เมื่อ 4,500 ปี ก่อนโลกมีอารยธรรมอียิปต์ ที่อุบัติในดินแดนแถบลุ่มน้ำ Nile อารยธรรม Mesopotamia ในแถบลุ่มน้ำ Tigris กับ Euphrates อารยธรรมจีน ในแถบลุ่มน้ำเหลือง และอารยธรรมฮารัปปา (Harappa) ในแถบลุ่มน้ำสินธุ (Indus) ของปากีสถาน
ในขณะที่คนทั้งโลกรู้จักอารยธรรม 3 ชื่อแรกเป็นอย่างดี ว่ามี มัมมี่ ปิระมิด อักษรลิ่ม ตำนานกษัตริย์ Gilgamesh กำแพงเมืองจีนและสุสานทหารดินเผา ฯลฯ แต่คนจำนวนมากแทบไม่รู้จักอารยธรรม Harappa เลย คงเป็นเพราะช่วงเวลาการมีอยู่ของอารยธรรมนี้ค่อนข้างสั้น คือ ประมาณ 700 ปีเท่านั้นเอง
อีกทั้งวัตถุที่ประชากรในอารยธรรมนี้ประดิษฐ์ก็มีพบน้อย ภาษาเขียนก็ยังไม่มีใครอ่านออก ดังนั้นการเผยแพร่เรื่องราวให้คนทั่วไปได้รับรู้เกี่ยวกับอารยธรรมนี้จึงมีค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับอารยธรรมอื่นๆ
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในปี 1856 Robert John Branton ผู้เป็นวิศวกรสร้างทางรถไฟชาวอังกฤษกับ Daya Ram Sahni ซึ่งเป็นผู้ช่วยชาวอินเดียได้รับงานสร้างทางรถไฟระหว่างเมือง Lahore กับเมือง Multan ในปากีสถาน
หลังจากที่ขุดพื้นที่ได้ไม่นาน Branton ก็พบว่า พื้นที่ที่จะสร้างทางรถไฟเป็นดินตะกอนที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมเพาะปลูกมากกว่าที่จะสร้างทางรถไฟ อีกทั้งแทบไม่มีก้อนหินขนาดใหญ่ที่จะใช้ทำหมอนรองรับรางรถไฟ
ดังนั้น เขาจึงนำเศษอิฐที่ทำด้วยดินเผาซึ่งมีพบเกลื่อนกลาดมากมายในบริเวณนั้นมาปูตลอดเส้นทางที่ยาวประมาณ 160 กิโลเมตร ถึงปี 1924 นิตยสาร The Illustrated London News ฉบับวันที่ 24 กันยายน ก็ได้รายงานว่า Sir John Marshall ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองสำรวจโบราณคดีของอังกฤษที่กำลังสำรวจหาโบราณสถานในลุ่มน้ำสินธุได้ขุดพบซากเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่หมู่บ้าน Harappa
อีก 20 ปีต่อมา Sir Mortimer Wheeler และ Rahhal Das Baneji แห่งกองสำรวจโบราณคดี Archaeological Survey ก็ได้พบซากเมืองโบราณแห่งที่สองที่เมือง Mohenjo Daro ซึ่งอยู่ห่างจาก Harappa ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 560 กิโลเมตร และมีอายุน้อยกว่า Harappa ประมาณ 1,000 ปี
เมืองทั้งสองนี้เป็นเมืองแฝดของอารยธรรม Harappa และมีขนาดใหญ่เทียบได้กับเมือง Uruk ของอารยธรรม Mesopotamia เมือง Luxor ของอารยธรรม Egypt และเมือง Babylon ของอารยธรรม Mesopotamia ที่เคยรุ่งเรืองในยุคเดียวกัน
การสำรวจเมืองโบราณทั้งสองในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนักโบราณคดีชาวอินเดียและปากีสถานทำให้ได้พบหมู่บ้านขนาดเล็กในอาณาจักรนี้อีกกว่า 1,000 แห่ง จึงครอบคลุมบริเวณที่มีอาณาเขตตั้งแต่ปากแม่น้ำ Narmada ในอินเดียตะวันตก ไปทางเหนือข้ามแคว้น Gujarat และ Kutch จนถึงแคว้น Sind ส่วนทางตะวันตก เริ่มตั้งแต่แคว้น Punjab จนถึงเมือง Rajasthan คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 800,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนประชากรทั้งประเทศมีประมาณ 1 ล้านคน ทำให้หมู่บ้านขนาดเล็กเหล่านี้มีพื้นที่หมู่บ้านละประมาณ 10-30 ไร่
