xs
xsm
sm
md
lg

Guglielmo Marconi: นักเทคโนโลยีคนสำคัญระดับ Steve Jobs

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


หลังจากที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย Bologna ในประเทศอิตาลีไม่ได้ Guglielmo Marconi ก็ได้เข้าเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัย Technical Institute ในเมือง Livorno แทน เพราะรู้สึกสนใจเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ Heinrich Hertz พบในปี 1894 มาก จึงได้พยายามศึกษาปรากฏการณ์นี้ด้วยตนเอง โดยฝึกด้านทดลองที่คฤหาสน์ของบิดาในหมู่บ้าน Pintecchio นอกเมือง Bologna โดยใช้อุปกรณ์ที่พอจะหามาได้ เช่น ขดลวดเหนี่ยวนำและเครื่องทำ spark ไฟฟ้า ฯลฯ เพราะเชื่อว่า ในอนาคตถ้ามีฐานะร่ำรวยจากสิ่งประดิษฐ์ ตนก็จะเป็นที่หมายปองของสตรีทั่วไป

ลุถึงเดือนกันยายนปี 1895 Marconi ก็ประสบความสำเร็จในการส่งสัญญาณที่เป็นข้อความสั้นๆ ถึงน้องชายที่อยู่อีกทางฟากหนึ่งของเมืองได้ เมื่อน้องชายได้รับข้อความ เขาก็รู้ทันทีว่า พี่ชายได้ประสบความสำเร็จที่สำคัญและยิ่งใหญ่แล้ว

หลังจากนั้น Marconi ได้พยายามพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถส่งข้อความได้ระยะทางไกลยิ่งขึ้น และพบว่า ถ้าเขาวางสายอากาศในแนวดิ่ง สัญญาณจะสามารถไปได้ไกลหลายกิโลเมตร และเมื่อได้ติดตั้งจานสะท้อนคลื่นที่เสาส่งเพื่อโฟกัสคลื่น เขาก็ประจักษ์ว่า สัญญาณก็ยิ่งเดินทางไปได้ไกลขึ้นอีก

Marconi รู้สึกมั่นใจมากว่า สิ่งที่เขาประดิษฐ์นี้มีความสำคัญ แต่ในอิตาลีแทบไม่มีใครให้ความสนใจ ดังนั้นญาติคนหนึ่งทางฝ่ายมารดา จึงแนะ Marconi ให้นำอุปกรณ์ไปเผยแพร่ในอังกฤษ เพราะคนอังกฤษมักสนใจและชื่นชมความคิดกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่าคนอิตาลี

ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1896 Marconi จึงเดินทางไปลอนดอน เพื่อพบปะกับ William Preece ซึ่งเป็นหัวหน้าวิศวกรประจำกรมไปรษณีย์ของอังกฤษ และ Preece ก็ได้ให้การสนับสนุน Marconi เป็นอย่างดี เช่นช่วยจัดแสดงสาธิตการทำงานของอุปกรณ์วิทยุที่ Marconi ออกแบบ โดยมีว่าวและบอลลูนช่วยเพื่อให้สัญญาณสามารถไปได้ไกล รวมถึงช่วยให้ Marconi ได้จดสิทธิบัตรการออกแบบอุปกรณ์วิทยุด้วย

ภายในเวลาไม่นาน Marconi ก็ได้พัฒนาเครื่องรับ-ส่งวิทยุให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นมาก คือสามารถส่งสัญญาณไปได้ไกลถึง 6 กิโลเมตร ข่าวความสำเร็จนี้ทำให้ชาวอังกฤษรู้สึกตื่นเต้นมาก เมื่อถึงตอนนี้ชาวอิตาเลียนก็เริ่มหันมาสนใจในผลงานของ Marconi บ้าง จึงได้เชิญไปจัดตั้งสถานีวิทยุที่ La Spezia เพื่อส่งสัญญาณติดต่อกับเรือเดินทะเลที่อยู่ไกลออกไป 20 กิโลเมตร

