หลายคนน่าจะเคยประสบปัญหาเขียนภาษาไทยของชื่อดินแดน ชื่อเมืองหลวงต่างถิ่น หรือชื่อประเทศที่ไม่คุ้นหู รวมถึงการเขียนชื่อเมืองในไทยให้เป็นตัวอักษรโรมันให้ถูกต้อง วันนี้ชีวิตเราง่ายขึ้นด้วยแอปพลิเคชัน “ชื่อบ้านนามเมือง” ที่รวบรวมชื่อประเทศ เขตปกครอง ทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 9,000 แห่ง
แอปพลิเคชัน “ชื่อบ้านนามเมือง” เป็นหนึ่งใน “ราชบัณฑิตยฯ แอปพลิเคชัน” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานราชบัณฑิตยสภา และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งรวบรวมชื่อประเทศ เมือง และเขตปกครองต่างๆ ทั่วโลกกว่า 9,000 แห่ง
แอปพลิเคชัน “ชื่อบ้านนามเมือง” รวบรวมชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวงในต่างประเทศ แสดงชื่อเป็นภาษาต่างประเทศและชื่อที่เขียนเป็นภาษาไทย กว่า 1,500 แห่ง และชื่อเขตการปกครองในประเทศ แสดงชื่อเป็นภาษาไทยและชื่อที่เขียนโดยการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันกว่า 8,400 แห่ง
น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่าแอปพลิเคชันดังกล่าว เป็นการพัฒนาต่อเนื่องหลังการพัฒนาแอปพลิเคชัน “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔” และ “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ได้รับความสนใจและโหลดใช้งานจากประชาชนจำนวนมาก
“แอปพลิเคชันนี้มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องด้วยปัจจุบันมีภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจำนวนมากได้ติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเขียนชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครองต่างๆ มายังสำนักงานราชบัณฑิตยสภา” น.ส.กนกวลีกล่าวถึงความสำคัญและที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชัน
ด้าน ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ รองผู้อำนวยการเนคเทคกล่าวว่า เนคเทคได้มุ่งพัฒนางานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านภาษาธรรมชาติและความหมายมาอย่างต่อเนื่องเป็น เวลามากว่า 20 ปี และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภาในการพัฒนา “ราชบัณฑิตยฯ แอปพลิเคชัน” ที่นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการประยุกต์งานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านภาษาธรรมชาติและความหมายให้เกิดประโยชน์ต่อการบริการความรู้สู่ประชาชนที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ส่วน ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย เนคเทค กล่าวถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ชื่อบ้านนามเมือง” ว่า ผู้ใช้สามารถค้นข้อมูลจากคำไทยและคำต่างประเทศได้ทั้งตัวอักษรตั้งต้นหรือส่วนหนึ่งของคำ การค้นหาแสดงผล 2 แบบ คือ ชื่อประเทศ เมืองหลวง ดินแดน และเขตการปกครองในต่างประเทศ แสดงชื่อเป็นภาษาต่างประเทศและชื่อที่เขียนเป็นภาษาไทย
“ส่วนชื่อเขตการปกครองในประเทศ แสดงชื่อเป็นภาษาไทยและชื่อที่เขียนโดยการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน และบันทึกประวัติการค้นหาของผู้ใช้ด้วย แอปพลิเคชันนี้ทำให้ผู้ใช้เขียนชื่อประเทศ เมืองหลวง ดินแดน และเขตการปกครอง ที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา” ดร.เทพชัยอธิบายการใช้งาน
ผู้สนใจแอปพลิเคชันชื่อบ้านนามเมืองสามารถดาวน์โหลดใช้งานบนสมาร์ทโฟนทั้งระบบแอนดรอยด์ (Android) และระบบไอโอเอส (iOS) เวอร์ชัน 8 ขึ้นไป โดยค้นคำว่า ราชบัณฑิตยสภา, Royal Society หรือ ชื่อบ้านนามเมือง