xs
xsm
sm
md
lg

“มหกรรมวิทย์” จัดใหญ่โชว์สัตว์สารพัดพิษ-จำลองชีวิตผู้สูงวัย 17-27 ส.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่มดจากนิทรรศการสารพัดพิษมาสาธิตสิ่งมีชีวิตพิษร้ายถึงตาย
17-27 ส.ค. “มหกรรมวิทย์” จัดใหญ่โชว์สัตว์สารพัดพิษที่สวยงามแต่มีพิษถึงตาย จำลองชีวิตผู้สูงวัยให้เข้าใจถึงความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น พร้อมนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) แถลงข่าวการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2560

การแถลงข่าวดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ส.ค.60 ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ พร้อมทั้งเปิดตัวพรีเซนเตอร์งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560 ได้แก่ เก้า-จิรายุ ละอองมณี และ มายด์-ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล พร้อมทั้งจัดแสดงไฮ-ไลท์ของงานบงานบางส่วน

ทั้งนี้ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปีล่าสุดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-27 ส.ค.60 ณ ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” โดย ดร.อรรชกากล่าวว่า ตั้งใจให้งานดังกล่าวเป็นงานยิ่งใหญ่ที่สุดทองด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนไทยและประชาชนที่ไปร่วมงาน

งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ จัดงานถึง 11 วัน ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คาดว่าน่าจะเป็นงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ที่ยาวนานที่สุดในภูมิภาค โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ 72 หน่วยงานนำเอานวัตกรรม งานใหม่ๆ และงานวิทยาศาสตร์ระดับลึกๆ ที่น่าสนใจมาจัดแสดง ซึ่งมีเป้าหมายว่าเด็กต้องสนุกและได้เรียนรู้ จึงต้องมีกิจกรรมให้ได้ลงมือทำ

สำหรับนิทรรศการที่จัดแสดงภายมหกรรมนั้นมี 9 นิทรรศการหลัก คือ นิทรรศการ “มนุษย์ครองโลก” นิทรรศการ “สูงวัยใกล้ตัว” นิทรรศการ “นวัตกรรมพลังงาน” นิทรรศการ “ท่องเที่ยวยั่งยืน” นิทรรศการ “โลกดิจิทัล” นิทรรศการ “สารพัดพิษ” นิทรรศการ “นวัตกรรมอาหารและการเกษตร” นิทรรศการ “จากสิ่งประดิษฐ์สู่วิถีคิดนวัตกรรม” และนิทรรศการ “ยักษ์ใหญ่ใต้ท้องทะเลลึก”

พร้อมกันนี้ภายในงานแถลงข่าวได้นำเสนอไฮไลท์ของนิทรรศการบางส่วน เช่น เครื่องมือวัดสัญญาณไฟฟ้าและความถี่ หุ่นยนต์เสริมการเรียนรู้ AIM Robot ของภาควิชาวิศวชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการสูงวัยใกล้ตัว เพื่อความเข้าใจผู้สูงวัยมากขึ้น โมเดลจำลองของยานแคสสินีและดาวเสาร์จากนิทรรศการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ปลาการ์ตูนและปะการังส่วนหนึ่งของนิทรรศการจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา นิทรรศการเรียนรู้กระบวนการวิศวกรรมจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และตัวอย่างสัตว์มีพิษ เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม ตัวบึ้ง (คล้ายแมงมุมทารันทูลา) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการสารพัดพิษ

ส่วนนิทรรศการเทิดพระเกียรติที่จัดแสดงนั้น ดร.อรรชกากล่าวว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญ โดยภายในงานมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดานวัตกรรมไทย” นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร “กษัตริย์นักบิน” นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ “พระราชินีนักอนุรักษ์” นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เจ้าฟ้านักอนุรักษ์” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราขชกุมารี “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์”
บึ้ง แมงมุมทารันทูลาพันธุ์ไทยพบได้ในป่าลึกที่ค่อนข้างแล้ง
แมงกะพรุนโปรตุเกสที่มีพิษร้ายถึงตาย แต่ผู้โดนพิษปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยการเทน้ำส้มสายชูราดแผล
ร่างงูเห่าที่ถูกสตัฟฟ์
แมงกะพรุนกล่อง (หนวดสีเหลือง) และแมงกะพรุนโปรตุเกสที่มีพิษร้ายแรง
ตัวแทนเยาวชนชมหุ่นยนต์ AIM Robot หุ่นยนต์ที่ช่วยดูแลผู้สูงวัยได้ในนิทรรศการสูงวัยใกล้ตัว
หุ่นยนต์ AIM Robot หุ่นยนต์ที่ช่วยดูแลผู้สูงวัยได้ในนิทรรศการสูงวัยใกล้ตัว
วอล์กเกอร์ อุปกรณ์ช่วยผู้สูงวัยเดิน มีบานพับสำหรับเป็นเก้าอี้นั่งได้และช่วยล็อคล้ออัตโนมัติ
Quaker Robot สิ่งประดิษฐ์เพื่อเรียนรู้วิศวกรรมจาก สสวท.
Ossiloscope เครื่องมือวัดสัญญาณไฟฟ้า ทดลองวัดความถี่ที่หูได้ยิน ซึ่งผู้สูงวัยมีความสามารถในการฟังคลื่นความถี่สูงๆ ลดลง
ปะการังของจริงจากมหาวิทยาลัยบูรพา
เด็กๆ กับแบบจำลองดาวเสาร์และยานอวกาศแคสสินีที่กำลังโคจรรอบดาวเสาร์
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง (กลาง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม (กลางซ้าย) ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ (กลางขวา) รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)  และ 2 พรีเซนเตอร์งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เก้า-จิรายุ ละอองมณี (ขวา) และ มายด์-ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล (ซ้าย) พร้อมมาสคอตประจำงาน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง (กลาง) และ 2 พรีเซนเตอร์งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เก้า-จิรายุ ละอองมณี (ขวา) และ มายด์-ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล (ซ้าย)
กำลังโหลดความคิดเห็น