สวทช.ผนึกกำลังเอกชนรายใหญ่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานและการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทย ตลอดจนการวิจัยพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ซัมมิท อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ จำกัด ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.60 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 1 อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC2) ทาวเวอร์ C อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบนโยบายของประเทศ ทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนากระบวนการผลิต การลดต้นทุน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศ โดยความร่วมมือกับบริษัท ซัมมิท อาร์แอนดี เซ็นเตอร์ จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย ในโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตชิ้นส่วน เพื่อร่วมกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์
การลงนามครั้งนี้ ดร.ณรงค์กล่าวว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของ สวทช. ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ด้วยการร่วมพัฒนานวัตกรรมชิ้นงานกลุ่มที่มีน้ำหนักเบา กระบวนการขึ้นรูปร้อน และระบบอัตโนมัติในการทดสอบเพื่อจำลองการสั่นสะเทือนชุดท่อไอเสีย ซึ่ง สวทช. มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนากระบวนการผลิต เช่น การออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อขึ้นรูปและการออกแบบแม่พิมพ์สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทพลาสติก ยาง อะลูมิเนียม และโลหะต่างๆ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบและชิ้นส่วนในยานยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรีลิเทียม ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี มอเตอร์ สถานีประจุไฟฟ้า
"การผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานและการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทย ตลอดจนการวิจัยพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น เซลล์เชื้อเพลิง ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor) การรีไซเคิลแบตเตอรี กระบวนการผลิตแบบดิจิทัล ทำให้เกิดประโยชน์และผลสำเร็จของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ และยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยก้าวไกลสู่ระดับโลก" ดร.ณรงค์กล่าว
ด้าน ดร.กฤษดา ประภากร รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวเสริมว่า บริษัท ซัมมิท อาร์แอนด์ ดี เซ็นเตอร์ จำกัด ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างยิ่ง และมีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับ สวทช. อย่างต่อเนื่องหลายโครงการตั้งแต่ปี 2555 - ปัจจุบัน เช่น การประยุกต์ใช้ Design Guideline และ Simulation Technique ในการออกแบบชุดลูกรีดสำหรับกระบวนการรีดขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์ การปรับปรุงการออกแบบโครงสร้างแม่พิมพ์เพื่อแก้ปัญหาการโก่งตัวของโครงสร้างแม่พิมพ์ และ Robot Retrofit ที่ได้รับทุนสนับสนุนและการจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP สวทช.
"การดำเนินโครงการข้างต้นช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนากระบวนการผลิตและลดต้นทุนได้อย่างมาก และการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ระหว่าง สวทช. และบริษัท จะร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ช่วยสร้างองค์ความรู้ และยกระดับศักยภาพการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของคนไทยให้เกิดขึ้นในประเทศต่อไป"
ส่วน นายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ซัมมิท อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตระดับ First Tier โดยมีลักษณะการผลิตแบบ OEM งานหลักของบริษัทคือผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ปั้มขึ้นรูปโลหะและส่งมอบให้กับผู้ประกอบรถยนต์ทุกยี่ห้อที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย
สำหรับความร่วมมืองานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
- โครงการพัฒนาชิ้นงานกลุ่มมีน้ำหนักเบา (Light Weight) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลหะและวัสดุศาสตร์ ทำให้บริษัทมีความก้าวทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าโครงการนี้จะสามารถพัฒนาลดน้ำหนักชิ้นส่วนได้ 20%
- โครงการศึกษากระบวนการขึ้นรูปร้อน (Hot Stamping) ชิ้นส่วนยานยนต์ โดยใช้เหล็กกล้าผสมโบรอน ซึ่งเป็นโครงการร่วมวิจัยระหว่าง บริษัท สวทช. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำหรับโครงการนี้ จะศึกษาเพื่อพัฒนาลดน้ำหนักชิ้นส่วน โดยหากระบวนการผลิตใหม่ๆ
- โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบอัตโนมัติในการทดสอบ เพื่อจำลองการสั่นสะเทือนชุดท่อไอเสีย (Road Load Vibration) โดยบริษัทได้รับความร่วมมือจากโปรแกรม ITAP ของ สวทช. ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ และสนับสนุนทุนวิจัยใน “โครงการพิเศษ ยกระดับผู้ประกอบการสู่ Industry 4.0”
พร้อมกันนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ยังได้เยี่ยมชมและพบกับชิ้นงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น Advanced high-strenght steels (AHSS) แผ่นโลหะสำหรับขึ้นรูปชิ้นที่มีลัก ษณะที่แข็งกว่าโลหะทั่วไปแต่ให้น้ำหนักที่เบากว่า ยานยนต์ที่มีชิ้นส่วนโลหะประเภทนี้เป็นองค์ประกอบ สามารถประหยัดน้ำมันและก่อมลพิษน้อยกว่ารถทั่วไป
Die structure เป็นแม่พิมพ์ที่เอาไว้กดขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาต่อจาก AHSS เนื่องจากเหล็กประเภทนี้ต้องใช้แม่พิมพ์ที่มีลักษณะพิเศษจึงจะสามารถกดเพื่อขึ้นรูปได้ โดย Die structure ใช้ในการขึ้นรูปทุกส่วนของยานยนต์ เช่น ประตู ฝากระโปรงรถ และRoll forming เป็นการพัฒนาจากการใช้ know-how จากต่างประเทศ เพื่อเป็นการลดในส่วนของค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัทต่างประเทศเพื่อรีดขึ้นรูปชิ้นงาน ส่วนใหญ่ชิ้นงานที่ขึ้นรูปด้วย rolling form เป็นชิ้นงานที่มีลักษณะเป็นแท่งเป็นราง เช่นรางประตู
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ อีกหลายชิ้นที่ผ่านการขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีตัวใหม่มาจัดแสดงให้ชม ตลอดจนผลงานวิจัยของ สวทช. ในเรื่อง EV ได้แก่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและแท่นชาร์จ