80% ของชาว “ยูกันดา” เข้าไม่ถึงพลังงานไฟฟ้าที่มีราคา ประชากรส่วนใหญ่อาศัยพลังงานจากฟืน ถ่าน หรือแก๊ส แต่การมาของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จุดประกายความหวังให้พวกเขา ขณะบางส่วนที่มีพอมีกำลังก็เริ่มซื้อหาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดเล็กมาใช้เอง
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของแอฟริกาตะวันออก ตั้งอยู่ในเขตโซโรติทางภาคตะวันออกของยูกันดา บนพื้นที่กว่า 133,000 ตารางเมตร มีมูลค่ากว่า 680 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ เข้าสู่สายส่งไฟฟ้าของยูกันดา
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่เพิ่งเดินเครื่องเมื่อปลายปี 2016 ซึ่งเอเอฟพีระบุว่า โครงการนี้มีความสำคัญยิ่งต่อยูกันดา ที่กำลังมองหาวิธีผลิตไฟฟ้าใหม่ๆ เพื่อจ่ายแก่ 80% ของประชากรกว่า 40 ล้านคนที่เข้าไม่ถึงไฟฟ้า
ซิเรีย ทิบัลวา วาโก (Ziria Tibalwa Waako) รักษาการผู้อำนวยการการไฟฟ้ายูกันดา บอกว่าเศรษฐกิจของประเทศอิงการเกษตร ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และแหล่งพลังงานสำหรับชาวยูกันดาส่วนใหญ่คือฟืน ขณะที่บางส่วนใช้ถ่านและแก๊ส ในขณะที่พลังงานไฟฟ้านั้นมีราคาหน่วยละประมาณ 5 บาทซึ่งแพงเกินไป
ทั้งนี้ มีความคาดหวังว่าพลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ส่งเข้าระบบสายส่งของประเทศ ซึ่งใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานดีเซลที่เดินเครื่องแยกเป็นอิสระนั้น จะช่วยราคาไฟฟ้าลง
ด้าน คริสโตเฟอร์ ฟลูเรนซ์ (Christophe Fleurence) รองประธานบริษัท อีเรน รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี (Eren Renewable Energy) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 บริษัทเอกชนที่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าจะจ่ายพลังงานแก่ครัวเรือน โรงเรียน และภาคธุรกิจในพื้นที่กว่า 40,000 แห่ง พร้อมบอกด้วยว่าเมืองโซโรตินั้นเป็นบริเวณที่แสงอาทิตย์เจิดจ้ากว่า
บริเวณอื่นๆ ของยูกันดา
อย่างไรก็ตาม ยังมีประชากรของยูกันดาที่เข้าไม่ถึงพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพราะไม่ได้เชื่อมต่อกับสายส่งไฟฟ้าของภาครัฐ ซึ่งประชาชนบางส่วนที่ไม่ต้องการรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ก็ลงทุนซื้อแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดเล็กมาใช้เองภายในบ้านหรือเพื่อการค้าขายในการเก็บรักษาของสด แต่เอเอฟพีระบุว่า มีคนจำนวนไม่มากที่สามารถจัดหามาใช้เองได้
ทั้งนี้ ยูกันดาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าต่ำสุดในแอฟริกา แต่ยูกันดาก็คล้ายกับอีกหลายประเทศของแอฟริการวมถึงประเทศกำลังพัฒนา ที่กำลังเดินหน้าด้านพลังงานทดแทนโดยเริ่มจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นก้าวแรก