xs
xsm
sm
md
lg

พิษโรงงานเหล็กไต้หวัน.. เวียดนามอาจใช้เวลา 10 ปี ฟื้นสภาพแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>คนงานขี่รถจักรยานยนต์ผ่านโรงงานเหล็กฟอร์โมซา ของไต้หวัน ในจ.ห่าติ๋ง ภาคกลางของเวียดนาม. -- Agence France-Presse/Hoang Dinh Nam.</font></b>

รอยเตอร์ - พื้นที่ภาคกลางของเวียดนามคาดว่าจะใช้เวลานับ 10 ปี ที่จะฟื้นตัวกลับคืนดังเดิม หลังเหตุการณ์อุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมที่มีต้นเหตุมาจากกิจการของกลุ่มบริษัทไต้หวัน ที่นำไปสู่ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมครั้งเลวร้ายที่สุดของเวียดนาม รัฐบาลระบุ

บริษัทฟอร์โมซา ห่าติ๋ง สตีล กิจการในเครือของบริษัทฟอร์โมซาพลาสติก ของไต้หวัน ที่ดำเนินกิจการโรงงานเหล็กมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ สร้างความเสียหายต่อแนวชายฝั่งทะเลยาวกว่า 200 กิโลเมตร ในเดือน เม.ย. ทำให้มีปลาตายมากกว่า 100 ตัน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาชีพ และเศรษฐกิจใน 4 จังหวัด

กระทรวงสิ่งแวดล้อมเวียดนาม ระบุว่า บริษัทฟอร์โมซาได้แก้ไขการละเมิดข้อตกลงแล้ว 50 ข้อ จาก 53 ข้อ และอยู่ในระหว่างการแก้ไขสาเหตุของภัยพิบัติที่เป็นข้อใหญ่ที่สุด คือ การใช้ระบบเปียกในการผลิตที่ก่อพิษสูง ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงอย่างตั้งใจ

ภายหลังจากช่วงเวลาหลายเดือนถึงปริศนาอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาตาย และความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อทั้งรัฐบาลเวียดนาม และหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ บริษัทฟอร์โมซา ตกลงในเดือน มิ.ย. ที่จะชดเชยความเสียหายเป็นจำนวน 500 ล้านดอลลาร์

อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้ประชาชนชาวเวียดนามกล้าที่จะรวมตัวชุมนุมประท้วงในหลายเมืองใหญ่ และแสดงความเห็นไม่พอใจลงบนสื่อสังคมออนไลน์ ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนตลอดระยะการปกครองอย่างเข้มงวดของพรรคคอมมิวนิสต์

ประชาชนหลายพันคนจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกล่าวหารัฐบาลว่า รับมือผิดพลาดต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และการจ่ายค่าชดเชย ขณะที่ตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้มาตรการรุนแรงในการสลายการชุมนุมตามท้องถนน แต่รัฐบาลระบุว่า กำลังทำทุกวิถีทางในการสอบสวน และแก้ไขปัญหา

.
<br><FONT color=#000033>ชาวเวียดนามรวมตัวชุมนุมประท้วงต่อต้านบริษัทฟอร์โมซาของไต้หวัน ที่เป็นสาเหตุของภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ ในกรุงฮานอย เมื่อเดือนพ.ค. -- Agence France-Presse/Hoang Dinh Nam.</font></b>
.
กระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ฟอร์โมซาได้ละเลยข้อตกลงกับรัฐบาลหลายข้อในการก่อสร้างโรงงาน ที่เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วจะกลายเป็นโรงงานเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ฟอร์โมซาได้เปลี่ยนแปลงอย่างจงใจต่อเนื้อหาหลายรายการของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ ที่อนุมัติเมื่อปี 2551 รวมทั้งการใช้ระบบเปียกในการผลิตแทนการใช้ระบบแห้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย” กระทรวงสิ่งแวดล้อม ระบุ

การใช้ระบบเปียกในการผลิต คือ ระบบที่ใช้น้ำเพื่อระบายความร้อน แต่ขณะเดียวกัน ก็ก่อมลพิษมาก ทั้งปล่อยไอเสีย และน้ำเสียที่มีสารประกอบปนเปื้อน รวมทั้งไซยาไนด์ ส่วนกระบวนการผลิตแบบแห้งนั้น เป็นกระบวนการที่สะอาดกว่า มักใช้งานกันอย่างกว้างขวางในโรงงานทันสมัย แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

กระทรวงระบุว่า ได้ขอให้บริษัทฟอร์โมซา ห่าติ๋ง เริ่มนำระบบแห้งเข้าแทนที่ระบบเก่าในโรงงานตั้งแต่สิ้นเดือนหน้า และต้องเสร็จสิ้นอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 มิ.ย.2562

ส่วนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พบว่า ได้รับการปรับปรุงฟื้นฟู และคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาอย่างสมบูรณ์เต็มที่ภายใน 10 ปี หากงานบำบัดฟื้นฟูดำเนินการเพียงพอ และระดับของสารพิษอยู่ภายใต้การควบคุม

กระทรวงกล่าวว่า ค่อนข้างพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของฟอร์โมซา แต่ยังมีงานต้องทำอีกมาก

รองกรรมการผู้จัดการบริษัทฟอร์โมซา ห่าติ๋ง สตีล เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า โรงงานมีกำหนดเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในไตรมาสแรกของปี 2560 หากได้รับการอนุมัติ และบริษัทวางแผนที่จะขยายโรงงานเหล็ก ที่รวมถึงท่าเรือน้ำลึก และโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 1,500 เมกะวัตต์.
กำลังโหลดความคิดเห็น