xs
xsm
sm
md
lg

ผลงานตรวจจับการล้มผู้สูงวัยคว้ารางวัลชนะเลิศ “เมกเกอร์แฟร์ ปี 2”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลงานชนะเลิศระดับอาชีวะ “ไม้เท้าแจ้งเตือนการล้มสำหรับผู้สูงอายุ” ของทีม สมิหลา ทีมA จากวิทยาลัยสารพัดช่างสงขลา
เชฟรอน ผนึกกำลัง สวทช.และพันธมิตร จัดเมกเกอร์แฟร์ ปี 2 ต่อยอดความสำเร็จวัฒนธรรมแห่งการประดิษฐ์และสร้างสรรค์ วางรากฐานประเทศไทย 4.0 ทั้งสายสามัญและสายอาชีวะส่งผลงานตรวจจับการล้มและแจ้งเตือนคว้ารางวัลชนะเลิศ พร้อมโอกาสดูงานที่อังกฤษ

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และพันธมิตร จัดงานมหกรรมแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ “Bangkok Mini Maker Faire ปี 2” ทำของมาอวด” รวมพล “เมกเกอร์” หรือนักสร้างสรรค์และนักประดิษฐ์ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศกว่าร้อยชีวิต เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อันเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 22 มกราคม ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีตลอดงาน ตั้งแต่เวลา 13.00 – 20.00 น.

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “จากความสำเร็จของการจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ครั้งแรก ในปี 2558 ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีเกินความคาดหมาย ด้วยจำนวนผู้ร่วมงานกว่า 4,000 คน เป็นการเปิดโอกาสให้เมกเกอร์จากทั่วประเทศได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และนำผลงานของตนเองมาจัดแสดง นอกจากนี้ยังได้สร้างการรับรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้กับสังคมไทยในวงกว้าง และถือเป็นการปักหมุดประเทศไทยลงในแผนที่ของเมกเกอร์โลกเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จดังกล่าว

“ในปีนี้เราได้ร่วมมือกับ สวทช. และพันธมิตร จัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้นเป็นปีที่สอง โดยมุ่งหวังให้วัฒนธรรมเมกเกอร์เข้ามาเป็นหนึ่งในรากฐานการพัฒนาสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการนำพาประเทศไปสู่สังคมเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม”

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยแลนด์สร้างมูลค่าในสินค้า บริการ มีความสามารถทางการค้าและเข้าถึงตลาดในประเทศ อาเซียน และตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน อันจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโต ทั้งยังสร้างรากฐานวัฒนธรรมเมกเกอร์จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดแนวคิดสู่การทำสตาร์ทอัพในประเทศไทยได้ในอนาคต

“การจัดงานเมกเกอร์แฟร์ จึงเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนขบวนการเมกเกอร์ (Maker Movement) นอกจากได้สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเมกเกอร์ ที่ไม่ได้เป็นเพียงงานอดิเรกเหมือนเดิมอีกต่อไป ยังเป็นการส่งเสริมสังคมเมกเกอร์ให้มีความแข็งแกร่ง นับเป็นการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง”

สำหรับงาน Bangkok Mini Maker Faire ปี 2 จัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของเมกเกอร์จากทั่วประเทศไทย กว่า 60 บูธ พร้อมด้วยกิจกรรมน่าสนใจเพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในวัฒนธรรมเมกเกอร์ อาทิ เวิร์กชอปสำหรับผู้รักการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ทั้งการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ การทำงานศิลปะบนผืนผ้า ไปจนถึงการประกอบโดรน การแข่งขันหุ่นยนต์เห่ย การโชว์ขบวนพาเหรดแห่งแสงไฟและเสียงดนตรี

นอกจากนั้น ยังมีการประกาศผลการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับเมกเกอร์ ในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ในรายการ “Enjoy Sciences: Young Makers Contest” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต โดยในครั้งนี้ได้กำหนดหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ” ผู้ชนะจะได้รับรางวัลทุนการศึกษา ตลอดจนทริปเข้าร่วมงาน Maker Faire ในสหราชอาณาจักรและประเทศญี่ปุ่น รวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งการประกวดในปีนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. มีความยินดีที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Young Makers Contest เพราะการกระตุ้นและส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของ อพวช. ซึ่งการส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ที่แข็งแกร่งในสังคมจะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาขีดความสามารถดังกล่าวได้อย่างมั่นคง

“ในปัจจุบัน อพวช. ได้ดำเนินการสนับสนุนวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดแสดงผลงานของเมกเกอร์ รวมถึงการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์งานของเมกเกอร์ หรือ เมกเกอร์สเปซ ณ พิพิธภัณฑ์ในสังกัด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์นวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้มีความทัดเทียมกัน”

