xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 4 และ 5 จ่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม เปิดเผยว่า บี.กริม เพาเวอร์ เป็นบริษัทในของกลุ่ม บี.กริม ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 139 ปี โดย บี.กริม เพาเวอร์ ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจด้านพลังงานที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สำหรับในวันนี้การเปิดโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 4 และ 5 กำลังการผลิตรวม 262.2 เมกะวัตต์ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญด้านหนึ่งสำหรับนักประกอบการในการเลือกลงทุนสร้างโรงงานในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมภายในนิคมอุตสาหกรรม เพราะบ่งบอกถึงความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน คือ พลังงานไฟฟ้า และไอน้ำ ซึ่งถือเป็นการช่วยส่งเสริมการลงทุนของประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในด้านธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยมีปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโรงไฟฟ้าให้ได้คุณภาพโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีแก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรม และการได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐมาอย่างยาวนานจากการเป็นผู้ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP มากถึง 17 โรง จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP จำนวน 15 โรงจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นับว่าเป็นตัวชี้วัดที่สร้างความน่าสนใจ ความน่าเชื่อถือ และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมของลูกค้า ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถเติบโตและพัฒนาธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในประเทศไทย

“กลยุทธ์หลักที่เป็นจุดแข็งและสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งทำให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าของ บี.กริม เพาเวอร์ สามารถพัฒนาและเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่อง คือ การมีทีมผู้บริหารและทีมงานที่มีความสามารถมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน ซึ่งได้ร่วมงานกับบริษัทฯ มากว่า 20 ปี การบริหารจัดการที่ดำเนินงานโดยทีมปฏิบัติการและทีมบำรุงรักษาของบริษัทฯ เอง การเลือกใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงและเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล การพัฒนาโครงข่ายระบบการส่งและขายไฟฟ้าและไอน้ำ รวมทั้งการมุ่งเน้นขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการผลิตและจำหน่ายพลังงานสูงสุด” นางปรียนาถกล่าว

นอกจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังมีจุดเด่นที่สร้างความน่าสนใจในการลงทุน ได้แก่ (1) การเป็นหนึ่งในบริษัทของกลุ่ม บี.กริม ซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศไทยมานานกว่า 139 ปี (2) การมีโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี นิคมอุตสาหกรรมเหมราช และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร (3) การรักษาฐานลูกค้า ซึ่งในปัจจุบันมีลูกค้าอุตสาหกรรมมากกว่า 200 ราย ซึ่งบริษัทฯ สามารถให้บริการที่เหมาะสมต่อความต้องการของลูกค้า สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี (4) การมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในอนาคตที่ชัดเจน และมีศักยภาพที่จะเติบโตตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว รวมทั้ง (5) การมีรายได้และกระแสเงินสดที่มั่นคงและต่อเนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ได้แก่ กฟผ. (อายุสัญญา 21-25 ปี) กฟภ. (อายุสัญญา 25 ปี) และลูกค้าอุตสาหกรรม (อายุสัญญา 5-15 ปี)

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ ได้เปิดดำเนินการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วรวมทั้งสิ้น 28 โรง โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,626 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไอน้ำ 350 ตันต่อชั่วโมง แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 12 โรง โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 15 โรง และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 1 โรง

ภายในปี 2564 บริษัทฯ คาดว่าจะมีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินงานจำนวนทั้งสิ้น 43 โครงการ กำลังการผลิตรวม 2,383.3 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2,137.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 114.2 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 102.6 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 16.0 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง 13.0 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำรวม 500.0 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 59,000 ล้านบาท

นางปรียนาถกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังผลิต 5,000 เมกะวัตต์ให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยจะให้ความสำคัญต่อการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ซึ่งตนมั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังอยู่ในระหว่างการรออนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังจากที่ยื่นแบบรายการแสดงข้อมูล (Filing) ไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา คาดว่าหาก ก.ล.ต.อนุมัติจะเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น