10 ธ.ค.วันสำคัญของ “ไทยโชต” ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย
วันรัฐธรรมนูญตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี และเป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย
ในวันดังกล่าวยังเป็นวันสำคัญของวงการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทยนามว่า “ดาวเทียมไทยโชต” ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Thaichote" ซึ่งมีความหมายว่า “ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง” จาในวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2554
ดาวเทียมไทยโชตหรือเดิมเรียกว่า “ธีออส” (Thailand Earth Observation Systems: THEOS) เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย บันทึกข้อมูลภาพถ่ายด้วยแสงที่ตามองเห็น ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ GISTDA
ดาวเทียมดวงนี้สร้างโดยบบริษัทเอียดส์ แอสเตรียม (EADS Astruim) ประเทศฝรั่งเศส เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 19 ก.ค.47 และส่งขึ้นสู่วงโคจรโดยจรวด "เนปเปอร์" (Dnepr) ได้นำส่งดาวเทียมธีออสจากฐานส่งจรวดเมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย เมื่อ 1 ต.ค.51
ไทยโชตเป็นดาวเทียมขนาดเล็กมีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม และมีระยะห่างจากโลกเมื่อส่งขึ้นไปโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม. โดยจะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน และสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมทั่วโลก บันทึกภาพด้วยระบบเดียวกับกล้อง (Optical System) ความละเอียดของภาพขาวดำ 2 เมตร และมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี