ถนนเส้นนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ปูทางพลังงานแห่งอนาคตด้วยแผงโซลาร์เซลล์ และเป็นทางหลวงแห่งแรกของโลกที่สร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อผลิตแสงสว่างให้ถนนสายสั้นๆ ในเมืองเล็กๆ ของฝรั่งเศส
“การใช้พลังงานแสงอาทิตย์รูปแบบใหม่นี้ เป็นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างถนนที่มีใช้อยู่แล้ว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้ที่ดินและสิ่งก่อสร้างใหม่” เซโกลีน รอยัล (Segolene Royal) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและพลังงานของฝรั่งเศสกล่าวระหว่างเปิดถนนเส้นใหม่
ถนนที่ปูด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งเส้นเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นทางหลวงพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรก ซึ่งผลิตพลังงานมากพอที่จะให้แสงสว่างแก่ถนนในเมืองนอร์มังดีของตูรูฟวร์ ฝรั่งเศส ด้วยแผงเซลล์อาทิตย์คิดเป็นพื้นที่ 2,800 ตารางเมตร เคลือบด้วยเรซินอีกที แล้วเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าของชุมชน
รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสยังประกาศแผนแห่งชาติสำหรับโครงการ “วัตต์เวย์” (Wattway) ระยะเวลา 4 ปี เพื่อสร้างถนนสายโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีโครงการเริ่มต้นที่ฝั่งตะวันตกของเมืองบริททานี (Brittany) และทางใต้ของเมืองมาร์แซย์ (Marseille)
เอเอฟพีระบุว่ารถยนต์ที่ใช้งานถนนในเมืองตูรูฟวร์เฉลี่ยวันละ 2,000 คัน ได้ทดสอบความทนทานของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับโครงการสร้างถนนที่รับงานโดยบริษัทโคลัส (Colas) บริษัทวิศวกรรมโยธาของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของ “บริค” (Bouygues) บริษัทก่อสร้างรายใหญ่ของโลก
แนวคิดในการสร้างถนนสายโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นจากการสำรวจการใช้ถนนสายหลักในเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา พบว่าถนนนั้นรองรับรถยนต์ช่วงเวลาละ 20% ทำให้มีพื้นผิวอีกมาหศาลที่จะรองรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยบริษัทโคลัสยังระบุด้วยว่า ในทางทฤษฎีนั้น ฝรั่งเศสสามารถสร้างพลังงานโดยไม่ต้องพึ่งแหล่งพลังงานอื่น เพียงปูแผงเซลล์แสงอาทิตย์ 1 ใน 4 ของถนนทั้งหมดในฝรั่งเศสที่ยาวหลายล้านกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เชื่อมั่นในแนวคิดดังกล่าว กำลังรอดูว่าแผงเซลล์แสงอาทิตย์จะทนทานต่อกาลเวลาและสภาพอากาศหรือไม่ รวมถึงแรงกระแทกจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เส้นทางปั่นจักรยานยาว 70 เมตร ทางตอนเหนือของอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่ปูแผงเซลล์อาทิตย์ก็ได้รับความเสียหายจากฤดูหนาวที่ผ่านมา แต่ทางบริษัทเจ้าของโครงการระบุว่าได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
โครงการวัตต์เวย์ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 5 ล้านยูโร โดยเริ่มในพื้นที่นำร่องรอบฝรั่งเศส ทั้งในพื้นที่ลานจอดรถ หรือหน้าอาคารสาธารณะ รวมถึงบริเวณที่มีพื้นที่เล็กๆ เพียง 50-100 ตารางเมตร โดยเพิ่งเปิดตัวทางหลวงพลังแสงอาทิตย์อย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือน ธ.ค.2016 ที่ผ่านมา
สิ่งที่เป็นข้อด้อยของถนนพลังงานแสงอาทิตย์คือ เมื่อแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทำมุมตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ จะมีประสิทธิภาพมากกว่าวางราบไปกับพื้น ซึ่งโดยทั่วไปจะติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาลาดเอียง
อีกทั้งราคากระแสไฟฟ้ามหาโหดจากระบบใหม่นี้ยังแก้ไม่ตก โดยทุกๆ กิโลวัตต์สูงสุดซึ่งเป็นหน่วยวัดพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากระบบถนนไฟฟ้านี้มีราคาแพงถึง 17 ยูโร ในขณะที่การติดตั้งแผงเซลล์อาทิตย์บนหลังคาใหญ่ๆ มีราคาพลังงานเพียง 1.30 ยูโร ทว่า ทางบริษัทโคลัสระบุว่าจะทำให้ราคาแข่งขันได้ภายในปี 2020 อีกทั้งยังชี้ด้วยว่า ราคาการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างปี 2009-2015 นั้นลดลงมาถึง 60% โดยอ้างข้อมูลจากสมาคมพลังงานหมุนเวียนฝรั่งเศส