ไทยจับมือฮังการีสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์เป็นประตูสู่ยุโรป-อาเซียน พร้อมร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงาน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม และฮังการียังยินดีจะให้ทุนการศึกษาปีละ 40 ทุนแก่นักศึกษาไทยเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าที่ฮังการี
ในระหว่างการประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมหารือนอกรอบกับนายเปเตอร์ ซิยาร์โต (H.E.Mr.Peter Szijjarto) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี เกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับฮังการี
หลังเสร็จสิ้นการหารือ ดร.พิเชฐฯ เผยว่า การหารือครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนและสหภาพยุโรป ครั้งที่ 21 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางนายเปเตอร์ ซิยาร์โต ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลฮังการีเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว การพบกันในครั้งนี้จึงเป็นการหารือเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ด้านทวิภาคีของทั้งสองประเทศ
“ทั้งไทยและฮังการีเห็นควรที่จะยกระดับความร่วมมือให้เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ โดยฮังการีจะเป็นประตูให้ไทยเข้าสู่ภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และไทยจะเป็นประตูให้ฮังการีเข้าสู่อาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV
นอกจากนี้ ยังพร้อมที่จะร่วมมือกันพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งสาขาที่มีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกัน ได้แก่ วิทยาศาสตร์การเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงาน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยทางฮังการีพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับการวิจัยร่วมกันในสาขาเหล่านี้
พร้อมกันนี้ ฮังการียังยินดีจะให้ทุนการศึกษาปีละ 40 ทุนแก่นักศึกษาไทยเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าที่ฮังการี โดยทางฮังการีประสงค์จะลงนามในบันทึกข้อตกลงกับไทยภายในเดือนมีนาคม 2560 เพื่อให้นักศึกษาไทยรุ่นแรกสามารถเดินทางมาศึกษาในฮังการีได้ในเดือนกันยายน 2560” ดร.พิเชฐฯ เผย
ดร.พิเชฐฯ กล่าวต่อว่า นายเปเตอร์ ซิยาร์โต ยังแสดงความสนใจต่อนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการนำดิจิตัลและนวัตกรรมมาพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นน้ำของอาเซียน และการจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมืองนวัตกรรมอาหารของโลก
“ทางฮังการี มองเห็นโอกาสและประโยชน์ที่ทั้งสองประเทศจะได้รับหากมีความร่วมมือในโครงการดังกล่าว พร้อมย้ำถึงนโยบายต่างประเทศของฮังการีที่ตั้งอยู่บนเหตุผล ไม่มีอคติทางการเมือง เคารพประเทศอื่นๆ และไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการและข้อมติของสหภาพยุโรปเสมอไป” ดร.พิเชฐฯ กล่าว