xs
xsm
sm
md
lg

“1ว+5ส” ผนึกกำลังพัฒนาการวิจัยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย
ตอน 3 - “1ว+5ส” ผนึกกำลังพัฒนาการวิจัยไทย

โดย ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพ10400

อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็พยายามที่จะจัดระบบการวิจัย สร้างกลไกการจัดการและประสานความร่วมมือของหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยทั้งที่มีอยู่แล้วและทั้งที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ให้เป็นระบบสนับสนุนการวิจัยที่มีประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนโดยมีสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นแกนนำระบบวิจัยที่เรียกว่า “1ว+5ส” นั่นคือ วช. + สกว., สวทช., สวก., สวรส., สวทน. เพื่อผนึกกำลังกันพัฒนาการวิจัยไทยให้ก้าวไกลตามวัตถุประสงค์ ระบบวิจัย “1ว+5ส” เป็นความหวังใหม่ของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง

3.องค์กรอิสระเพื่อการวิจัยและพัฒนา

ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายที่เกิดจากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยมุ่งหวังที่จะเป็น NICs แทนการพัฒนาและพึ่งพาภาคเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของประเทศไทยมาช้านาน นักวิชาการและผู้นำสังคมไทยในขณะนั้นเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศบนฐานความรู้และข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งต้องได้จากการวิจัยที่เข้มข้นต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้เป็นฐานการวางแผนนโยบายและการตัดสินใจที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่การวิจัยของไทยในสมัยนั้นต้องพึ่งอาจารย์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเป็นหลักซึ่งมักทำวิจัยไม่เต็มเวลาเพราะมีภาระงานหลายด้านทำให้ผลงานวิจัยที่ได้รับเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและการออกแบบสอบถาม แต่ไม่สามารถให้ข้อสรุปที่แนะแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน ดังนั้นผู้นำทางวิชาการและผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์จึงคิดจัดตั้งองค์กรอิสระระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่ไม่ใช่ราชการเพื่อดำเนินงานวิจัยเชิงนโยบายที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริงดังกรณีตัวอย่าง 2 องค์กรอิสระที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือ TDRI และ สทพ. ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่พอจะสรุปได้ดังนี้

3.1สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ผู้บริหารผู้นำทางวิชาการและรัฐบาลไทยในสมัยรัฐบาลของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นำโดย ดร. เสนาะ อุนากูลเห็นความสำคัญของการจัดตั้งสถาบันวิจัยเชิงนโยบายในระดับชาติเพื่อรวบรวมองค์ความรู้และรายละเอียดของข้อมูลที่สามารถใช้เป็นฐานการวิจัยต่อยอดได้อย่างต่อเนื่องและเป็นประโชน์ต่อประเทศ ดังนั้นในปี 2526คณะดำเนินการจัดตั้งสถาบันวิจัยฯจึงขอความช่วยเหลือเงินทุนสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา(Canadian International Development Agency-CIDA) เพื่อจัดตั้ง“สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย”(Thailand Development Research Institute-TDRI) (วันที่23 มีนาคม 2527)(tdri.or.th,มกราคม 2556) โดยมีฐานะเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ใช่หน่วยราชการ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและจดทะเบียนในรูปแบบของมูลนิธิ (เพื่อยกเว้นภาษี)โดยได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชน ได้แก่ หอการค้าไทย, สมาคมอุตสาหกรรมไทย, สมาคมธนาคารไทยและเงินอุดหนุนจำนวน 4.48 ล้านเหรียญแคนาดาจาก CIDA สำหรับการดำเนินงาน 5 ปีแรก (2537-2532)สถาบันฯใหม่มีสำนักงานชั่วคราวที่อาคารรัชภาคย์ ถนนอโศกและย้ายมาอยู่ที่อาคารถาวรที่ถนนรามคำแหง 39 จนถึงปัจจุบัน สถาบันTDRI มีบุคคลากรและนักวิชาการที่ดีมีคุณภาพที่สามารถดำเนินการวิจัยและบริหารจัดการองค์กรได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพสูงจึงสามารถสร้างผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องตรงไปตรงมาและมีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศเสมอมาจนถึงปัจจุบัน