หมู่บ้านส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ และในหุบเขาของแม่น้ำสินธุ นักประวัติศาสตร์ยังได้พบว่า ชนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากในลุ่มแม่น้ำสินธุได้เดินทางมาถึงดินแดนนี้เมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งถึงเมื่อ 2,700 ก่อนคริสตกาล ผู้คนจึงได้มารวมตัวกันสร้างเมืองใหญ่ขึ้นสองเมือง ซึ่งต่างก็มีผังเมืองแบบเดียวกัน
จุดเด่นของเมือง Harappa คือ มีป้อมปราการบนเนินดิน และที่เชิงปราการมีโรงช่าง และลานปูอิฐสำหรับเป็นพื้นที่สีข้าว อาณาบริเวณทั้งหมดมีความกว้าง 198 เมตร และยาว 596 เมตร ส่วนป้อมปราการที่ Mohenjo Daro นั้นมีสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า สถานอาบน้ำขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่กว้าง 7 เมตร ยาว 12 เมตร และลึก 2.47 เมตร ซึ่งอาจใช้ในพิธีสรงน้ำชำระบาป อันเป็นต้นแบบของพิธีอาบน้ำตามคตินิยมของศาสนาพราหมณ์ในเวลาต่อมา
แต่จุดที่น่าสนใจกว่าของเมือง Mohenjo Daro คือ การมีถนนใหญ่ 12 สายที่กว้างตั้งแต่ 3-9 เมตร โดยแนวถนนถูกตัดตรง พื้นที่จึงถูกแบ่งเป็นตาราง บ้านสร้างด้วยอิฐและตั้งอยู่เรียงรายตามซอยบ้าน ทุกหลังมีพื้นที่กว้างพอประมาณ อีกทั้งมีบ่อน้ำ ที่ระบายน้ำ และมีห้องน้ำที่เป็นที่นั่ง (ส้วม) ผนังบ้านด้านที่ติดถนนไม่มีหน้าต่างเพื่อป้องกันเสียงรบกวน จากถนนจึงให้ความเป็นส่วนตัว ทางเข้าบ้านมีทางเดียว และในบ้านมีบันไดขึ้นชั้นบน ผนังบ้านไม่มีเครื่องประดับหรือภาพวาดใดๆ ข้อที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ เมืองไม่มีวัด หรือศาสนสถานขนาดใหญ่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปกครองเมืองไม่จำเป็นต้องมีฟาโรห์ พระนักบวช หรือกษัตริย์ให้ประทับในวัง แต่ก็มีรูปปั้น ตุ๊กตาเทพเจ้า การไม่พบผลงานศิลปะมาก แสดงว่า สังคมนี้ไม่มีผู้อุปถัมป์ศิลปินให้สร้างงานศิลปะ ส่วนผู้คนในเมืองมีประกอบอาชีพหลากหลาย เช่น ชาวนา ชาวประมง คนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นชนชั้นล่างของสังคม ส่วนบางคนเป็นช่างฝีมือ ช่างไม้ ช่างโลหะ ช่างปั้น ช่างแกะอัญมณี ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีฐานะทางสังคมสูงขึ้น
เครื่องใช้ในบ้านทำจากดินเหนียวและไม้แกะสลัก แต่ผู้คนเหล่านี้ไม่รู้จักใช้เหล็ก ในด้านธุรกิจมีพ่อค้าที่เดินทางไปค้าขายต่างเมืองไกล โดยนำลูกปัด งาช้าง ทองคำ โกเมน หินโมกไปขาย แล้วซื้อผ้าและน้ำมันหอมกลับมา การขนส่งสินค้านิยมใช้วัวเทียมเกวียนเพื่อเดินทางไกลถึงเมือง Ur ใน Mesopotamia เป็นต้น
นักโบราณคดียังได้ขุดพบตราประทับจำนวนมากซึ่งทำจากหินสบู่และมีลวดลายบนตราที่ถูกแกะเป็นรูปสัตว์พร้อมสัญลักษณ์ต่างๆ สำหรับใช้ประจำตัวหรือประทับลงบนหีบห่อสัมภาระที่บรรทุกไปขาย เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ภาพที่แกะสลักบนตรามีลวดลายแปลกๆ ซึ่งแสดงให้เห็นความชำนาญด้านศิลปะของผู้แกะ
แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนรู้สึกประหลาดใจมากที่สุด คือ อารยธรรมนี้ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงว่า ผู้คนชอบทำสงคราม เพราะไม่พบอาวุธยุทโธปกรณ์ในพื้นที่เลย
ในปี 1980 Mohenjo Daro ได้รับการยกย่องเป็นเมืองมรดกโลกที่มีชื่อเสียงในฐานะที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีการวางผังเมืองเมื่อ 4,000 ปีก่อน มีระบบการระบายน้ำที่ดีเทียบเท่ากับระบบการระบายน้ำในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นอารยชนที่รู้จักสร้างห้องน้ำเป็นครั้งแรกของโลก รวมถึงรู้จักประดิษฐ์ลวดลายอักษรที่ไม่มีใครอ่านออก หรือถอดความได้
รอยจารึกบนตราประทับของอารยธรรม Harappa ที่นักโบราณคดีขุดพบ แสดงภาพของคน สัญลักษณ์ต่างๆ และสัตว์ รวมถึง unicorn (ซึ่งเป็นม้าที่มีเขา) เมื่อครั้งที่ Mortimer Wheeler ได้เห็นตราประทับเป็นครั้งแรก และต้องการอ่านรอยจารึกมาก จึงได้ตั้งเงินรางวัลให้คนที่สามารถอ่านรอยจารึกออก แต่ไม่มีใครอ่านได้ แม้จะมีความร่วมมือกันระหว่างนักโบราณคดี นักภาษาศาสตร์ และนักมานุษยวิทยาดิจิตัล (digital humanist) สักปานใด ก็ไม่ได้ผล
ในปี 1799 ที่มีการขุดพบหิน Rosetta Stone ในอียิปต์นั้น การอ่านอักษรภาพ hieroglyph ของภาษาอียิปต์ออกโดย Thomas Young และ J.F. Champollion ทำให้เกิดวิทยาการด้านอียิปต์วิทยา เมื่อถึงทศวรรษของปี 1820 การอ่านอักษรพราหมณ์ของอินเดีย อักษรลิ่ม (cuneiform) ของชาว Sumerian ใน Mesopotamia อักษร Linear B ของ Greece อักษรภาพ Maya ของอารยธรรม Maya ก็ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณสามารถอ่านได้หมด
กระนั้นก็ยังมีอีกหลายรอยจารึกที่ยังไม่มีใครอ่านออก เช่น อักษร Linear A, ภาษา Etruscan ของชนดั้งเดิมในอิตาลี ภาษา Rongorongo ของชาวเกาะ Easter รวมถึงสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนจาน Phaistos ที่พบบนเกาะ Creti มาคราวนี้ก็มีลวดลายจารึกของอารยธรรมฮารัปปาที่ยังไม่มีใครอ่านออกเช่นกัน
ในปี 1932 Flinders Petrie ซึ่งเป็นนักอียิปต์วิทยาที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งยุคได้เคยเสนอความเห็นว่า อักษรอารยธรรมฮารัปปามีความคล้ายคลึงกับอักษรภาพ hieroglyph ของอียิปต์ แต่ไม่มีใครยอมรับความคิดนี้ ถึงปี 1987 James Kinnier Wilson แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษได้เปรียบเทียบสัญลักษณ์ในภาษา Indus กับสัญลักษณ์ที่ใกล้เคียงกันในอักษรลิ่ม แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อ่านภาษาลึกลับนี้ออก
ถึงทศวรรษของปี 1990 นักภาษาโบราณชาวอินเดียคนหนึ่งอ้างว่า สัญลักษณ์ที่ใช้ในภาษา Indus คือ ภาษาสันสกฤตยุคแรกๆ แต่วงการวิชาการก็ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าการให้ข้อเสนอเช่นนี้เป็นข้อเสนอทางการเมืองที่พยายามอ้างว่า ภาษาสันสกฤตได้เกิดมาเป็นเวลานานแล้ว จากภาษา Indus
จึงเป็นว่า โลกยังไม่มีข้อสรุปสุดท้ายว่า สัญลักษณ์และลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏบนตราประทับที่ขุดพบนั้นมีความหมายว่าอะไร
