เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ทีมงานเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู๊ดอินโนโพลิส นำโดย ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ได้เข้าหารือกับ ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นผู้วิจัยและเป็นผู้ขับเคลื่อนด้านสมุนไพรหลักของโรงพยาบาลฯ
ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ อธิบายถึงภาพรวมของโครงการที่จะสามารถสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากการวิจัยต่อเนื่องของโรงพยาบาลเจ้าพระอภัยภูเบศรเข้าสู่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ว่า
“ด้วยความพร้อมในหลายด้านของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการวิจัย พัฒนา นวัตกรรมสมุนไพร และ สารสกัดสมุนไพร ตลอดจนอาหารเสริมสุขภาพ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร เห็นว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สามารถเป็นฮับเมืองนวัตกรรมอาหารภาคตะวันออกได้ และจะเป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่หัวเมืองต่าง ในอนาคต โดยทางโครงการฯ มีกำหนดจะไปโรดโชว์ในราวต้นปีหน้า ”
ด้าน ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีความยินดีที่จะร่วมมือกับโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร เนื่องจากขณะนี้ทางโรงพยาบาลฯ เองได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในส่วนของอาหารสมุนไพรในรูปแบบของอาหารฟังก์ชั่น น้ำสมุนไพร โดยแปรรูปจากสมุนไพร ออกานิกส์ 100% โดยควบคุมการผลิตเองตั้งแต่การปลูก การพัฒนา จนถึงกระบวนการผลิตโดยไม่ผ่านการเติมสารเคมี และสารเจือปนอื่นๆ ตลอดจนได้ทำการวิจัยสมุนไพรหลายตัวที่มีสรรพคุณเหมาะสำหรับพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือ อาหารฟังก์ชันสำหรับทุกช่วงวัย และในรายที่ต้องได้รับการตอบสนองเฉพาะกลุ่ม เช่น นักกีฬา โดยกำลังอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา แต่ยังติดขัดด้วยเรื่องการออกแบบแพคเกจจิ้ง ตลอดจนการผลิตในระดับทดลองและระดับอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ ดร.อัครวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมงานเมืองนวัตกรรมอาหาร รับที่จะไปหารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสาตร์ฯ โดยเฉพาะทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เนื่องจากมีศักยภาพในการที่จะแก้โจทย์ปัญหาด้วยเทคโนโลยีในการผลิตน้ำผลไม้ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบูรณาการจากโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารไปแล้ว และยังสามารถช่วยในเรื่องของการผลิตอาหารขบเคี้ยวได้อีกด้วย
นอกจากนี้ หากมีภาคเอกชนที่มีความพร้อม ก็สามารถที่จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีและงานวิจัยจาก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเอง ก็ต้องการนักวิจัยจากภาครัฐหรือผู้ที่จะสามารถทำงานได้ตรงกับทางโรงพยาบาลฯ เนื่องจากมองว่า หากมีการใช้สิ่งอำนวยความสะดวก ของเครือข่ายได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดโรงงานเพิ่มให้สิ้นเปลืองงบประมาณ สำหรับความร่วมมือนั้น คาดว่าจะดำเนินการได้ราวกลางเดือนธันวาคม โดยจะเป็นการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และกระทรวงสาธารณสุข