3.2 สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (สทพ.)
ช่วงเวลาเดียวกับการจัดตั้งTDRI โดยการสนับสนุนช่วยเหลือจากองค์การ CIDA ของประเทศแคนาดา กลุ่มพัฒนาองค์กรเอกชนก็สนใจในการพัฒนาท้องถิ่นและเห็นความสำคัญของการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อรวบรวมความรู้ ภูมิปัญญา และเพื่อเป็นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้นำทางวิชาการจึงได้ประสานขอความช่วยเหลือจาก CIDA ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาท้องถิ่นไทย-แคนาดา(Local Development Assistant Program -LDAP) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในระดับท้องถิ่นที่ดำเนินการอยู่แล้วโดยองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) กลุ่มต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการและเพิ่มขีดความสามารถการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นและต่อประเทศไทยโดยรวมองค์กร LDAPนำโดย ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก และ ศาสตราจารย์นพ.ประเวศ วะสีได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก CIDA ในช่วง 5 ปีแรก (2527-2532)ในวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท (www.ldinet.org, มกราคม 2556)

อย่างไรก็ตามองค์กรในรูปแบบกองทุนยังขาดความคล่องตัว กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เห็นว่าน่าจะแปรรูปเป็นองค์กรอิสระที่สามารถบริหารจัดการวิจัยและพัฒนาได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จึงจัดตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Foundation - LDF) เพื่อความคล่องตัวและเป็นอิสระในการบริหารจัดการและการวิจัยที่มีคุณภาพ ต่อมาในปี 2534 องค์การ CIDA ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติและมูลนิธิอนุรักษ์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาร่วมกันจัดตั้ง“สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา”(สทพ.)(Local Development Institute-LDI) มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (2534-2537)โดยได้รับเงินอุดหนุนจำนวน7.78 ล้านเหรียญ จาก CIDA เพื่อทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนตลอดจนผลักดันนโยบายทั้งในแนวราบและแนวดิ่งเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ทันตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงจากภายในและภายนอกประเทศ สถาบันสทพ.ได้ส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในการจัดการทรัพยากร ดิน-น้ำ-ป่า และเกษตรกรรมทางเลือกจากฐานภูมิปัญญาชาวบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่นตลอดจนดำเนินงานด้านเศรษฐกิจชุมชนและตลาดทางเลือกจนเกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง

การดำเนินงานของ สทพ. ตลอดเวลา 7 ปี ก่อให้เกิดความต่อเนื่องมั่นคงและเจริญก้าวหน้ามาด้วยดีและมีผลงานวิจัยในระดับท้องถิ่นเป็นที่ยอมรับของประชาคมวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนจนทำให้ สทพ. เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และฉบับต่อ ๆ มารวมทั้งมีส่วนร่วมในการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 หลังวิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ส่งผลให้คนไทยในทุกระดับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยเฉพาะชุมชนที่อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดองค์กร สทพ. ก็ได้มีส่วนช่วยให้ชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนสามารถปรับตัวและฟื้นฟูขบวนการภาคประชาชนจนเกิดพลังในการปฏิรูปสังคมในทุกระดับกลับคืนสู่สภาพที่เข้มแข็งและเจริญเติบโตจนถึงทุกวันนี้  