ในกรณีภาษา Linear B ซึ่งเป็นต้นแบบของภาษากรีกโบราณ และอักษรภาพ Maya ที่เป็นต้นกำเนิดของภาษา Maya ให้ผู้คนพูดกันจนทุกวันนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้ใครๆ ก็อ่านภาษา Indus ไม่ออก คือ ตำนานและประวัติศาสตร์ของอารยธรรมนี้มิได้กล่าวถึงกษัตริย์หรือจักรพรรดิของอารยธรรมเลย ไม่เหมือนกับการสรรเสริญฟาโรห์ Rameses หรือ Ptolemy ของอียิปต์ที่คนส่วนใหญ่รู้จักจากการอ่านประวัติศาสตร์กรีก และอียิปต์ และประการสุดท้ายที่ทำให้ภาษา Indus ไม่มีใครอ่านออก คือ การไม่มีการแปลคู่ขนานเหมือนที่ปรากฏใน Rosetta Stone ซึ่งมี 2 ภาษา คือ ภาษาอียิปต์และภาษากรีก แต่นักประวัติศาสตร์ก็คาดหวังว่า ในดินแดน Mesopotamia อาจมีคนที่ได้แปลภาษา Harappa เป็นภาษา Assyrian บ้าง เพราะผู้คนในดินแดนทั้งสองนี้มีการค้าขายติดต่อกัน ซึ่งถ้ามีก็จะช่วยได้มาก เหมือนดังที่มีการแปลภาษา Maya ได้ในปี 1876 โดยใช้ต้นฉบับภาษาสเปนที่ได้บันทึกการสนทนาระหว่างนักบวชสเปนกับกษัตริย์แห่งอาณาจักร Maya
จะอย่างไรก็ตามในช่วงปี 1987-2010 องค์การ UNESCO ได้จัดพิมพ์หนังสือ 3 เล่มแสดงภาพของลวดลายจารึกภาษา Indus ให้คนที่สนใจเห็นโครงสร้างและสัญลักษณ์ต่างๆ ของภาษาและพยายามอ่าน ซึ่งก็ประจักษ์ว่ายาก เพราะไม่รู้ว่าสัญลักษณ์แต่ละตัวเป็นตัวอักษรหรือพยางค์กันแน่
จะอย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนใหญ่คือ นี่คล้ายภาษา Dravidian ของชาวอินเดียในยุคแรกๆ และไม่มีใครรู้ว่า ภาษานี้มีใช้ในการพูดหรือไม่ เพราะสัญลักษณ์ที่ใช้นั้นสั้นและน้อยเกินไป
การขุดหาตราประทับที่มีสัญลักษณ์เพิ่มเติมจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อจะได้อักษรในภาษาอย่างสมบูรณ์ กรณีภาษา Maya นั้น ต้องใช้เวลานานกว่า 100 ปีจึงจะมีคนอ่านออก ทั้งๆ ที่ภาษา Maya ง่ายกว่า ดังนั้น ทุกคนจึงคิดว่ากว่าคนเราจะอ่านภาษา Indus ออก คงต้องใช้เวลาอีกนาน
ในส่วนของขั้นตอนการล่มสลายของอารยธรรม Haruppa นั้น Yama Dixir ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ได้ขุดพบเปลือกหอยใกล้ทะเลสาบ Kotia Dahar ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระดับน้ำในทะเลสาบตั้งแต่ 4500 ถึง 3800 ปี ก่อนคริสตกาลลึกมาก จนกระทั่งถึงเมื่อ 2,200 ปีก่อนคริสตกาลระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นมาก นั่นแสดงว่า ฝนตกน้อยลง
คงเป็นเพราะชาว Harappa ต้องการมรสุมในการทำเกษตรกรรม ดังนั้น เวลาฝนไม่ตก ชีวิตของคนเหล่านี้จึงถูกกระทบกระเทือน และนี่ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาณาจักร Harappa ล่มสลาย เหมือนดังที่อาณาจักรของราชวงศ์ Tang ในจีน และอารยธรรม Maya ต้องล่มสลายในปี 900 แต่สาเหตุการล่มสลายอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น แม่น้ำสินธุเปลี่ยนเส้นทางไหลทำให้เกษตรกรเพาะปลูกไม่ได้ หรือโรคร้ายได้ระบาด จนทำให้ชาวเมืองล้มตาย หรือเพราะป่าไม้ถูกตัดโค่นไปมาก เพื่อเอาไม้ทำฝืนไปเผาอิฐสร้างเมือง จนในที่สุด เมืองถูกน้ำท่วมบ่อย หรือเพราะเมืองถูกกองทัพนักรบชาวอารยันบุกรุก สังหาร เพราะได้มีการพบโครงกระดูก และซากศพคนตามบ่อน้ำที่ถูกดาบแทงตาย
เมื่อปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบยังมีอีกมากเช่นนี้ การอนุรักษ์เมืองต่างๆ ในอารยธรรมนี่จึงเป็นความจำเป็น เพราะถ้าไม่ทำหรือปล่อยปละละเลย “คนป่วยอายุ 4,500 ปี” คนนี้ก็จะจากไปอย่างไม่มีใครรู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย
อ่านเพิ่มเติมจาก The Archaeology and Epigraphy of Indus Writing โดย B.K. Wells จัดพิมพ์โดย Archaeopress ในปี 2015
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์