xs
xsm
sm
md
lg

“ธีออส 2” อย่ามีเลยดีกว่า...ถ้าสร้างแค่ดาวเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการสร้างดาวเทียมธีออส 1
เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่ “ธีออส 1” หรือ “ไทยโชต” ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยได้ขึ้นไปโคจรอยู่ในอวกาศ และล่วงเลยกำหนดอายุการใช้งานมาหลายปี และตอนนี้ไทยกำลังเตรียมสร้าง “ธีออส 2” ดาวเทียมดวงใหม่อีกดวง และอยู่ระหว่างการรออนุมัติจาก ครม.

“ความเข้าใจผิดอย่างแรกเลย...สำหรับธีออส 2 คือดาวเทียม ดาวเทียมดวงเดียวไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเกิดโครงการนี้จะทำเพื่อสร้างดาวเทียมนะอย่ามีเลยโครงการนี้ ผมพูดในทางตรงกันข้ามนะ โครงการนี้ไม่มีเลยเสียยังดีกว่า”

ความเห็นข้างต้นมาจากผู้กุมบังเหียนองค์กรด้านอวกาศระดับชาติของไทย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือเรียกย่อๆ ว่า “จิสด้า” และเป็นองค์กรที่ดูแลโครงการสร้างดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงใหม่ของประเทศ

เมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างดาวเทียมธีออส 1 เมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น มุ่งเน้นที่เรื่องข้อมูลและการสร้างถ่ายภาพความละเอียดสูง ซึ่งเมื่อก่อนยังมีไม่พอ แต่มาถึงยุคปัจจุบัน ดร.อานนท์ระบุว่า เป็นยุคที่ท่วมไปด้วยข้อมูล หรือ Big Data เรื่องข้อมูลไม่ใช่เรื่องหลักอีกต่อไป สิ่งสำคัญคือเรื่อง “ประเด็นสำคัญ”

“อย่างแรกก่อน ธีออส 2 ต่างจากธีออส 1 เยอะ เกือบจะเรียกว่าคนละเรื่องเลย คือเราอย่าไปติดภาพของธีออส 1 ซึ่งตอนนั้นเราเริ่มพัฒนาเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว วันนั้นเรา ทั้งด้านบุคลากร โครงสร้างองค์กรอะไรต่างๆ เรามองแค่ด้านเดียว คือเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง เพราะ ณ วันนั้น ข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญ การมีข้อมูลไม่เพียงพอทำให้เราไม่สามารถบริหารจัดการอะไรได้”ดร.อานนท์อธิบายถึงความแตกต่างของเงื่อนไขในอดีตและปัจจุบัน

สำหรับชื่อ “ไทยโชต” เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อแก่ “ธีออส 1” ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2554 ซึ่งดาวเทียมดวงนี้ได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรจากฐานปล่อยจรวดยัสนี ประเทศรัสเซีย เมื่อ 1 ต.ค.51

สำหรับโครงการธีออส 2 นั้น นอกจากสร้างดาวเทียมหลักแล้ว ยังมีแผนสร้างดาวเทียมขนาดเล็กควบคู่ไปด้วย โดยในส่วนของการสร้างดาวเทียมหลักจะสร้างขึ้นที่ต่างประเทศ ส่วนการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กจะสร้างขึ้นในประเทศไทย ซึ่ง ดร.อานนท์ระบุว่า ขณะได้ได้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารสำหรับผลิตดาวเทียมและเริ่มก่อสร้างแล้ว

“ดวงที่เราจะสร้างเองอาจจะไม่ไฮเทคที่สุด แต่เราจะได้เรียนรู้ และเอามาต่อยอด และเราจะตั้งเงื่อนไขเลยว่าเทคโนโลยีที่เขาจะถ่ายทอดมาให้เรา เราจะต้องเอาไปต่อยอด เอาไปจำหน่ายจ่ายแจก มาดัดแปลงได้โดยไม่มีเงื่อนไข ถ้าบริษัทไหนที่ไม่สามารถรับเงื่อนไขตรงนี้ได้ก็ไม่ต้องมาคุยกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้คนที่จะมาเป็นหุ้นส่วนกัน บริษัทหรือประเทศไหนต้องรับเงื่อนไขตรงนี้ให้ได้ เพราะวันนี้เราไม่ได้ซื้อดาวเทียม เราจะเป็นหุ้นส่วนร่วมกับเขาเพื่อที่เราจะสร้างศักยภาพของเรา เพื่อจะพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศในอนาคต”

นอกจากการสร้างดาวเทียมแล้ว การสร้างระบบรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศนั้นมีความสำคัญไม่แพ้กัน จากประสบการณ์ในอดีตที่ไม่ไทยเพิ่งมีดาวเทียมดวงแรก แต่ยังต้องพึ่งพาระบบจากต่างประเทศ ทำให้การทำงานหลายๆ อย่างไม่คล่องตัว แต่ทาง สทอภ.ได้พัฒนาระบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศโดยเป็นผลงานของคนไทยเอง

ดร.อานนท์ย้ำว่าโครงการธีออส 2 ไม่ใช่แค่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่จะเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องต่างๆ ตามเป้าหมายของรัฐบาล และจะช่วยประเทศไทยเข้าสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งความต้องการ 6 ด้านของประเทศคือ ด้านการเกษตร ด้านการจัดการน้ำ ด้านภัยพิบัติ ด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศซึ่งรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติด้วย ด้านสังคมและความมั่นคง และด้านของการจัดการพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญนั้น จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีทางด้านอวกาศ

