อิสราเอล ประเทศเล็กๆ ในตะวันออกกลาง ห้อมล้อมด้วยประเทศที่ล้วนไม่ลงรอยกันทั้งสิ้น การดำเนินการทุกอย่างล้วนเกี่ยวพันแนบแน่นกับความมั่นคงของประเทศอย่างแยกไม่ออก
โดยเฉพาะเรื่องน้ำจืด
ลำพังแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติมีน้อยมาก เนื่องจากปริมาณฝนตกน้อย ไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม และอื่นๆ แม้อิสราเอลจะมีน้ำใต้ดินอยู่มาก แต่ก็มีข้อจำกัดที่สูบได้ในอัตราเหมาะสมหนึ่งเท่านั้น และยังต้องเติมน้ำกลับลงไปเพื่อรักษาระดับน้ำใต้ดิน
ทางออกหนึ่งคือการนำน้ำทะเลมากลั่นเป็นน้ำจืด
อิสราเอลมีแหล่งน้ำจืดในมือประมาณ 1,450 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี มีการใช้อุปโภคบริโภคในภาคครัวเรือนประมาณ 850 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 58% เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนได้
“โรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลสามารถเพิ่มปริมาณน้ำจืดได้ 585 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี คิดเป็น 40% ของปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่ จึงเท่ากับเป็นแหล่งเสริมความมั่นคงให้อิสราเอลได้เป็นอย่างดี” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน หนึ่งในคณะเยี่ยมชมงานที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหัวหน้าคณะ กล่าว
น้ำจืดที่ผลิตจากน้ำทะเล 585 ล้านลูกบาศก์เมตรได้จากโรงงาน 5 แห่ง ได้แก่ Ashkelton Palmachim Hadera Sorek และ Ashdod โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2548 และทยอยเปิดเดินเครื่องจนครบ
สำหรับโรงงาน Hadera เปิดเดินเครื่องผลิตเมื่อปี 2552 มีกำลังผลิต 127 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของอิสราเอล และเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากรัสเซีย
เพราะความสำคัญโดดเด่นนี้เอง ทำให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ และคณะ วางแผนเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมกิจการช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
โรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ใช้เทคโนโลยี Reverse Osmosis (RO) เป็นศัพท์ที่คนไทยคุ้นชินกันอย่างดี เพราะปัจจุบันมีน้ำดื่มบรรจุขวดสำเร็จรูปในประเทศไทยใช้เทคโนโลยีนี้ผลิต โดยในชั้นต้นเป็นระบบกรองน้ำทะเลด้วยทรายเพื่อกรองเอาสิ่งที่มีขนาดเล็กออก เช่น ปลาตัวเล็ก และอื่นๆ ก่อนเข้าสู่ระบบกรอง แล้วเข้าระบบ RO
น้ำทะเลมีสารประกอบหลายอย่างที่ต้องขจัดออกไปให้เหลือน้อยที่สุด ไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภคของคนและพืช เช่น แคลเซียมจาก 480 เหลือ 32-40 แมกนีเซียมจาก 1,550 เหลือ 1 โซเดียมจาก 12,200 เหลือ 15-30 คลอไรด์จาก 22,600 เหลือ 10-20 โบรอนจาก 5.3 เหลือ 0.3 และ TDS จาก 40,700 เหลือ 270 (หน่วย PPM ส่วนในล้านส่วน)
สารโบรอนแม้มีอยู่น้อยแต่ยังต้องลดลงอีกเนื่องจากไม่เหมาะต่อพืช อีกทั้งองค์ประกอบทางเคมีที่มีผลต่อระบบท่อ
จากระบบกรอง RO จะมีน้ำเหลือจากระบบประมาณ 50% ซึ่งมีความเค็มสูงขึ้นและต้องนำกลับสู่ท้องทะเล ประเด็นคือทำอย่างไรไม่ให้ทำลายสิ่งแวดล้อม
“อิสราเอลใช้วิธีลดความเค็ม โดยผสมกับน้ำหล่อเย็นของโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่อยู่ติดกัน และมีกระทรวงสิ่งแวดล้อมล้อมคอยกำกับอยู่ นับเป็นจุดเด่นในการรักษาสิ่งแวดล้อม” ดร.สมเกียรติกล่าว
ในการวางแผนการผลิต โรงงานเดินเครื่องช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย เพื่อใช้ไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้เวลาผลิต 90 นาที โดยไม่เก็บน้ำไว้ที่โรงงานแต่จะส่งตามท่อทันที กระบวนการผลิตดังกล่าวควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามตลอดเวลา และไม่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อความปลอดภัย
น้ำจืดที่ผลิตได้สามารถใช้ดื่มและใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้
การจัดการในภาพรวม รัฐบาลอิสราเอลจะบริหารเองทั้งหมด ทั้งน้ำจากแหล่งน้ำจืดและโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล
ทั้งนี้ น้ำจืดที่ผลิตจากน้ำทะเลลงทุนโดยเอกชนในรูปแบบ BOT (Built-Operate-Transfer) ในระยะ 25 ปี จากนั้นส่งมอบให้รัฐ
“จุดเด่นของอิสราเอลคือการวางแผนทำงานทั้งระบบ โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด เอาชนะธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และจิตสำนึกต่อประเทศ” ดร.สมเกียรติกล่าว
ประเทศไทยเองจำเป็นต้องศึกษาแนวทางการหาแหล่งน้ำจืดที่หลากหลายเช่นกัน รวมทั้งการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถหาน้ำจืดในธรรมชาติได้เพียงพอ เช่น เมืองท่องเที่ยวริมทะเลหรือมีสภาพเป็นเกาะ หรือแม้แต่เมืองอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเล