xs
xsm
sm
md
lg

จีนส่ง “เทียนกง 2” สู่อวกาศสำเร็จ ความฝัน “สถานีอวกาศ” ใกล้เป็นจริง (ชมภาพ/คลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วินาทีจรวดขนส่งฉังเจิง 2เอฟ ซึ่งบรรทุกห้องปฏิบัติการทางอวกาศ เทียนกง 2 ถูกยิงออกจากฐานปล่อยในศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วฉวน วันที่ 15 ก.ย. 2559 (ภาพ รอยเตอร์ส)
เอเจนซี - จีนเดินหน้าไล่ล่าความปรารถนาสร้าง “สถานีอวกาศ” ของตัวเอง ด้วยความสำเร็จในการปล่อยห้องปฏิบัติการทางอวกาศ “เทียนกง 2” ขึ้นสู่วงโคจรในคืนวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) ที่ผ่านมา

สถานีโทรทัศน์กลางแห่งชาติจีนรายงานสดเมื่อคืนวานนี้ว่า จรวดขนส่งฉังเจิง 2เอฟ (Long March 2F) ซึ่งบรรทุกห้องปฏิบัติการฯ เทียนกง 2 ถูกยิงออกจากฐานปล่อยในศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วฉวน กลางทะเลทรายโกบีทางจีนตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อเวลา 22.04 น. ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนจะเข้าสู่วงโคจรในราวสิบนาทีถัดมา

เทียนกง 2 ซึ่งมีความยาว 14 เมตร และน้ำหนัก 8,600 กิโลกรัม ถือเป็นห้องปฏิบัติการทางอวกาศลำดับที่สองของจีน ต่อจากเทียนกง 1 ที่ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี 2554 โดยคำว่าเทียนกง (天宫) เป็นภาษาจีนกลาง หมายถึง “ปราสาทบนสวรรค์”

ทางการจีนได้เชื้อเชิญกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย ปากีสถาน และองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) มาร่วมชมการปล่อยจรวดในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในอีกด้วย

ขณะที่เดือนหน้า (ต.ค.) จีนจะส่งยานอวกาศเสินโจว 11 (Shenzhou 11) พร้อมนักบินอวกาศ 2 คนขึ้นไปปฏิบัติภารกิจมนุษย์อวกาศครั้งแรกในรอบสามปี โดยจะใช้เวลา 30 วัน ทดลองงานวิจัยมากกว่า 40 ชิ้น รวมถึงโครงการวิทยาศาสตร์อวกาศ 3 โครงการ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันของโรงเรียนมัธยมศึกษาบนเกาะฮ่องกงในปี 2558

ข้อมูลจากสภาพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮ่องกง (Productivity Council) ระบุว่า โครงการจากโรงเรียน Shun Tak Fraternal Association Yung Yau College จะศึกษาเมมเบรนแบบมีรูพรุน (porous membranes) ในสภาวะไร้น้ำหนัก

ส่วนโครงการจากโรงเรียน Christian and Missionary Alliance Sun Kei จะศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตัวไหมในอวกาศ และโครงการจากโรงเรียน Po Leung Kuk Laws Foundation College จะศึกษาการแกว่งของลูกตุ้มคู่

รายงานข่าวระบุว่า ยานอวกาศเสินโจว 11 จะเชื่อมต่อกับห้องปฏิบัติการฯ เทียนกง 2 ที่ระดับความสูง 393 กิโลเมตร โดยก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์บนโลกจะทดสอบระบบพลังงานและการสื่อสารของเทียนกง 2 เพื่อเตรียมต้อนรับนักบินอวกาศ

นอกจากนั้นห้องปฏิบัติการฯ เทียนกง 2 จะยังเชื่อมต่อกับยานขนส่ง “เทียนโจว” (Tianzhou) ในช่วงต้นปีหน้า เพื่อเติมเชื้อเพลิงกลางอวกาศก่อนอายุการดำเนินงานระยะเวลาสองปีของมันจะสิ้นสุดลง ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จีนจะมีสถานีอวกาศระยะยาวสำหรับใช้งานจนถึงปี 2565 พร้อมโมดูลแกนกลางที่จะถูกส่งขึ้นไปในปี 2561
จรวดขนส่งฉังเจิง 2เอฟ พร้อมห้องปฏิบัติการทางอวกาศเทียนกง 2 ขณะเตรียมยิงออกจากฐานปล่อย (ภาพ รอยเตอร์ส)
(ภาพ ซินหวา)
(ภาพ ซินหวา)
(ภาพ ซินหวา)
(ภาพ ซินหวา)
ภาพกราฟิคแสดงขั้นตอนของภารกิจเทียนกง 2 (ภาพ ซินหวา)
(ภาพ ซินหวา)
(ภาพ ซินหวา)
(ภาพ ซินหวา)
(ภาพ ซินหวา)






กำลังโหลดความคิดเห็น