เผยภาพสเก็ตช์ “ไดโนเสาร์” เจ้าของรอยเท้าขนาดขนาดมหึมาที่พบในทะเลทรายโกบี จากการร่วมสำรวจโดยนักวิจัยญี่ปุ่นและนักวิจัยมองโกเลีย ตรวจหาความเก่าแก่พบว่ารอยเท้าถูกประทับรอยไว้เมื่อ 70-90 ล้านปีก่อน
เอเอฟพีเผยภาพร่างไดโนเสาร์ที่ทิ้งรอยเท้าไว้เมื่อ 70-90ล้านปีก่อนในบริเวณที่กลายเป็นทะเลทรายโกบี (Gobi Desert) ในปัจจุบัน โดยภาพดังกล่าวเพิ่งเผยแพร่เมื่อ 30 ก.ย.2016โดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โอกายามา (Okayama University of Science) ในญี่ปุ่นและสถาบันวิทยาศาสตร์มองโกเลีย (Mongolian Academy of Science) ซึ่งร่วมกันสำรวจพบรอยเท้าไดโนเสาร์ดังกล่าว
จากการวิเคราะห์อายุพบว่ารอยเท้าดังกล่าวถูกทิ้งไว้บนชั้นดินของโลกที่มีอายุ 70-90 ล้านปีมาแล้ว และภาพจากเอเอฟพียังเผยภาพ ศ.ชิโนบุ อิชิกากิ (Prof.Shinobu Ishigaki) หนึ่งในทีมสำรวจจากมหาวิทยาลัยโอกายามา นอนถ่ายคู่กับรอยเท้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา
ทีมวิจัยระบุว่า รอยเท้าดังกล่าวเป็นหนึ่งในรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีบันทึกมา และเป็นหลักฐานใหม่ของสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ที่เคยอาศัยอยู่บนโลกหลายสิบล้านปีก่อน จากการวัดรอยเท้าดังกล่าวมีความยาว 106 เซ็นติเมตร และกว้าง 77 เซ็นติเมตร
รอยเท้ายักษ์ของไดโนเสาร์เป็นหนึ่งในจำนวนรอยเท้ามากมายที่ถูกพบในทะเลทรายที่กว้างใหญ่ไพศาลของมองโกเลียจากการสำรวจเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา รอยเท้าดังกล่าวถูกหล่อขึ้นโดยธรรมชาติจากการที่เม็ดทรายปลิวเข้าไปทับถมในรอยเท้าที่สัตว์ร่่างยักษ์ทิ้งไว้เมื่อครั้งเดินลงบนพื้นโคลน
นักวิจัยคาดว่ารอยเท้าดังกล่าวเป้นของ “ไททาโนซอร์” (Titanosaur) ไดโนเสาร์คอยาว ซึ่งมีตัวยาวได้ถึง 30 เมตร และสูงได้ถึง 20 เมตร
ด้านมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โอกายามาแถลงว่า ตัวอย่างรอยเท้าที่ค้นพบนั้นหาได้ยาก เพราะเป็นรอยเท้ายาวกว่าเมตรที่ถูกรักษาไว้อย่างดี อีกทั้งยังมีรอยพิมพ์ของกรงเล็บอยู่ด้วย