ดร.มงคลชัย สมอุดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า กำลังคนอาชีวศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งต่อภาคการผลิต ภาคบริการและการเป็นผู้ประกอบการ การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้นั้น จะต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาวิชาชีพ การส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวศึกษาเข้าสู่วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นอีกหนึ่งในแนวทางการพัฒนากำลังคนให้สอดรับกับความต้องการกำลังคนของประเทศซึ่งมีแนวโน้มความต้องการแรงงานที่สามารถสร้างนวัตกรรมมาแทนที่แรงงานฝีมือ

“เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับโครงการ Chevron Enjoy Science และหวังจะได้เห็นผลสัมฤทธิ์ คือกำลังคนที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป”

นายอาทิตย์ กล่าวสรุปอีกว่า การส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการพัฒนาพลังคน ภายใต้โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ที่มุ่งส่งเสริมแรงบันดาลใจและสร้างความสนใจในการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม ทั้งในระบบการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เราเชื่อว่าการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศผ่านการพัฒนานวัตกรรมจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ให้สัมฤทธิ์ผล
ผลงานชนะเลิศ ประเภทสามัญ “ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุ โดยใช้กล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ  3 มิติ ตรวจจับการล้มพร้อมแจ้งเตือน”ของทีม BME Innovation KMITL Team2 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
///////////////////////// ประกาศผล /////////////////////////

การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับเมกเกอร์ ในระดับนักเรียนนักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ในรายการ “Enjoy Sciences: Young Makers Contest” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Sciences: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ”

รางวัล ประเภทสายสามัญ

· รางวัลชนะเลิศ (เงินรางวัล 400,000 บาท พร้อมดูงาน ที่สหราชอาณาจักร)
ได้แก่ “ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุ โดยใช้กล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ ตรวจจับการล้มพร้อมแจ้งเตือน” (The fall surveillance system by 3D non-contact senser) ของทีม BME Innovation KMITL Team2 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

· รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 (เงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น)
ได้แก่ “หุ่นเคลื่อนที่ดูแลผู้สูงอายุช่วยประคองคนเดิน” ของทีม No Comment จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

· รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (เงินรางวัล 30,000 บาท)
ได้แก่ “การออกแบบและพัฒนาระบบช่วยกำลังสามล้อถีบ สำหรับเด็กพิการทางสมอง” ของทีม AOFNUS มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

· รางวัล POPPULAR VOTE (เงินรางวัล 10,000 บาท)
ได้แก่ “The Flushing UP” ของทีม Rajinian 112.5 จากโรงเรียนราชินี

· รางวัลชมเชย 2 รางวัล (รางวัลละ 10,000 บาท) ได้แก่
ผลงาน “PhysiotherapyWheelchair” ของทีม KPSP01 จากโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย จ.สุพรรณบุรี
และ ผลงาน “The Flushing UP” ของทีม Rajinian 112.5 จากโรงเรียนราชินี

รางวัล ประเภทสายอาชีวะ

· รางวัลชนะเลิศ (เงินรางวัล 400,000 บาท พร้อมดูงาน ที่สหราชอาณาจักร)
ได้แก่ “ไม้เท้าแจ้งเตือนการล้มสำหรับผู้สูงอายุ” ของทีม สมิหลา ทีมA จากวิทยาลัยสารพัดช่างสงขลา

· รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 (เงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น)
ได้แก่ “อุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) สำหรับช่วยลุกยืน ของผู้สูงอายุและผู้พิการ” ของทีม เมืองหอยใหญ่ จากวิทยาลัยสุราษฏร์ธานี

· รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (เงินรางวัล 30,000 บาท)
ได้แก่ “เก้าอี้ช่วยบริหาร สำหรับโรคข้อเข้าเสื่อม และอักเสบพร้อมระบบประคบร้อน” ของทีม ดอกบัว1 จากวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี

· รางวัล POPPULAR VOTE (เงินรางวัล 10,000 บาท)
ได้แก่ “HEMISPHERE” ของทีม TONY CISAT จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยรราชมงคลล้านนา

· รางวัลชมเชย 2 รางวัล (รางวัลละ 10,000 บาท)
ผลงาน “ขากลเพื่อคนพิการ โดยใช้เทคนิคการจรูปแบบการเดิน” ของทีม “WALK WITH ME”
จากวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์
และ ผลงาน “อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ในการสระผมผู้ป่วยและผู้พิการ” ของทีม Young Inventors of SRTC จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฏร์ธานี






กำลังโหลดความคิดเห็น