นักดาราศาสตร์ 2 ทีมได้พบองค์ประกอบเคมีที่สำคัญสำหรับโครงสร้างสิ่งมีชีวิต หมุนวนรอบดาวฤกษ์ที่เปล่งแสงจางๆ บนท้องฟ้า ดูคล้ายดวงอาทิตย์ของเราในระยะก่อนกำเนิดดาวเคราะห์เป็นบริวาร
องค์ประกอบเคมีที่สำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตที่ทีมนักดาราศาสตร์ค้นพบคือโมเลกุลของเมทิลไอโซไซนาเนต (methyl isocyanate) ซึ่ง วิคเตอร์ รีวิลลา (Victor Rivilla) นักวิทยาศาสตร์จากหอดูดาวแอสโตรฟิสิกส์ (Astrophysics Observatory) ในเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี กล่าวถึงโมเลกุลดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการสร้างโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต
รีวิลลาเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยการค้นพบดังกล่าว และตีพิมพ์ลงในประกาศรายเดือนของราชบัณฑิตดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) และการค้นพบดังกล่าวยังอาจช่วยไขปริศนาได้ว่า สารเคมีนั้นเป็นเชื้อให้สิ่งมีชีวิตบนโลกเมื่อหลายพันล้านปีก่อนได้อย่างไร
นีลส์ ไลเตอริงก์ (Niels Ligterink) นักวิจัยจากหอดูดาวไลเดน (Leiden Observatory) ในเนเธอร์แลนด์ และเป็นหัวหน้าทีมในการเขียนรายงานครั้งนี้กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดดาวฤกษ์ดวงนี้ได้เผยให้เห็นว่า ธาตุสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้นนั้นคล้ายกับระยะเริ่มต้นของกำเนิดระบบสุริยะ
องค์ประกอบอินทรีย์ที่นักวิทยาศาสตร์สังเกตพบนี้ เป็นฝุ่นและก๊าซที่ปกคลุมหนาแน่นโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์อายุน้อย 3 ดวงที่อยู่ห่างจากโลก 400 ปีแสง โดยสังเกตเห็นได้ในกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) ซึ่งทีมนักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุอาทาคามาอาร์เรย์ (Atacama array) ในทะเลทรายทางเหนือของชิลีสังเกตพบดาวฤกษ์และองค์ประกอบเคมีดังกล่าว
นักดาราศาสตร์ 2 ทีมที่่ต่างศึกษาโดยไม่เกี่ยวข้องกันนั้น ได้จำแนกสัญญาณเคมีของเมทิลไอโซไซยาเนต จากนั้นใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์และการทดลองทางห้องปฏิบัติการ เพื่อพิสูจน์แหล่งกำเนิดของโมเลกุลเคมีดังกล่าว โดยรีวิลลาบอกเอเอฟพีว่า ด้วยศักยภาพของกล้องโทรทรรศน์ในปัจจุบันได้ค้นพบโมเลกุลเคมีอันซับซ้อนรอบๆ แหล่งกำเนิดดาวฤกษ์และดาวเคราะห์มากขึ้นๆ
นอกจากนี้นักวิยาศาสตร์ยังได้ตรวจพบน้ำตาลในอวกาศ รวมถึงสารประกอบที่เรียกว่า “ไกลคอลอัลดีไฮด์” (glycolaldehyde) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงสร้างดีเอ็นเอด้วย
ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบโมเลกุลเมทิลไอโซไซยาเนตนอกบรรยากาศโลกครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่พบในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากครั้งนี้มาก นั่นคือพบอยู่รอบดาวฤกษ์ใกล้ๆ ที่มีมวลมหาศาลมากกว่าดวงอาทิตย์และมีความซับซ้อนมากกว่า และไม่มีสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิดระบบดาวเคราะห์เหมือนระบบสุริยะของเราได้
สำหรับโลกและดาวเคราะห์อื่นๆ ในระบบสุริยะของเรานั้นก่อกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 4.5 พันล้านปีก่อน ขณะที่ระบบที่้เพิ่งค้นพบนั้นอยู่ในระยะแรกของวิวัฒนาการ ซึ่งโมเลกุลที่พบจะเป็นเหมือนน้ำเลี้ยงให้กแก่ระบบดาวฤกษ์ 3 ดวงที่เรียกว่า IRAS 16293-2422 และดาวฤกษ์ต่างโคจรรอบกันและกัน โดยก๊าซและฝุ่นบางส่วนจะตกใส่ดาวฤกษ์ แล้วส่วนที่เหลือจะก่อตัวขึ้นเป็นดาวเคราะห์
ขณะเดียวกันการค้นพบเมทิลไอโซไซยาเนตและส่วนประกอบเคมีกำเนิดชีวิตก็มีความย้อนแย้ง เพราะสารเคมีเหล่านี้มีความเป็นพิษสูงและอาจทำให้ถึงตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมนุษย์และสัตว์อื่นๆ ซึ่งเมทิลไอโซไซยาเนตนี้เคยทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่อินเดียเมื่อปี 1984 โดยรั่วไหลจากโรงงานผลิตยาปราบศัตรูพืชเมื่อ 2 ธ.ค.ในปีดังกล่าว และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,700 คน แต่เมื่อโมเลกุลนี้รวมตัวเข้ากับโมเลกุลอื่นก็จะเปลี่ยนเป็นองค์ประกอบที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต