เชฟรอน และ สวทช. เตรียมจัดงาน “Bangkok Mini Maker Faire ปี 2 ทำของมาอวด” มุ่งส่งเสริมสังคมแห่งการสร้างสรรค์และนวัตกรรมด้วยวัฒนธรรมเมกเกอร์
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย สานต่อการสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมวัฒนธรรมทำเองในสังคมไทย เตรียมจัดงาน “Bangkok Mini Maker Faire” มหกรรมแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ของ “เมกเกอร์” หรือผู้ที่ชอบสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วยตนเองต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในระหว่างวันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน 2559 ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา ตั้งแต่เวลา 14.00 – 21.00 น. โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีตลอดงาน
กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ด้วยยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ‘เมกเกอร์’ หรือนักสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายดังกล่าว
“ทาง สวทช. จึงได้รับร่วมกับเชฟรอนประเทศไทยในโครงการ ‘Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ เพื่อส่งเสริมและผลักดันวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire มหกรรมแสดงผลงานของเหล่าเมกเกอร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก มีเมกเกอร์กว่า 100 คน จากทั่วประเทศร่วมแสดงผลงาน และมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 4,000 คน เพื่อต่อยอดความสำเร็จและผลักดันให้วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น”
“ในปีนี้เราจะจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire เป็นปีที่สอง เพื่อเปิดโอกาสให้เมกเกอร์จากทั่วประเทศได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงาน ตลอดจนให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้ทำความรู้จักกับเมกเกอร์ และเกิดแรงบันดาลใจในการคิด ประดิษฐ์ และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป”
ด้าน หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “การจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire เป็นหนึ่งกิจกรรมสำคัญของโครงการ ’Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็ม (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ทั้งในระบบการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจที่จะศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็ม อันเป็นรากฐานในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
“การจัดงานในปีแรก ถือเป็นเวทีที่ช่วยให้เกิดการรวมตัวที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นของกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย หลังงานก็เกิดมีงานพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ของเมกเกอร์เพิ่มมากขึ้น เมกเกอร์จากต่างประเทศได้รู้จักกับเมกเกอร์ไทยมากขึ้น จึงถือเป็นการปักหมุดประเทศไทยลงในแผนที่ของเมกเกอร์โลกเป็นครั้งแรก ในปีนี้เราจึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมชมงาน ซึ่งจะมีทั้งเวิร์กช็อป การแสดงผลงาน และกิจกรรมสนุกๆ มากมายที่ผู้เข้าร่วมงานทุกช่วงวัยจะได้ความรู้และได้สนุกกับวัฒนธรรมทำเอง”
ส่วน กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Fab Café พื้นที่สร้างสรรค์งานของเมกเกอร์ หรือ เมกเกอร์สเปซ กล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตของวัฒนธรรมเมกเกอร์ว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเมกเกอร์สเปซเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนว่า วัฒนธรรมเมกเกอร์ได้รับความสนใจจากคนไทยในวงกว้างยิ่งขึ้น เช่น ในกลุ่มผู้ชอบทำงานช่างหรืองานฝีมือมีการนำเครื่องมือดิจิตัลที่เมกเกอร์นิยมใช้ เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องตัดเลเซอร์ มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือผู้ปกครองที่ส่งเสริมให้บุตรหลานมาทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่เมกเกอร์สเปซ เนื่องจากเห็นว่าการเป็นเมกเกอร์สามารถสร้างเสริมทักษะที่สามารถนำไปใช้กับการศึกษาและการประกอบอาชีพในอนาคตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านการประดิษฐ์คิดค้น และความคิดสร้างสรรค์
ด้าน ธณพล กิจมุติ เมกเกอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมเกมส์คอมพิวเตอร์ เจ้าของผลงาน หุ่นยนต์วาดรูป กล่าวถึงการจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ว่า ความสนใจในวัฒนธรรมเมกเกอร์ในสังคมไทยยังอยู่ในวงจำกัด เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าเมกเกอร์ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูงจึงเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้ว งานประดิษฐ์ของเมกเกอร์มีหลากหลายตั้งแต่งานผ้า กระดาษ เซรามิกส์ ไม้ ไปจนถึงงานไฮเทค
“เราทุกคนสามารถเป็นเมกเกอร์ได้ ขอเพียงแค่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แล้วลงมือสร้างผลงานออกมา ผมเชื่อว่างาน Bangkok Mini Maker Faire จะช่วยให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมเมกเกอร์ ได้พบปะพูดคุยกับเหล่าเมกเกอร์ และเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง ดังที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก”
ด.ช.ฟังธรรม ศิลปะภักดี หรือ น้องปูซาน อายุ 14 ปี นักเรียนทุนโครงการสมาร์ทเอ็นจิเนียร์ โรงเรียนทิวไผ่งาม กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปและแลกเปลี่ยนความรู้ เคล็ดลับ และประสบการณ์กับพี่ๆ ชาวเมกเกอร์ภายในงาน Bangkok Mini Maker Faire ทำให้เกิดไอเดียและแรงบันดาลใจที่นำไปพัฒนาผลงานของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ผมสามารถซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าและประดิษฐ์สิ่งของขึ้นมาใช้เองได้ ปีนี้จึงเอาผลงานตัวเองมาให้ชมกัน แล้วก็จะลงแข่งหุ่นยนต์เห่ยเพื่อชิงแชมป์อีกครั้งหนึ่งด้วย
“เมกเกอร์จะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เราเห็นการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพมากมาย ต่อไปโลกเราจะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เยาวชนคนรุ่นใหม่เองก็ต้องปรับตัวให้มีทักษะเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 นี้” หทัยรัตน์กล่าวสรุป
งาน Bangkok Mini Maker Faire ปีที่สอง จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา ระหว่างเวลา 14.00 – 21.00 น. ภายในงานจะจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของเมกเกอร์ จากทั่วประเทศไทย พร้อมด้วยกิจกรรมเวิร์กชอป สัมมนา การแข่งขันหุ่นยนต์ และ การโชว์ขบวนพาเหรดแห่งแสงไฟและเสียงดนตรี นอกจากนั้นยังจัดแสดงผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest การประกวดนวัตกรรมสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุของนักเรียนระดับสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา พร้อมประกาศผลและมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศอีกด้วย
###
เกี่ยวกับโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”
โครงการระยะยาว 5 ปี ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