ราชบัณฑิตยสภา ตอบข้อสงสัย การใช้คำ “สวรรคาลัย” หมายถึงตาย ตามพจนานุกรม ชี้ ความหมาย “เสด็จไปสู่สวรรค” เป็นการแปลตรงตัว แนะให้ใช้ “เสด็จสู่สวรรคาลัย” ไม่ต้อง มี “ส่งเสด็จ” นำหน้า
วันนี้ (14 ต.ค.) เฟซบุ๊กเพจ “ราชบัณฑิตยสภา” ได้โพสต์รูปภาพและข้อความตอบข้อสงสัยของประชาชน 2 เรื่อง คือ ราชาศัพท์ “สวรรคต” และการใช้วลี “เสด็จสู่สวรรคาลัย” โดย กรณีราชาศัพท์ “สวรรคต” สำนักงานราชบัณฑิตยสภาตอบข้อสงสัยว่า การใช้คำราชาศัพท์ของคำว่า “ตาย” คณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้คำราชาศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดทำไว้ ดังนี้
สวรรคต, เสด็จสวรรคต (สะ-หวัน-คต), (สะ-เด็ด-สะ-หวัน-คต) ใช้แก่ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าที่ทรงพระเศวตฉัตร 7 ชั้น
ทิวงคต , เสด็จทิวงคต ใช้แก่ พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าที่ได้รับการเฉลิมพระยศพิเศษ
สิ้นพระชนม์ ใช้แก่ พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า จนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า และสมเด็จพระสังฆราช
ถึงชีพิตักษัย , สิ้นชีพตักษัย ใช้แก่ พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า
สำหรับการใช้วลี “เสด็จสู่สวรรคาลัย” สำนักงานราชบัณฑิตยสภาตอบข้อสงสัยว่า ควรต้องมีคำว่า “ส่งเสด็จ” ด้วยหรือไม่ ในเรื่องนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้เคยให้ข้อมูลความหมายวลีดังกล่าวเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ว่า
คำว่า “สวรรคาลัย” มีความหมายตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑตยสถาน พ.ศ. 2542 (ปัจจุบันใช้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554) คือ เป็นคำกิริยา หมายความว่า ตาย (ใช้แก่เจ้านายชั้นสูง) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการส่งเสด็จไปสู่สวรรค์ ทำให้การใช้คำว่า สวรรคาลัย เป็นการสื่อความหมายไม่ถูกต้องนั้นเป็นความเข้าใจที่เกิดจากการแปลตรงตามรูปศัพท์
โดยแท้จริงแล้วคำว่า “สวรรคาลัย” มาจากคำว่า “สวรรค” (สะ-หวัน-คะ) และ “อาลัย” ซึ่งคำว่า “สวรรค, สวรรค์” เป็นคำนาม หมายถึง โลกของเทวดา, เมืองฟ้า คำว่า “อาลัย” เป็นคำนาม มีความหมายว่าที่อยู่ ที่พัก ดังนั้น วลี “สู่สวรรคาลัย” จึงหมายถึง สู่ที่อยู่ในสวรรค์ สู่ที่พักในสวรรค์ ความหมายรวม ๆ ก็คือ สู่สวรรค์ วลี “เสด็จไปสู่สวรรคาลัย” จึงสื่อความหมายได้ว่า (พระองค์) เสด็จสู่สวรรค์ หรือ (พระองค์) เสด็จสู่สรวงสวรรค์
อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจของประชาชนทั่วไปนั้นเข้าใจว่า “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” หมายถึงส่งเสด็จ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปสู่สรวงสวรรค์ แต่คำถามมีอยู่ว่า ใช้ได้หรือไม่
ในเรื่องนี้ได้มีการสอบถามความคิดเห็นของ พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี ประธานคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ราชาศัพท์แห่งราชบัณฑิตยสถาน ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต และที่ปรึกษาคณะกรรมการ และ อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ รองประธานคณะกรรมการ มีความเห็นพ้องกันว่า พระองค์ทรงมีบุญญาบารมีที่จะเสด็จไปสู่สรวงสวรรค์ด้วยพระองค์เอง
ทั้งนี้ หากใช้คำว่า “ส่งเสด็จ” นำหน้าวลี “สู่สวรรคาลัย” อาจทำให้สื่อความหมายได้ว่าประชาชนเป็นผู้ส่งเสด็จพระองค์ไปสู่สรวงสวรรค์
ดังนั้น หากลดหรือละการใช้คำว่า “ส่ง” ออกไปเหลือ “เสด็จสู่สวรรคาลัย” หรือใช้คำว่า “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย” ก็จะทำให้ถ้อยคำดูสวยงามและสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่าคำว่า “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย”
ตัวอย่าง การใช้ถ้อยคำเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ
สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า ...........................
เสด็จสู่สวรรคาลัย ผองผสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์ ข้าพระพุทธเจ้า .........................
ปวงพสกนิกรชาวไทยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์ ข้าพระพุทธเจ้า .........................
ปวงประชาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า .........................
เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย พระมหากรุณาธิคุณจารึกในใจไทยชั่วกาล ข้าพระพุทธเจ้า ........................
สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ น้อมศิระกราน กราบแทบพระยุคลบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า ..............................
พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า ...........................
หลังคำว่า ข้าพระพุทธเจ้า ให้ระบุชื่อบุคคล คณะบุคคล และหน่วยงาน