ในปี 1898 Marconi ได้จัดตั้งสถานีวิทยุขึ้นที่ South Foreland ในอังกฤษ เพื่อสื่อสารติดต่อกับสถานี Wimerleux ในฝรั่งเศสที่อยู่ห่างกัน 45 กิโลเมตร สัญญาณวิทยุสามารถเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษได้อย่างราบรื่น

ความสำเร็จนี้ได้ทำให้ Jameson Davis ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของ Marconi มอบเงินสนับสนุนให้จัดตั้งบริษัท Marconi Wireless Telegraph Company ขึ้นในปี 1900 เพื่อทำธุรกิจวิทยุ เพราะคิดว่าเทคโนโลยีนี้มีคุณค่ามาก เมื่อผู้คนสามารถสื่อสารกันได้ โดยไม่ต้องใช้ลวดเป็นตัวกลางในการนำสัญญาณ และนี่ก็คือที่มาของคำว่า wireless ซึ่งในระยะแรกๆ แปลว่าวิทยุ

แต่ความสามารถติดต่อกันได้เฉพาะสถานที่ๆ อยู่ใกล้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนพากันคิดไปว่า นี่เป็นข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุ เพราะความโค้งของโลกจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้คลื่นวิทยุ ไม่สามารถเดินทางจากที่ส่งไปยังที่รับได้โดยตรง และระยะทางไกลที่สุดในการติดต่อจะมีค่าประมาณ 150 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

ทว่าในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.1901 Marconi ก็ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า ความคิดของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ทุกคนผิด เพราะสัญญาณวิทยุสามารถเดินทางข้ามมหาสมุทร Atlantic จากเมือง Poldhu ใน Cornwall ของอังกฤษถึงเมือง St.Johns ใน Newfoundland ของแคนาดาได้ความสำเร็จนี้จึงเป็นการเปิดยุคการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ที่นับว่ายิ่งใหญ่มาก เพราะ Marconi ได้ทำให้โลกทั้งโลกมีขนาด “เล็ก” ลงด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ คือ วิทยุ

ถึงปี 1902 ขณะเดินทางอยู่บนเรือเดินสมุทรชื่อ Philadelphia Marconi ก็ได้พบว่า เขาสามารถส่งสัญญาณวิทยุไปถึงผู้รับที่อยู่ไกล 1,000 กิโลเมตรได้ ในเวลากลางวัน แต่เมื่อถึงเวลากลางคืน ระยะทางที่ติดต่อได้จะเพิ่มมากถึง 3 เท่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ในบรรยากาศของโลกมีชั้น ionosphere ที่ประกอบด้วยไอออน (ion) ซึ่งสามารถสะท้อนคลื่นวิทยุได้ และชั้น ionosphere นี้ลอยขึ้น-ลงได้ โดยจะลอยตัวขึ้นในเวลากลางคืน และจมลงในเวลากลางวัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าเหตุใดคลื่นวิทยุจึงสามารถเดินทางได้ไกล เพราะใช้ “เกราะ” สะท้อนคลื่นได้นั่นเอง

ถึงปี 1918 Marconi สามารถส่งคลื่นวิทยุจากอังกฤษถึงออสเตรเลียได้ และด้วยความสำเร็จนี้ Marconi จึงได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1909 ร่วมกับ Karl Braun ผู้มีบทบาทในการร่วมพัฒนาวิทยุร่วมกับ Marconi

ในปี 1924 รัฐบาลอังกฤษได้ว่าจ้างให้ Marconi ติดตั้งเครือข่ายเพื่อให้อังกฤษสามารถติดต่อทางวิทยุกับประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพได้ด้วยความเร็วแสง วิทยุของ Marconi จึงทำให้การโทรคมนาคมสื่อสารระหว่างคนในชาติต่างๆ ทั่วโลกเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ในระยะแรก วิทยุเกิดจากการต้องการจะส่งเพียงแค่ข้อความสั้นๆ แต่ในเวลาต่อมา ชาวโลกมีสถานีส่งวิทยุเพื่อความบันเทิง วิทยุจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตของสังคมไปอย่างถาวร

