จุฬาฯ ฉลอง 100 ปีจุฬาฯ โชว์สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่พบในประเทศไทยร่วม 100 ค้นพบ อุดมด้วยไส้เดือน กิ้งกือ ตะขาบ หอยทาก พร้อมเดินหน้าสานความร่วมมือเพื่อนบ้านอาเซียนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สก.) และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกันแถลงข่าว “๑๐๐ ปี จุฬาฯ ๑๐๐ การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย และความร่วมมืออาเซียนเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขุมทรัพย์ชีวภาพแห่งภูมิภาค” เมื่อวันที่ 29 ก.ย.59 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล
ภายในการแถลงดังกล่าวมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีฯ พร้อมด้วย รศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. ท่านบุญไช จันทร์สีนา (Mr. Bounxay Chansina) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย ศ.ดร.ธีรยุทธ์ วิไลวัลย์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศ.ดร. สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าว
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทแมติกส์ของสัตว์ กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย อาจารย์ นักวิจัย และนิสิตแห่งหน่วยปฏิบัติการซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้ร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัยพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะงานทางอนุกรมวิธานที่เป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็น “ขุมทรัพย์แห่งชาติ” ที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงการอนุรักษ์ และฐานสำคัญของ “ธุรกิจชีวภาพ” (Bio-economy)
ตลอดระยะเวลา 30 ปีของการวิจัยนั้น ศ.ดร.สมศักดิ์ระบุว่า หน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ ได้ผลิตดุษฎีบัณฑิตไปแล้วถึง 17 คน และอีก 1 คนจากสปป. ลาว ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา มหาบัณฑิต 14 คน นักวิจัยหลังปริญญาเอก 6 คน และอีก 2 คน จากพม่าและมาเลเซีย มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิจัยระดับนานาชาติในระดับแนวหน้าทางด้านอนุกรมวิธานเกือบ 160 เรื่อง ระดับชาติมากกว่า 30 เรื่อง อีกทั้งยังนำเสนอผลงานในการประชุมระดับนานาชาติมากกว่า 150 เรื่อง ระดับชาติมากกว่า 50 เรื่อง มีการเขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ 5 เล่มและภาษาไทย 7 เล่ม
“งานวิจัยที่ผ่านมาเป็นงานทางภาคสนามคือการเก็บรวบรวมตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทั่วประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงในอาเซียนได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน เมียนมาร์ และประเทศญี่ปุ่น ตัวอย่างทั้งหมดได้เก็บรวบรวมไว้ตามมาตรฐานของตัวอย่างอ้างอิง ณ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสิ่งมีชีวิตที่มีการค้นพบว่าเป็นชนิดใหม่ที่มีรายงานครั้งแรกของโลก และตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ตัวอย่างต้นแบบอันได้แก่ holotype และ paratypes และตัวอย่างอื่นๆ จะเก็บรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่จุฬาฯ เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ใช้เป็นตัวอย่างเพื่อการวิจัยของนักวิจัยไทยและชาวต่างประเทศ และยังได้ส่งไปเก็บไว้ยังพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง” ศ.ดร.สมศักดิ์ระบุ
ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ได้รับทุนสนับสนุนให้ดำเนินงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 โดยมี ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เป็นหัวหน้าหน่วย ซึ่งได้เริ่มศึกษาวิจัยอนุกรมวิธานของหอยทากบกของไทยและประเทศใกล้เคียง ในช่วงเวลาที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2538 ทุนวิจัย “เมธีวิจัย สกว.” เป็นทุนวิจัยแรกที่สนับสนุนโครงการ “อนุกรมวิธานหอยทากบกในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยชนิดพันธุ์ของหอยทากบกในระบบนิเวศต่างๆ เน้นเขาหินปูน
“งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เกิดเครือข่ายวิจัยทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นการเปิดการวิจัยครั้งแรกในระดับนานาชาติ และการผลิตดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต ได้มีการค้นพบสายพันธุ์หอยทากมากมายหลายร้อยสายพันธุ์ในประเทศ และต่างประเทศ และมากกว่า 70 สายพันธุ์ที่พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก” หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทแมติกส์ของสัตว์กล่าว และจากผลงานดังกล่าวจึงทำให้ได้รับทุนจาก DARWIN INITIATIVE จากสหราชอาณาจักร เพื่อฝึกนักวิจัยอาเซียนและเอเชียใต้ร่วมกับนักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (The Natural History Museum) ในลอนดอนด้วย
เมื่อปี 2545ได้ขยายงานวิจัยด้วยโครงการวิจัย “ความหลากหลายทางชีวภาพของกิ้งกือ ไส้เดือน และตะขาบ” ได้ค้นพบสายพันธุ์ใหม่และสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ จนมีผลงานตีพิมพ์และได้รับรางวัลต่างๆ จำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้นยังเกิดความร่วมมือกับนักวิจัยในอาเซียน เพื่อการศึกษาสายพันธุ์ของทรัพยากรชีวภาพของภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์ทางการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกถึง 245 ชนิด แบ่งเป็นหอยทากบก 121 ชนิด กิ้งกือ 76 ชนิด ไส้เดือน 45 ชนิด และตะขาบ 3 ชนิด
“ทำให้ภาพของความหลากหลายทางชีวภาพชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับการวิจัยและพัฒนาในเวลาต่อมา ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง SNAIL 8 ภายใต้บริษัท สยามสเนล (SIAM SNAIL) และการผลิตสายพันธุ์ไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ยืนยันถึงมูลค่ามหาศาลของความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ที่จะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างสูงให้แก่ประเทศได้หลุดพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และยิ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้ร่วมมือกันกับประเทศในอาเซียน” ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าว
ภายในงานแถลงข่าวยังได้นำเสนอสัตว์ที่ถูกค้นพบและนับเป็นจุดเด่นของประเทศ อีกทั้งยังเป็นชนิดใหม่ที่ไม่เคยรายงานมาก่อน ที่มีทั้งกิ้งกือ ไส้เดือน และตะขาบ ซึ่งนับเป็นผลงานวิจัยที่มีอยู่ในประเทศไทยแห่งเดียวเท่านั้น พร้อมนำเสนอตัวอย่างเด่นๆ เช่น กิ้งกือยักษ์ ไส้เดือนยักษ์ซึ่งนำเสนอพร้อม “ขุนหอคอย” ที่ไส้เดือนสร้างขึ้น ตะขาบน้ำตก หอยงวงท่อ หอยนวล หอยลดเปลือก หอยหอม กิ้งกือกระสุนพระรามสีทอง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าที่ได้จากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ด้วย
สำหรับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ไทยที่ค้นพบแล้วนั้น แบ่งเป็น
- “หอยทากบก” มากกว่า 574 ชนิด เป็นชนิดใหม่ 121 ชนิด 5 สกุลใหม่ และ 1 วงศ์ใหม่ แบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือหอยพื้นดิน หอยต้นไม้ หอยถ้ำ และหอยทากป่าชายเลน
- “ไส้เดือน” มากกว่า 80 ชนิด เป็นไส้เดือนชนิดใหม่ของโลกถึง 45 ชนิด นอกจากนี้ จากการศึกษาของทางหน่วยวิจัยพบว่า สามารถแบ่งไส้เดือนในประเทศไทยออกเป็น 4 ประเภทคือ ไส้เดือนดิน ไส้เดือนสะเทิน ไส้เดือนชายหาด และไส้เดือนจิ๋ว
- “กิ้งกือ” พบแล้ว 193 ชนิด เป็นชนิดใหม่ของโลกถึง 76ชนิด และตั้งสกุลใหม่ 5 สกุล แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ กิ้งกือกระบอก กิ้งกือหลังแบน และกิ้งกือกระสุน
- “ตะขาบ” พบแล้วทั้งสิ้น 47 ชนิด เป็นชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด อยู่ระหว่างการเสนอเป็นชนิดใหม่อีก 2 ชนิด แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ ตะขาบบ้าน ตะขาบดิน ตะขาบหิน และตะขาบขายาว