จะเห็นได้ว่าการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่เริ่มต้นจากเงินทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนและจากองค์การระหว่างประเทศ ดังเช่นกรณี TDRI และ สทพ. ที่สามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ คล่องตัวและมีประสิทธิภาพจนเกิดมรรคเกิดผลอย่างดียิ่งเนื่องจากไม่มีคนจากภาครัฐและนักการเมืองเข้าไปมีอิทธิพลในการบริหารจัดการทำให้กระบวนการ “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่……”สามารถขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพจนได้ผลดีและมีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติจนเจริญงอกงามเป็น “….กอไผ่ที่ใหญ่โตตามธรรมชาติ” ตามลำดับซึ่งต่างจากองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ. บนพื้นฐานของปรัชญาและเป้าหมายที่ดีเฉกเช่น “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่…..”เช่นเดียวกันแต่หน่วยงานดังกล่าวถูกกำหนดนโยบายและกำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและมีนักการเมืองเข้ามามีอิทธิพลซึ่งส่วนใหญ่ไม่เข้าใจวัฒนธรรม หลักคิดและปรัชญาขององค์กรตลอดจนการหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ“....เหลาๆไป กลายเป็นบ้องกัญชา” และเป็นแดนสนธยาของพนักงานหรือข้าราชการและนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ดังเช่นที่เห็นอยู่ในองค์กรต่าง ๆ ของรัฐทั้งด้านการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในปัจจุบันซึ่งเป็นบทเรียนซ้ำซากที่ยากจะแก้ไขใน “สังคมเด็ดยอด” และ “สังคมต่อยอด” แบบไทยที่ขาดฐานรากที่เข้มแข็งและมั่นคงทางด้านการศึกษาและการวิจัย

4.การพัฒนาการวิจัยวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย
หลังการปฏิวัติรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์ได้จัดการพัฒนาการศึกษาขยายออกไปในส่วนภูมิภาคโดยจัดตั้งคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่บริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นแห่งแรกของไทยโดยเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปี 2501 (หรือที่รู้จักกันในนาม “เตรียมแพทย์เชียงใหม่” มีนักศึกษารุ่นแรกชั้นเยี่ยม 64 คน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน(เคมี ชีววิทยาและฟิสิกส์)คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษาเตรียมแพทย์เชียงใหม่ชั้นปีที่1และ2 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการดำเนินการคนแรก (หนังสือ 30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531)

รัฐบาลไทยในสมัยนั้นให้ความสำคัญอย่างมากกับการศึกษาและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มลคลสุข จึงได้เสนอรัฐบาลให้ยกฐานะโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นเป็น “คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์”ในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในปี 2503 โดยมีที่ตั้งอยู่ที่บริเวณทุ่งพญาไท (ตรงข้ามโรงเรียนอำนวยศิลป์) และขยายการรับนักศึกษาเพิ่มเติมอีก 5 สาขา คือ สาขาเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมทันตแพทย์ เตรียมเทคนิคการแพทย์ เตรียมวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และเตรียมพยาบาลปริญญา (ต่อมาเพิ่มสาขาเตรียมเภสัชศาสตร์และเตรียมกายภาพบำบัด) ต่อมามหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ได้รับพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” เมี่อวันที่ 2 มีนาคม 2512 ตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยมหิดลและยกเลิก พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์จึงได้ยกฐานะคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็น “คณะวิทยาศาสตร์”(ซึ่งย้ายมาอยู่ที่ตั้งใหม่ที่ถนนพระราม 6) เพื่อทำหน้าที่สอนและวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านปรีคลีนิก(กายวิภาคศาสตร์ พยาธิชีววิทยา ชีวเคมี สรีรวิทยา เภสัชวิทยา จุลชีววิทยา)โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์และได้เปิดหลักสูตรบัณทิตศึกษาระดับปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต(วทม.)และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต(ปรด.)เพื่อผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ในสาขาต่างๆดังกล่าวเป็นแห่งแรกในประเทศไทยตามนโยบายการพัฒนาการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์ไทยภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุขที่ได้ริเริ่มแนวคิดนี้ตั้งแต่ปี 2503โดยการสนับสนุนจาก ศาสตราจารย์ ดร.กำแหง พลางกูร เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ ในขณะเดียวกันก็ได้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีอยู่ติดกับคณะวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ให้ทันสมัยตามระบบการศึกษาแพทยศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาโดยการสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เช่นเดียวกัน