ในปี 1910 แพทย์ชาวอเมริกันชื่อ A. Crippen ถูกตำรวจจับขณะเดินทางข้ามมหาสมุทร Atlantic หลังจากที่ได้ทำภริยาฆาต เพราะกัปตันเรือ Montrose สงสัยในพฤติกรรมทีผิดปกติของเขาจึงส่งวิทยุไปถึงหัวหน้าตำรวจ ให้เดินทางด้วยเรือ Laurentic ไป ทันเรือ Montrose ที่ปากแม่น้ำ St.Lawrence และสามารถจับฆาตกรได้อย่างละมุนละม่อม ข่าวความสำเร็จนี้ได้แพร่สะพัดไปทั่วโลก และมีผลทำให้ธุรกิจวิทยุของ Marconi รุ่งเรือง เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เรือเดินสมุทรทุกลำได้ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุ ทั้งนี้รวมถึงเรือ Titanic ที่ได้จมลงในมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันที่ 14 เมษายน ปี 1912 หลังจากที่ชนก้อนน้ำแข็ง เพราะกัปตันเรือได้ส่งสัญญาณวิทยุไปขอความช่วยเหลือทั่วน่านน้ำ และเรือ Carpathia สามารถรับสัญญาณวิทยุได้ จึงรีบรุดมาช่วยชีวิตคนที่กำลังจะจมน้ำตายไว้ได้ 705 คน จากจำนวนทั้งหมด 2,227 คน และ Marconi ก็ได้ใช้ข่าวนี้ในการประชาสัมพันธ์ความสำคัญของวิทยุอีก แต่สังคมกลับตำหนิเขาว่า กำลังทำมาหาทรัพย์บนความหายนะและโศกนาฏกรรมของผู้อื่น

Marconi ถือกำเนิดในเมือง Bologna เมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1874 ตั้งแต่วัยเด็กเขาเป็นคนขี้อาย มีนิสัยเก็บตัว และโปรดปรานการอ่านหนังสือในห้องสมุด ชีวิตส่วนตัวของ Marconi ไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะผ่านการสมรสถึง 2 ครั้ง เป็นคนฟุ่มเฟือย ทำให้มีหนี้สินมากมาย และจากโลกไปในวัย 63 ปี ด้วยโรคหัวใจวาย ที่โรม ในพิธีศพของ Marconi นายกรัฐมนตรีของอิตาลีคือจอมเผด็จการ Benito Mussolini ได้จัดวงดนตรีทหารมาบรรเลง และ Adolf Hitler ได้ส่งพวกหรีดขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งทำเป็นรูปสวัสดิกะมาประดับเป็นเกียรติ

พิธีศพได้เริ่มเมื่อถึงเวลา 6 โมงเย็นตรง ของวันที่ 21 กรกฎาคม โดยสถานีวิทยุทุกแห่งในอิตาลี อังกฤษ สหรัฐฯ แคนาดา จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และอีกหลายประเทศในยุโรปได้หยุดทำงานเป็นเวลา 2 นาที เพื่อไว้อาลัยแก่บุรุษผู้ไม่เคยมีความมั่นใจในความสำเร็จของตนเองว่า สิ่งที่เขาประดิษฐ์สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะเมื่อได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัย St. Andrews ในสก็อตแลนด์ Marconi ถึงกับอุทานออกมาว่า ผมได้ตำแหน่งนี้คงเพราะผมได้ประกอบคุณความดีให้แก่โลก หรือเพราะผมได้สร้างความรำคาญชนิดใหม่ให้ชาวบ้านกันแน่

Marconi เป็นคนไม่มีเพื่อนแท้ จะมีก็แต่คนรู้จักและผู้ร่วมงาน สตรีหลายคนได้เข้ามาหาเขาเพราะเขาเป็นคนที่มีชื่อเสียง และเขาไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ หลังจากที่ได้เป็นไอดอลในอเมริกาและแคนาดาแล้ว Marconi ได้นิยมการปกครองแบบฟาสซิส รวมถึงการเข้าเป็นทหารอิตาลีที่ไปยึดครองประเทศ Ethiopia ในปี 1935 ด้วย

