังไม่มีผลิตภัณฑ์เป็นชิ้นเป็นอันออกมาให้เห็น แต่ตอนนี้ทีมวิจัยได้ผลิตผลิตภัณฑ์ออกให้เห็น และได้ต่อยอดสู่การวิจัยคอลลาเจน โดยหาคำตอบว่าในโปรตีนของเกล็ดปลานั้นมีกรดอะมิโนตัวใดบ้าง และกรดอะมิโนตัวใดบ้างที่ส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย ซึ่งจากการวิจัยพบว่าเกล็ดปลานั้นมีโปรตีนคอลลาเจนไทป์ 1 (type 1)

นอกจากนี้ยังทีมวิจัยมีผลิตภัณฑ์อีกอย่างที่ต่อยอดจากงานวิจัยพัฒนาแคลเซียมเสริมจากเกล็ดปลา นั่นคือ “น้ำแคลเซียม” ซึ่งเป็นแคลเซียมที่ได้มาจากการสกัดเกล็ดปลา และแคลเซียมธรรมชาติที่ได้จากงานวิจัยชิ้นอื่นของทีมวิจัย โดยน้ำแคลเซียมที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นน้ำที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และมีลักษณะเหมือนน้ำเปล่า

“สำหรับสิทธิบัตรของงานวิจัยชิ้นนี้เป็นสิทธบัตรร่วมระหว่างทางทีมวิจัยและทางบริษัท โดยบริษัทสามารถนำงานวิจัยนี้ไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งผลดีของงานวิจัยนี้คือเอกชนได้ทางแก้ไขปัญหา ส่วนทีมวิจัยเองก็ได้องค์ความรู้มาต่อยอด” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นทีทิพย์ กล่าว
 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ

วัตถุสำหรับผลิตแคลเซียมเสริมจากเกล็ดปลา
น้ำแคลเซียม อีกผลพลอยได้จากงานวิจัย
กำลังโหลดความคิดเห็น