xs
xsm
sm
md
lg

สสวท.เผย 5 บทเรียนหลังเด็กไทยได้คะแนน PISA ต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสวท. โฟกัสประเด็นจาก PISA เผยแพร่เอกสาร “PISA ที่ผ่านมาบอกอะไรให้เราทราบบ้าง” ชี้ผลประเมินนักเรียนในกรุงเทพฯ ไม่ต่างจากนักเรียนในสหรัฐฯ แต่นักเรียนนอกกรุงมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ แสดงถึงระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จไม่กระจายทั่วประเทศ

นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า สสวท. ได้จัดทำเอกสาร “Focus ประเด็นจาก PISA” ซึ่งจะเผยแพร่เป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ข้อมูลประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประเมินผลของ PISA ขณะนี้ เอกสารฉบับที่ 12 ประจำเดือนธันวาคม 2559 เรื่อง “PISA ที่ผ่านมาบอกอะไรให้เราทราบบ้าง” ได้เผยแพร่แล้วที่เว็บไซต์ http://pisathailand.ipst.ac.th/pisa/focus

ข้อมูลดังกล่าวบอกให้ทราบว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ของการศึกษาของประเทศไทยนั้น มีบางส่วนที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ นั่นคือ ระบบโรงเรียนในกรุงเทพฯ เมื่อดูผลการประเมินของนักเรียนในเขตกรุงเทพฯ จะพบว่าการกระจายของคะแนน PISA เกือบจะไม่มีความแตกต่างจากนักเรียนในสหรัฐอเมริกา แต่นั่นไม่ใช่นักเรียนจากทั่วประเทศ เพราะนักเรียนที่อื่นๆ นอกกรุงเทพฯ นั้น ยังมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่ามาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าการศึกษาของระบบโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ เป็นตัวแบบ (Model) ที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่การจัดตัวแบบเช่นนั้นไม่กระจายไปทั่วประเทศแต่กลับกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น ถ้าระบบโรงเรียนไทยสามารถกระจายตัวแบบการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพทั่วถึงทั้งประเทศ คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนก็จะสามารถยกระดับสูงขึ้นได้ และรายงานในหลายแหล่งหลายวาระที่ผ่านมาก็ได้ชี้บอกตัวแปรที่ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบไว้แล้ว

โรงเรียนที่มีนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเสียเปรียบกว่า ส่วนมากมีทรัพยากรการเรียนคุณภาพต่ำกว่าโรงเรียนที่มีนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่า และที่สำคัญยิ่งกว่า คือไม่มีครูคุณภาพสูงสำหรับโรงเรียนที่ด้อยกว่า การสนับสนุนทรัพยากรอย่างเป็นธรรมไม่เพียงแต่สำคัญในด้านความเสมอภาคทางการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนโดยรวมทั้งระบบ

ตัวอย่างจากระบบที่ประสบความสำเร็จ ในประเทศเหล่านั้นครูใหญ่ในโรงเรียนที่ด้อยเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมต่างรายงานว่า โรงเรียนมีทรัพยากรการศึกษาที่พอเพียงไม่แตกต่างจากโรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้เปรียบกว่าหรือในบางประเทศกลับมีมากกว่า เช่น ฟินแลนด์

ในการสร้างกำลังพลที่มีประสิทธิภาพสำหรับการสอนต้องเปรียบเทียบดูจากการประเมินว่าที่อื่นเขาทำกันอย่างไร และเปรียบเทียบตัวเองว่าเหมือนหรือแตกต่างกับที่เขาประสบความสำเร็จอย่างไร การศึกษาไม่ได้มีเพียงนักเรียน ครู และหลักสูตรเท่านั้น แต่สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม มีผลกระทบสูงพอสมควร

คำตอบของคำถามต่อไปนี้ จะเป็นคำตอบว่าวัฒนธรรมได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างไร
- ประเทศอื่นจ่ายค่าจ้างครูอย่างไรเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ ที่มีการศึกษาในระดับเดียวกัน?
- ใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางการศึกษาของแต่ละคนถูกเปรียบเทียบอย่างไรในการจ้างงาน?
- พ่อแม่ต้องการให้ลูกเข้าสู่อาชีพครูหรือไม่?
- สื่อมวลชน และสาธารณชนให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษามากน้อยเพียงใด?
- ชุมชน สังคมให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากกว่ากัน ระหว่างชัยชนะของการแข่งกีฬา กับชัยชนะจากการแข่งขันทางวิชาการของนักเรียนหรือโรงเรียน?
- พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนหนังสืออย่างหนักมากหรือไม่?