ในบั้นปลายของชีวิตเขามักใช้เวลาบนเรือยอร์ชส่วนตัวชื่อ Elettra ซึ่งได้รับการดัดแปลงให้เป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้วย

ในด้านความสามารถเชิงวิทยาศาสตร์ของ Marconi นั้น Charles Franklin ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานที่ใกล้ชิดของ Marconi คิดว่า ความสามารถที่แท้จริงของ Marconi คือ การออกแบบสายอากาศ (antenna) แต่เขาไม่เข้าใจความรู้วิทยาศาสตร์ของสิ่งที่ตนประดิษฐ์ ความสำเร็จทั้งหลายที่ Marconi ได้รับ เพราะเขามีสัญชาติญาณดี และกล้าลอง ทั้งๆ ที่ “คนรู้ดี” ทั้งหลายคิดว่า การส่งวิทยุจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งบนโลกเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะความโค้งของโลกจะเป็นอุปสรรค แต่ Marconi ก็ยังยืนยันจะลอง และความสำเร็จก็บังเกิด เพราะ Marconi มี sixth sense นั่นเอง

แม้ Marconi จะเป็นอมตะบุคคลคนหนึ่งของโลก แต่นักประวัติวิทยาศาสตร์หลายคนก็ยังคลางแคลงใจในบทบาทการประดิษฐ์วิทยุของ Marconi ว่า เขาประดิษฐ์เทคโนโลยีนี้ด้วยตนเอง หรือขโมยความคิดของคนอื่นมา

ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Proceedings of the IEEE (Institute for Electrical Engineering) ฉบับเดือนมกราคม ปี 1998 ซึ่งเป็นฉบับพิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบหนึ่งศตวรรษแห่งการประดิษฐ์ diode และ 50 ปีของการประดิษฐ์ transistor นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียชื่อ Probir Bondyopadhyay อ้างว่า Jagadish Chandra Bose ซึ่งเป็นวิศวกรโทรคมนาคมในสังกัดของ Johnson Space Center ที่เมือง Houston ได้เขียนบทความเรื่องวิธีสร้างเครื่องรับ-ส่งวิทยุมาตั้งแต่ปี 1899 และได้รายงานเรื่องนี้ในที่ประชุมของสมาคม Royal Society จากนั้น Marconi อาจใช้แนวคิดนี้ มาดัดแปลงเป็นเครื่องส่ง-รับวิทยุของเขาเองโดยไม่ได้ให้เครดิตแก่ Bose และการที่ Marconi ไม่อ้างถึงงานของ Bose ก็มีส่วนทำให้ Bose มิได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ร่วมกับ Marconi และ Braun

ในปี 1984 Bondyopadhyay ได้รับการทาบทามจากบุตรสาวของ Marconi คือ G. Marconi Braga ให้ช่วยปกป้องชื่อเสียงบิดาของเธอ เมื่อหนังสือพิมพ์ The New York Times ลงข่าวว่า Marconi ขโมยความคิดคนอื่น ถ้าข้อกล่าวหาเป็นจริงชื่อเสียงก็จะมีมลทิน

การทำงานสืบสวนเรื่องนี้ทำให้ Bondyopadhyay แทนที่จะช่วย กลับทำร้าย Marconi เพราะเขาพบว่า ณ เวลานั้น ไม่มีนักเทคโนโลยีคนใดรู้จักใช้ amplifier (เครื่องขยายสัญญาณ) แม้ Marconi กับ Bose จะสามารถสื่อสารกันได้ขณะอยู่ห่างกันเป็นกิโลเมตร แต่ถ้าจะให้ได้ไกลยิ่งขึ้น เครื่องรับต้องมี amplifier แล้วใครเป็นคนคิดสร้างอุปกรณ์นี้