คณะวิทยาศาสตร์เป็นสถาบันแห่งแรกของไทยที่บุกเบิกการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยมีอาจารย์รุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ(วิสุทธิ์ ใบไม้,2553)กลับมาช่วยกันขับเคลื่อนงานสอนและงานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานจนได้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติชั้นแนวหน้าเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้การศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ของไทยได้ตื่นตัวและหันมาสนใจในการพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยวิทยาศาสตร์จนสามารถผลิตผลงานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ามาตามลำดับจนถึงทุกวันนี้ (www.sc.mahidol.ac.th, มกราคม 2556)

ในขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้ง“คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน”ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในปี 2503 ภายใต้การดำเนินการของ ศาสตราจารย์ นพ. จำลอง หะริณสุด คณบดีผู้ก่อตั้งคณะใหม่นี้(อยู่ที่ถนนราชวิถีไม่ไกลจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์) เพื่อการศึกษาและวิจัยโรคเขตร้อนคู่ขนานกับสำนักงานโครงการวิจัยทางการแพทย์ของ สปอ. หรือที่รู้จักในนาม SEATO LAB ซึ่งเป็นหน่วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยกับสหรัฐอเมริกาดังกล่าวมาข้างบนคณะอายุรศาสตร์เขตร้อนทำหน้าที่สอนและอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคเขตร้อนและศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาโรคเขตร้อนเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลประเทศอังกฤษที่มีความเชียวชาญด้านโรคเขตร้อน ต่อมาในปี 2510 รัฐบาลจัดตั้งคณะอายุรศาสตร์เขตร้อนเป็นศูนย์เวชศาสตร์เขตร้อนขององค์การซีมีโอ (SEAMEO-The Southeast Asian Ministers of Education Organization ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2508)(www.seameo.org,มกราคม2556) และจัดตั้งเป็น SEAMEO-TROPMED Network ระดับนานาชาติ
ในปี 2518 คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนได้เปลี่ยนชื่อเป็น“คณะเวชศาสตร์เขตร้อน”มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งดำเนินการสอนและวิจัยที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านโรคเขตร้อนจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติจนถึงทุกวันนี้(www.tm.mahidol.ac.th,มกราคม2556)

5. การพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
5.1 ระดับมัธยมศึกษา
ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มตื่นตัวกันอย่างมากเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคไฮเทค เมื่อสหรัฐอเมริกาส่งนักบินอวกาศไปลงบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในกลางปี 2512 ประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยรัฐบาลไทยได้แต่งตั้งคณะจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้รับการสนับสนุนจาก UNESCOจนนำไปสู่การจัดตั้ง“สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”(สสวท.) ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 42 (วันที่ 16 มกราคม 2515) โดยให้ สสวท. เป็นองค์กรอิสระเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการโดยมีนายสนั่น สุมิตร เป็นผู้อำนวยการคนแรกและได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจากUNDPและการสนับสนุนด้านเครื่องมือรวมทั้งทุนดูงานและการฝึกอบรมจาก UNESCO ซึ่งได้ส่ง Prof. Gordon H. Aylward ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลียมาเป็นที่ปรึกษาสถาบันใหม่แห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์) โดยการปรับปรุงหลักสูตรแบบเรียน คู่มือและวิธีสอน ตลอดจนการปฏิบัติการทดลองให้ทันสมัยตามโลกตะวันตก ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเข้าใจเนื้อหาสาระและหัวข้อวิชาในหลักสูตรตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว (ได้แบบเรียนชีววิทยาฉบับร่างในต้นปี 2517เป็นฉบับแรก)(www.ipst.ac.th, มกราคม 2556)