“ฉะนั้นระบบที่เราพัฒนาบางส่วนก็จะนำมาใช้กับดาวเทียมดวงใหม่ด้วยเพราะใช้เทคโนโลยีของเราเอง เพราะฉะนั้นที่บอกอะไรที่เป็นเทคโนโลยีของเราเอง เราก็จะใช้เทคโนโลยีของเรา ไม่ใช่ซื้อเขาทั้งหมด เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นเรื่องที่เราต้องมาคุยกับเขา คน (ผู้ผลิตดาวเทียม) ที่มาเขาต้องรับได้ แต่ว่าถ้าเขาพิสูจน์ได้ว่าเทคโนโลยีของเรามันยังด้อยไป เราก็ใช้ของเขาไปก่อน แต่ว่าเขาต้องถ่ายทอดให้เราในทุกขั้นตอน เพราะว่าเรามีบทเรียนแล้วว่าถ้าเราไม่กำหนดตรงนี้เราจะมีปัญหาเยอะมากเลย”

โครงการสร้างดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงใหม่ของไทยยังเป็นความหวังในการสร้างอุตสากรรมใหม่ๆ อย่างอุตสากรรมด้านอวกาศ ซึ่ง ดร.อานนท์อธิบายว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอวกาศเสมอไป เพราะระบบภาคพื้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และไทยมีโอกาสพัฒนาศักยภาพในด้านนี้ ดังตัวอย่างที่คนไทยได้พัฒนาระบบรับสัญญาณดาวเทียมของตัวเองมาแล้ว

“ตอนนี้อุตสาหกรรมอวกาศที่อยู่ในช่วงขาขึ้นตอนนี้ ผมไม่รู้อันอื่นมากนัก แต่รู้ว่าเป็นอันนี้เพราะตอนนี้ยอดซื้อดาวเทียมทั่วโลกเพิ่มขึ้นแบบปีหนึ่งเป็นหลายๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อก่อนส่งจรวดขึ้นไปลำหนึ่ง ปล่อยดาวเทียมได้อย่างมากก็ 1-2 ดวง แต่อนนี้ไม่ใช่แล้ว เขาสั่งดาวเทียมทีเป็น 120 ดวง ราคาก็ถูกลง แล้วเวลาปล่อยทีหนึ่งอัดเข้าไปในจรวด 30-40 ดวง ค่าส่งค่าอะไรก็ถูกลง นั่นหมายความว่าปริมาณจะขยายขึ้นมาก เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็ต้องสู้กันด้วยเทคโนโลยี สู้ด้วยราคา สู้ด้วยอะไรต่างๆ เป็นโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมไทย”

การใช้ประโยชน์จากดาวเทียมไม่ใช่เพียงการได้ภาพถ่ายจากดาวเทียม แต่ ดร.อานนท์ยังวาดภาพให้เห็นว่า เทคโนโลยีอวกาศนั้นจะนำไปสู่ระบบที่ช่วยในการตัดสินใจขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งผู้ใช้งานต้องกำหนดโจทย์ให้ได้ว่าต้องการอะไร อย่างเช่นการใช้ประโยชน์เพื่อชดเชยความเสียจากน้ำท่วมแก่เกษตรกร ระบบจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศจะช่วยให้ผู้บริหารประเมินได้ว่า พื้นที่ใดเกิดความเสียหายจริง หรือประเมินความเสียหายแล้วให้ค่าชดเชยโดยไม่ต้องรอให้มีผู้มาร้องเรียน

โครงการธีออส 2 นั้นไม่ได้กำจัดที่การใช้ประโยชน์ดาวเทียมดวงใหม่เพียงดวงเดียว แต่ยังต้องอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมอีกหลากหลายประเภทร่วมกว่า 30 ดวง ทว่า ดร.อานนท์ระบุว่ายังจำเป็นต้องสร้างดาวเทียมที่เป็นของไทยเอง เพราะในบางภารกิจและบางสถานการณ์นั้นไม่เหมาะสมที่จะพึ่งพิงดาวเทียมต่างประเทศ เช่น ภารกิจด้านความมั่นคง

“เราได้เชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐ เกือบทุกกระทรวง แม้แต่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงท่องเที่ยว กีฬา กระทรวงอะไรต่างๆ หรือแม้แต่กรมศิลปากร ยังมาร่วมกับเรา เพราะปัจจุบันเราจะแยกทุกอย่างออกไปไม่ได้ พอพูดถึงเศรษฐกิจ สังคม มันเกี่ยวข้องหมด แต่เราฟังความเห็นของเขาว่า เขาอยากจะทำอะไร แผนของเขาเป็นอย่างไร หลักการของเราคือ เริ่มต้นจากปลายทางว่า สุดท้ายประเทศไทยเราต้องเห็นอะไร แล้วพอเรารู้ว่าเขาต้องการอะไร แล้วเราก็เอามาออกแบบระบบของเรา เพื่อตอบโจทย์ของเขา” ดร.อานนท์ระบุ

โครงการธีออส 2 ซึ่งมีมูลค่าโครงการทั้งหมด 7,800 ล้านบาทนั้น มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีผู้ผ่านคัดเลือกเข้าประมูลโครงการ 8 ราย ซึ่งหลังจากผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ผ่านการประมูล 1 ราย จากนั้นจึงทำสัญญาว่าจ้างและเริ่มสร้างต่อไป
ภาพการปฏิบัติงานภาคพื้นของสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมของ สทอภ. ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา






กำลังโหลดความคิดเห็น