xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการศึกษา (9) เซี่ยงไฮ้ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาภายใน 3 ปี / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาบ้านเราเป็นปัญหาใหญ่ที่ยาวนาน แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ดูเหมือนนับวันปัญหานี้ก็ยิ่งมากขึ้น และความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งถ่างและห่างมากขึ้นทุกขณะ

จากที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท แต่ดูเหมือนระหว่างเมือง และระหว่างชนบทเองก็ยังเหลื่อมล้ำกันเอง ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันมันได้ขยายไปสู่ในสถาบันการศึกษาเดียวกันก็แบ่งชนชั้นกัน มีความเหลื่อมล้ำกันในรูปแบบของห้องพิเศษ, ห้องกิ๊ฟเต็ด, ห้อง English Program ฯลฯ ในขณะที่ห้องธรรมดากลายเป็นห้องที่พ่อแม่ไม่ปรารถนาให้ลูกเรียนมากที่สุด

คำถามก็คือ ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ !

ช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่มีการปฏิรูปการศึกษา น่าจะถือโอกาสส่องไปยังประเทศอื่นๆ ที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จนสำเร็จ และช่องว่างระหว่างคุณภาพโรงเรียนไม่แตกต่างกันนัก
ภาพจากดีเอฟเดลี่
พลันทำให้นึกถึงเมื่อกลางปีที่ผ่านมาที่ได้ไปร่วมงาน “อภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” จัดโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้มีการนำผลสำรวจของ OECD (ผู้จัดการทดสอบ PISA) ซึ่งจัดอันดับระบบการศึกษาที่มีความเท่าเทียมกันทางคุณภาพของโรงเรียน มีทั้งหมด 65 ประเทศ พบว่า เซียงไฮ้ ยังคงมีระบบการศึกษาอันดับ 1 ของโลก ทั้งผลการสอบและในแง่ความเท่าเทียมทางคุณภาพของโรงเรียนมากที่สุด จึงถูกจัดอันดับว่าเป็นระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดช่องว่างคุณภาพระหว่างสถานศึกษาภายใน 3 ปี ทำให้เด็กส่วนใหญ่มีสัมฤทธิผลทางการศึกษาใกล้เคียงกันได้

เซี่ยงไฮ้มีความพยายามปฏิรูปการศึกษามาโดยตลอด แม้จะล้มลุกคลุกคลานมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว แต่ด้วยความเอาจริงเอาจังและทิศทางแน่วแน่ ส่งผลให้ภายใน 3 ปี เซี่ยงไฮ้สามารถ “เพิ่มคุณภาพ” และ “ลดช่องว่าง” ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้แก่นักเรียนได้อย่างเด่นชัด โดยผลจากคะแนน PISA ระหว่างปี 2009 และ 2012 มีการพัฒนาคุณภาพเด็กให้มีผลคะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับสูง (ระดับ 6) เพิ่มขึ้นถึง 8-16 % และสามารถลดจำนวนเด็กที่มีผลคะแนนในระดับต่ำ (ระดับ 1 หรือต่ำกว่า) ลงถึง 15 - 23% พร้อมทั้งการพัฒนา “ความสุข” ในการเรียนรู้ควบคู่กัน

ครั้งนั้น นี มินจิง เลขาธิการสำนักงานการศึกษานครเซี่ยงไฮ้ ได้เดินทางมาถ่ายทอดประสบการณ์ ว่า การปฏิรูปการศึกษาของเซี่ยงไฮ้ทำอย่างจริงจังมาตลอดกว่า 20 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ ในช่วง 10 ปีแรก (ปี 2533 - 2553) เซี่ยงไฮ้มุ่งปฏิรูปโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมุ่งเน้นการจัดสรรทรัพยากรครุภัณฑ์อย่างเพียงพอ รวมถึงเน้นให้นักเรียนเข้าเรียนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม พร้อมทั้งส่งเสริมการปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการเรียนการสอนโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้น

จากนั้นมีการปฏิรูปหลักสูตรระยะที่ 2 (10 ปีต่อมา) มีการพัฒนาทักษะวิชาชีพของคณะครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพครูมืออาชีพ รวมถึงส่งเสริมความเป็นผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม นายนี มินจิง สะท้อนว่า การพัฒนาที่เน้นการเรียนมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา แม้จะทำให้ผลการเรียนของนักเรียนในเซี่ยงไฮ้ดีมาก แต่พบปัญหาใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ นักเรียนใช้เวลาไปกับการเรียนมากเกินไป ส่งผลให้ขาดโอกาสลงมือปฏิบัติและวิจัยด้วยตนเอง จึงเกิดปัญหาความคิดสร้างสรรค์ตามมา

ท้ายที่สุดการเรียนที่หนักเกินไป ทำให้นักเรียนไม่สนใจการเรียน และยังส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบท

เซี่ยงไฮ้จึงมีการวางกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงการศึกษาขึ้นพื้นฐานอีกครั้ง ภายใต้ 3 โครงการหลัก คือ

หนึ่ง โครงการจับคู่โรงเรียนที่เข้มแข็งกับโรงเรียนที่อ่อนแอ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการการศึกษา โดยการทำงานร่วมกันระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ โรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน และผู้ปกครองอย่างต่อเนื่องผ่าน “มาตราการจัดกลุ่มสถานศึกษาตามตัวชี้วัดคุณภาพโรงเรียน” เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนผู้บริหารโรงเรียนระหว่างโรงเรียนเกรด A-B กับโรงเรียนเกรด C-D ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสถานศึกษา พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่ โดยให้โรงเรียนเกรด A เป็นโรงเรียนแกนนำในการพัฒนา

จากกระบวนการทำงานร่วมกันทั้งจากฝั่งผู้ให้ และผู้ใช้บริการทางการศึกษานี้ ทำให้โรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ มาตราฐาน (C-D) ของเซี่ยงไฮ้หายไปจากระบบการศึกษาได้ภายในเวลาไม่ถึงทศวรรษ จนปัจจุบันโรงเรียนในระบบการศึกษาของเซี่ยงไฮ้มีคุณภาพและความเท่าเเทียมกันเป็นอันดับ 1 ในบรรดาของระบบการศึกษาทั้ง 65 แห่งที่ร่วมสอบ PISA

สอง โครงการโรงเรียนที่มีคุณภาพดี โดยมุ่งใช้โรงเรียนเป็นจุดหลักของการปฏิรูป รัฐบาลเข้ามาสนับสนุน ไม่ใช่จัดงบประมาณเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจัดหาครูดีมาสอน โดยเน้นให้ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูค้นหาปัญหา และปรับปรุงวิธีการสอนของตนเอง กระบวนการนี้ทำอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้เกิดการปรับปรุงศักยภาพของครูและยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตามไปด้วย

โครงการนี้ประสบความสำเร็จ เกิดการแบ่งปันแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในทุกพื้นที่ และกำจัดอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นจากความแตกต่างของระบบการบริหารในแต่ละเขตพื้นที่ ช่วยให้เกิดการปฏิรูปชุมชนตามไปด้วย สามารถลดช่องว่างของเมืองและชนบท

สาม โครงการประเมินโรงเรียนดัชนีสีเขียว เป็นการกำหนดดัชนีชี้วัด 10 ตัว เพื่อบ่งชี้ถึงการเรียนรู้ของนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น และมีการเปรียบเทียบผลทุกปี ยกตัวอย่างเช่น ดัชนีวัดความกดดันของนักเรียน วัดพฤติกรรมและศีลธรรมของนักเรียน วัดความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน วัดสภาพเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนที่มีผลกระทบต่อผลการศึกษา และวัดสุขภาพกายและใจ เป็นต้น

การเกิดขึ้นของโครงการนี้มาจากการให้ความสำคัญกับ “ความสุข” ของนักเรียนในการเรียนนั่นเอง จึงมีการจัดทำดัชนีชี้วัดปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเรียนของนักเรียนทั้งหมดและมีประเมินผลทุกปี เพื่อผลักดันให้ครูปรับปรุงการสอน ทำให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงการประเมินโรงเรียนเป็นการพัฒนา “ดัชนีชี้วัดด้านศึกษา” เพื่อบ่งชี้ถึงการเรียนรู้ของนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้เปรียบเทียบคุณภาพของแต่ละโรงเรียนทุกปี ครอบคลุมมิติการลงทุนด้านการศึกษาความรู้ความสามารถของนักเรียน สมรรถภาพทางกาย คุณธรรม นวัตกรรมการศึกษาของนักเรียน โดยให้ความสำคัญกับพัฒนาการของนักเรียน และอิทธิพลที่จะส่งผลโดยตรงต่อนักเรียน ได้แก่ ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน โรงเรียนและครอบครัว

เห็นแล้วก็อยากให้เกิดในบ้านเราบ้าง จริงอยู่ว่าสภาพปัญหาและเงื่อนไขอื่นๆอีกมากมายที่เราอาจไม่สามารถเดินตามเขาได้ และก็ไม่จำเป็นต้องเดินตาม แต่มันถึงเวลาที่เราต้องปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้แล้ว

บ้านเรายอมรับมาทุกยุคทุกสมัยว่าการศึกษาในบ้านเรามีความเหลื่อมล้ำมาก เราได้ยินได้เห็นปัญหามาโดยตลอด แต่สิ่งที่ไม่เห็นคือการลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจังจริงใจ และมีทิศทางที่แน่วแน่สักที

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น