เมื่อโครงการความช่วยเหลือจากต่างประเทศสิ้นสุดลงแล้วรัฐบาลไทยก็ต้องรับผิดชอบองค์กร สสวท.อย่างเต็มรูปแบบตามระบบราชการไทยในกำกับกระทรวงศึกษาธิการทำให้การดำเนินงานของ สสวท.ด้อยประสิทธิภาพลงมากกว่าในระยะเริ่มต้นตอนที่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศเพราะขาดความต่อเนื่องทางด้านงบประมาณประจำปีและนโยบายการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ชัดเจน อีกทั้งยังมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงทำให้การบริหารจัดการและคัดสรรบุคลากรขององค์กรมีคุณภาพด้อยลงยังผลให้สสวท.อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อรัฐบาลไทยได้ตราเป็น พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2541 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2548)ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการบริหารงานตามระเบียบราชการ ดังจะสังเกตจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาสอบได้คะแนนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทุกปีสสวท.จึงเป็นกรณีศึกษาอีกองค์กรหนึ่งของรัฐที่พัฒนาแบบ “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่...เหลาๆไปกลายเป็นบ้องกัญชา”เหมือนกับองค์กรอื่นของรัฐที่กล่าวมาข้างบน

5.2 ระดับอุดมศึกษา
เมื่อโครงการสสวท.โดยการสนับสนุนจากUNESCO และUNDP สิ้นสุดลง ทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น จึงทำเรื่องขอความช่วยเหลือจาก UNESCOและประเทศออสเตรเลีย เพื่อปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยให้สอดรับกับการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับชั้นมัธยมศึกษาของ สสวท.แต่โครงการฯ ของทบวงมหาวิทยาลัยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศตามคำขอ ดังนั้นทบวงมหาวิทยาลัยโดยคณะกรรมการพัฒนามหาวิทยาลัยจึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัย (เคมี, ชีววิทยา, ฟิสิกส์, คณิตศาสตร์) โดยมี ศาสตราจารย์ดร.กำจร มนุญปิจุ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯเพื่อจัดทำโครงการปรับปรุงหลักสูตรฯดังกล่าวเพื่อเสนอขอเงินสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินในการดำเนินงานสานต่อจากสสวท.โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2519(ตำราชีววิทยา,2521) โครงการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการก้าวหน้ามาด้วยดีและมีผลงานเป็นตำราที่มีคุณภาพทั้ง4สาขาและมีการร่วมมือกันทั้งด้านการสอนและการวิจัยระหว่างคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆจนเกิดเป็นเครือข่ายประสานงานกันตลอดเวลาเป็นเวลาประมาณ10ปีแต่โครงการนี้ก็ต้องปิดตัวลงโดยความเห็นของผู้บริหารทบวงมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นที่มีความคิดว่า “โครงการทุกโครงการต้องมีที่สิ้นสุด...”ซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริงที่ว่าการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนดลยีน่าจะเป็นขบวนการต่อเนื่องเพื่อให้การพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความทันสมัยอยู่เสมอและรู้เท่ารู้ทันความก้าวหน้าทางวิชาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เราพลาดโอกาสในการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์พื้นฐานระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างต่อเนื่องแต่ต้องสะดุดและสิ้นสุดลงอย่างน่าเสียดายส่งผลให้การเรียนการสอนและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยไม่สามารถขับเคลื่อนได้ทันเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกและมีผลกระทบต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาจนถึงทุกวันนี้

6.ข้อสรุปท้ายบท
การจัดตั้งองค์กรต่างๆ ทางการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รวบรวมไว้ในบทความนี้ ได้แก่ สวป., สสวท., ศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ต, AFRIMS,STDB, TDRI, สทพ.,สบว.เป็นต้น ได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณในระยะเริ่มต้นจากองค์การระหว่างประเทศเช่น WB, UNESCO, UNDP, UNEP, USAID, ADB, CSIRO, ESCAP, CIDAและจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย จึงมีคำถามว่าถ้าไม่มีองค์การระหว่างประเทศเข้ามาช่วยคิดริเริ่มและดำเนินการให้ในเบื้องต้นแล้วโครงการหรือหน่วยงานเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่?

