ราคาข้าวเปลือกตกต่ำจนน่าตกใจเหลือเพียงกิโลกรัมละ 5-6 บาท หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกถูกกดราคาคือ “ความชื้น” ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่า นักวิจัยไทยได้พัฒนาเครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกสำหรับใช้งานระดับเกษตรกร
สำหรับความชื้นในข้าวเปลือกนั้นทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพเร็ว เมล็ดเกิดรอยร้าวภายในก่อนสีเป็นข้าววสาร และความชื้นยังทำให้คุณภาพการสีต่ำ เกิดกลิ่นสาบ เมล็ดมีสีเหลืองคล้ำ และแมลงที่ติดมากับเมล็ดเจริญเติบโตและขยายพันธุ์รวดเร็ว
ปัญหาข้าวเปลือกมีความชื้นสูงที่มักพบในการเก็บเกี่ยวที่เผชิญฝน และชาวนาจำนวนไม่น้อยขาดพื้นที่ในการตากข้าวเพื่อลดความชื้น ดังนั้น การใช้เครื่องลดความชื้นจึงเป็นอีกทางออก แต่ส่วนใหญ่เครื่องจักรเหล่านั้นก็มีราคาสูงสำหรับชาวนาที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตอื่นๆ
ทั้งนี้ ทีมพัฒนาจากฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกสำหรับใช้งานระดับเกษตรกร โดยมีหลักการออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ประหยัดพลังงาน และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง เพื่อให้ได้ข้าวเปลือกที่มีคุณภาพ
ส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกระดับเกษตรกร ที่ทีมพัฒนาของ วว.ผลิตขึ้นมานั้น มี 3 สำคัญ คือ
1.“ชุดกระจายลมร้อน” ติดตั้งอยู่บริเวณส่วนล่าง ออกแบบโดยใช้หลักการของไซโคลน ทำให้เกิดกระแสลมหมุนวน ส่งผลให้ลมร้อนที่ไหลออกจากห้องกระจายลม มีความสม่ำเสมอ
2.“ถังบรรจุข้าวเปลือก” ติดตั้งอยู่บริเวณส่วนบน มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก บริเวณส่วนล่างติดตั้งตะแกรงทำหน้าที่รองรับข้าวเปลือก และปล่อยให้ลมร้อนไหลผ่านชั้นข้าวเปลือก
3.“ชุดใบกวน” ทำหน้าที่กลับกองข้าวเปลือก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความชื้นข้าวเปลือก ขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 1 แรงม้า
การทำงานของเครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกเริ่มจากบรรจุข้าวเปลือกลงในถังบรรจุ จากนั้นเปิดชุดกระจายลมร้อนและชุดใบกวนตามลำดับ โดยเครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกระดับเกษตรกรสามารถลดความชื้นข้าวเปลือกจากค่าความชื้นเริ่มต้น 20% เหลือ 14% โดยใช้เวลา 3 ชั่วโมง
เครื่องลดความชื้นชาวเปลือกระดับเกษตรกรนี้สามารถทำงานได้สูงสุดครั้งละ500 กิโลกรัม และมีกำลังผลิตสูงสุดต่อวัน 2 ตัน ส่วนพลังงานที่ใช้เป็นพลังงานความร้อนจากก๊าซเอลพีจี ซึ่งนอกจากอบไล่ความชื้นข้าวเปลือกแล้ว ยังนำไปใช้อบลดความชื้นธัญพืชหรือสมุนไพรอื่นๆ ได้อีก เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ข้าวโพด กาแฟ ขิง ข่า ขมิ้น
ชาวนาหรือผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. โทร. 0 2577 9300 และ 0 2577 9000 หรือ E-mail : tistr@tistr.or.th
นอกจากความพยายามช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังมีแนวคิดในการช่วยเหลือชาวนาจากราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำด้วยแนวทางการตลาดแบบใหม่ที่อาศัยช่องทางกระจายข้าวสู่ผู้บริโภคผ่าน “ลูกชาวนา” แทนช่องทางของพ่อค้าคนกลาง ผู้สนใจแนวคิดดังกล่าวติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Decharut Sukkumnoed)