บรรณาธิการของวารสาร L’ Electricista ของอิตาลีอ้างว่า P.Castelli คือผู้ประดิษฐ์ แต่ Marconi อ้างว่า เพื่อนของเขาชื่อ Luigi Solari ประดิษฐ์ ในจดหมายที่เขียนเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1902 ถึงบรรณาธิการของ The Times of London Solari อ้างว่าเขาได้ความคิดมาจากการอ่านวารสารฉบับหนึ่งที่เขาจำไม่ได้แล้ว และตัว Solari มิใช่คนประดิษฐ์ amplifier แน่

ด้าน Bose ถือกำเนิดที่เมือง Calcutta ในอินเดีย เมื่อปี 1858 หลังจากที่สำเร็จการศึกษาแพทย์ศาสตร์ที่อังกฤษ ได้เบนความสนใจไปศึกษาฟิสิกส์ เพราะได้รับการสอนโดย Lord Rayleigh (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1904) แล้วเดินทางกลับอินเดียเพื่อเป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Calcutta ถึงปี 1894 ก็ได้เริ่มทดลองเรื่องเทคโนโลยีการส่งคลื่นวิทยุ และพบว่า แร่ galena สามารถรับคลื่นวิทยุได้ดี จึงตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Proceedings of the Royal Society ภายใต้ชื่อว่า On the Cohering Action of Different Metals ผลงานนี้อ้างถึงการใช้ galena ทำ amplifier เพื่อรับคลื่นวิทยุ (coherer)

Bondyopadhyay เองคิดว่า Marconi คงได้อ่านบทความนี้ และไม่ได้อ้างถึงการทดลองของ Bose ในการสร้างเครื่องรับ-ส่งวิทยุของเขา

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะปราชญ์ต่างๆ ในอังกฤษในสมัยนั้นไม่มีใครสนใจงานของ Bose เลย (ทั้งๆ ที่วารสารที่ Bose ตีพิมพ์ผลงานเป็นวารสารชั้นนำของโลก) จึงไม่ได้เชื่อมโยงความคิดของ Bose กับงานของ Marconi

เมื่อถึงวันนี้ ชาวอินเดียหลายคนก็ยังยืนยันว่า Bose กับ Marconi คือผู้ประดิษฐ์เทคโนโลยีวิทยุ แต่ Marconi มีชื่อโด่งดังกว่า เพราะเขาคือคนที่นำวิทยุไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์

คำถามก็มีตามมาว่า แล้วเหตุใด Bose จึงไม่ได้ร้อง (เรียน) ขอให้ทบทวนการตัดสินรางวัลโนเบลเหมือนนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ในสมัยนี้ หลายคนให้คำตอบว่า คงเพราะ Bose ต้องการสร้างเพียงความรู้ และไม่เคยคิดเรื่องใช้ความคิดของเขาในเชิงพาณิชย์ เขาจึงปล่อยเรื่องนี้เลยตามเลย

ณ วันนี้ สิ่งประดิษฐ์ของ Marconi มีความยิ่งใหญ่ระดับเดียวกับอุปกรณ์ดาราศาสตร์ astrolabe ที่ Muhammad Muqim al – Yazdi สร้างถวายสมเด็จพระเจ้าชาห์ Abbas ที่ 2 แห่งอาณาจักร Persia ในปี 1648 และสำคัญเท่าการพบรา penicillium โดย Howard Florey ในจานเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียจนต้องนำจานไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ Museum of the History of Science ที่ Oxford ร่วมกับกระดานดำที่มีการเขียนคำบรรยายด้วยชอล์กโดย Albert Einstein

Marconi จึงนับเป็นนักเทคโนโลยีคนสำคัญระดับ Steve Jobs แต่ไม่ปราดเปรื่องเท่า Einstein

อ่านเพิ่มเติมจาก Marconi: The man who networked the World โดย Marc Raboy จัดพิมพ์โดย Oxford University Press ปี 2016 และ Signor Marconi’s Magic Box โดย Gavin Weightman จัดพิมพ์โดย Harper Collins ปี 2001








เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น