ถ้าสามารถตอบคำถามเหล่านี้ในเชิงบวก การยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบน่าจะอยู่ไม่ไกลเกินไป แต่ถ้ายังไม่มีคำตอบให้คำถามเหล่านี้ ความเป็นเลิศน่าจะยังต้องรออีกนาน

การศึกษาวิจัยของ OECD ร่วมกับ Pearson’s Education ซึ่งได้ศึกษาปัจจัยที่ทำให้ระบบโรงเรียนประสบความเป็นเลิศ และได้สรุปบทเรียนบรรทัดสุดท้าย (The bottom line findings) ได้ดังนี้

1. ไม่มีกระสุนวิเศษ (There are no magic bullets) ไม่มีการศึกษาที่สรุปได้ชัดเจนว่าตัวแปรตัวหนึ่งตัวใดคือตัวที่ทำให้ประสบความสำเร็จ การทุ่มเงินและงบประมาณลงในการศึกษาไม่สามารถสร้างผลผลิตที่ต้องการได้ การศึกษา ต้องการระยะเวลาปรับตัวที่ยาวนาน และต้องใส่ใจทั้งระบบ การปรับปรุงจึงจะเกิด

2. ยกย่องครู (Respect Teachers) ครูดี คือ หัวใจของการศึกษาคุณภาพสูง การจะหาครูดี หรือจะปรับครูให้เป็นครูคุณภาพสูงไม่ใช่เรื่องเดียวกับการจ่ายค่าตอบแทนสูงเสมอไป แต่ครูดีต้องการเพียงการยกย่องในวิชาชีพของตน และได้รับการเชิดชูเกียรติในสังคม ไม่ใช่ปฏิบัติเยี่ยงพนักงานเทคนิค หรือเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องคอยตรวจสอบ

3. วัฒนธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Culture can be changed) วัฒนธรรมที่ล้อมรอบระบบการศึกษาสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าตัวของระบบเอง เช่น วัฒนธรรมการเคารพครู ความขยันทำงานหนักของเกาหลี และเวียดนาม การศึกษาจะก้าวไกลได้ด้วยการเก็บรักษาวัฒนธรรมที่เป็นเชิงบวก และพยายามหาทางเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่ส่งผลลบต่อการศึกษา

4. พ่อแม่ไม่ใช่อุปสรรคหรือตัวช่วย (Parents are neither impediments to nor saviours of education) ความต้องการของพ่อแม่เพียงให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ดังนั้น ระบบโรงเรียนจึงไม่ต้องนำความต้องการของพ่อแม่มากดดันการทำงาน อีกทั้งไม่ควรนับว่าการสนับสนุนจากพ่อแม่เป็นสิ่งจำเป็น โรงเรียนควรทำเพียงการให้พ่อแม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโรงเรียนและทำงานร่วมกับพ่อแม่บ้างเป็นบางโอกาส

5. การศึกษาเพื่ออนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน (Educate for the future, not just the present) ขอเพียงระลึกรู้ว่าทักษะการทำงานในอนาคตจะไม่เหมือนทักษะในวันนี้ ระบบการศึกษาต้องรู้ล่วงหน้าว่าจะเตรียมคนอย่างไร

ข้อเขียนชิ้นนี้ได้สรุปตอนท้ายว่า การศึกษาของไทยถือว่ามีคุณภาพระดับเทียบเคียงนานาชาติได้ระดับหนึ่ง แต่การศึกษาที่มีคุณภาพนั้นอยู่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น หากสามารถขยายตัวแบบการศึกษาในกรุงเทพฯออกไปใช้ทั่วประเทศอาจทำให้ผลการประเมินสูงขึ้นได้

อนึ่ง PISA ได้ชี้ถึงจุดอ่อนที่ระบบฯ สามารถนำมาพิจารณาเพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งในด้านครู ทรัพยากรการศึกษา ความเท่าเทียมหรือความเป็นธรรมทางการศึกษา พร้อมทั้งข้อเตือนใจว่ามีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา เพราะในการศึกษาไม่มีกระสุนเดียวที่ยิงแล้วจอด

การเปลี่ยนหลักสูตรอย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบ แต่การศึกษาต้องปรับทุกประเด็นแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่เห็นคุณค่าอย่างสูงของการศึกษา การเคารพครู ความขยันและการทำงานหนักก็เป็นองค์ประกอบของการยกระดับคุณภาพการศึกษา







กำลังโหลดความคิดเห็น