ข้อสังเกตที่น่าสนสนใจอีกประการหนึ่งคือหน่วยงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐหรือเอกชนของไทยกับหน่วยงานของต่างชาติหรือองค์การระหว่างประเทศสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพทำให้หน่วยงานวิจัยเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องมาเสมอจนถึงทุกวันนี้ อาทิ AFRIMS,TDRI,สทพ.,ศูนย์วิจัยชีววิทยาทางทะเลภูเก็ต เป็นต้นในขณะที่หน่วยงานบางแห่ง เช่น สวป.,สสวท.,สบว.ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากต่างชาติเมื่อหมดโครงการความช่วยเหลือและหน่วยงานราชการไทยต้องรับผิดชอบต่อโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน การดำเนินงานของหน่วยงานเหล่านั้นก็ขาดความคล่องตัวและขาดประสิทธิภาพลงอย่างเห็นได้ชัด

หน่วยงานราชการและองค์กรอิสระของรัฐบาลไทยไม่ค่อยคิดสร้างองค์ความรู้และค้นคว้าหาข้อมูลจากการวิจัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็น “เสาหลัก”ทางวิชาการของบ้านเมืองซึ่งเป็นฐานรากสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้รุ่งเรืองวัฒนาถาวรได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง การขาดความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องทำให้การพัฒนาประเทศต้องโอนเอนไปมาเมื่อถูกกระแทกด้วยแรงปะทะจากกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจากภายในและหรือภายนอกประเทศจนทำให้หน่วยงานหรือองค์กรเหล่านั้นอ่อนแอลงดังเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ดังนั้นสำนวนไทย “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาๆไปกลายเป็นบ้องกัญชา” ที่บรรพบุรุษไทยใช้เตือนสติสอนคนไทยในอดีตและยังคงใช้ได้กับสังคมไทยในปัจจุบันในการเปรียบเปรยหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาบนฐานคิดทางปรัชญาและวัตถุประสงค์ที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและการวิจัยให้ก้าวไกลทันนานาประเทศที่เจริญแล้ว (เสมือนขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่) แต่พอทำไปนานๆ เข้าหน่วยงานเหล่านั้นก็ค่อยอ่อนแอลงในเชิงประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนคุณธรรมของผู้บริหารพนักงานและข้าราชการทำให้หน่วยงานของรัฐกลายเป็นแดนสนธยา(เสมือนเป็นบ้องกัญชา)ของข้าราชการและผู้บริหารที่ได้รับอิทธิพลจากการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ของสังคมส่วนรวม

เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ก็จะมีกลุ่มนักวิชาการ ผู้บริหารและผู้นำที่ดีและมีวิสัยทัศน์ชัดเจนคิดจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนหน่วยงานเดิมเพราะถ้าคิดจะยุบรวมหรือยกเลิกหน่วยงานหรือองค์กรเหล่านั้นก็ทำได้ยากเนื่องจากจะมีผลกระทบต่อข้าราชการหรือพนักงานขององค์กร เขาเหล่านั้นก็จะจัดการรวมตัวกันต่อต้านหรือคัดค้านอย่างรุนแรงจนภาครัฐไม่สามารถจัดการได้ นอกจากคิดจัดตั้งหน่วยงานอิสระหรือองค์กรมหาชนขึ้นมาทำหน้าที่ใหม่ดังกรณีศึกษา “สภาวิจัยแห่งชาติ”และ “สภาการศึกษาแห่งชาติ” ที่มีความยิ่งใหญ่มากในอดีตตามเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศและเป็น2 เสาหลักของการพัฒนาประเทศในตอนเริ่มต้นเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว แต่ทำไปทำมาทั้ง 2 สภาฯ ก็เติบโตตามระบบราชการไทยและอุ้ยอ้ายจนขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานโดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ภาครัฐจึงต้องจัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ศช., สวทช., สกว.,สวรส. ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งต่อมาหน่วยงานดังกล่าวที่เริ่มต้นด้วยความหวังดี มีปรัชญาและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนแต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่งเพราะมีข้อสังเกตจากการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเสริม อาทิ สบว.,สวก.,และ สวทน.ซึ่งมีหน้าที่และมีวัตถุประสงค์คล้ายๆ กับหน่วยงานเดิมจนอาจมองได้ว่าทำงานซ้ำซ้อนกันพอสมควร

หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตและขยายให้ใหญ่ขึ้นทางด้านโครงสร้างและจำนวนบุคลากรจนเข้าสู่สภาพอุ้ยอ้าย ไม่คล่องตัวเพราะมีคนมากแต่งบประมาณน้อยไม่สอดคล้องกับปรัชญา นโยบายและวัตถุประสงค์ดั้งเดิมส่วนใหญ่ของเงินงบประมาณจะหมดไปกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานบริหารจัดการและค่าจ้างหรือเงินเดือนพนักงาน แต่งบประมาณที่จะใช้ในการทำงานวิจัยตามภารกิจจริงมีน้อยไม่เพียงพอที่จะทำงานได้ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพดังเช่นที่เกิดขึ้นในหน่วยงานราชการไทยจนเกิดมีคำพูดว่า“เช้าชาม-เย็นชาม” คล้ายคนอ้วนกินมากแต่ทำงานได้น้อยอีกทั้งยังมีโรคภัยไข้เจ็บตามมาหลายอย่างเมื่อเทียบกับหน่วยงานของภาคเอกชนที่มีความกระชับ อิสระ คล่องตัวและสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งจากเหตุปัจจัยภายในและภายนอกประเทศคล้ายกับคนที่มีร่างกายสมส่วนแข็งแรงและคล่องแคล่วว่องไวทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงและปราศจากโรคภัยร้ายแรงถ้าหากหน่วยงานใดไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลก็สามารถปรับเปลี่ยนยกเครื่อง(reengineering) ให้ทันสมัยได้เสมอหรือแม้กระทั่งยกเลิกได้เลย

นักวิชาการและผู้บริหารงานวิจัยส่วนใหญ่เป็น “นักออกแบบ” หรือ “สถาปนิก”ที่ดีและมีมุมมองประเทศไทยที่สวยงามตามนัยแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่นเดียวกับอารยประเทศแต่ขาดหลักการทาง“วิศวกรรมโครงสร้าง”ที่ต้องคำนึงถึงวัสดุในเชิงปริมาณและคุณภาพและการคำนวณฐานรากที่จะรองรับน้ำหนักเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนตามนัยของจำนวนและคุณภาพของนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพและข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังไม่ได้คำนึงถึงฐานรากของเศรษฐกิจและสังคมไทยที่อิงอยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางวัฒนธรรมรวมทั้งรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ชาติไทยทำให้เกิดตะเข็บรอยต่อระหว่างวิถีชีวิตแบบไทยกับแนวคิดการพัฒนาประเทศของชาติตะวันตก
 
นอกจากนั้นวิธีคิดของคนไทยใน “สังคมเด็ดยอด” ที่มักรอคอยความเจริญโดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่คนอื่นหยิบยื่นให้เราซื้อหามาใช้อย่างชื่นชมยินดีจนเราได้ชื่อว่าเป็น“นักซื้อ”ที่ดีแต่ไม่ใช่เป็น“ผู้ผลิต”ขึ้นมาเพื่อการพึ่งพาตนเองตามวิถีพุทธทั้งๆที่เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้ง ดิน น้ำ ป่า ที่ทรงคุณค่าช่วยหล่อเลี้ยงผู้คนตลอดจนสร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทยเกี่ยวกับปัจจัยสี่(อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย)และวัฒนธรรมอันดีงามให้เจริญรุ่งเรืองมายาวนานซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยที่สามารถใช้เป็นฐานในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้หน่วยงานของภาครัฐ ทั้งที่เป็นองค์กรอิสระและหน่วยงานราชการทางด้านการศึกษาและการวิจัยโดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่สามารถดำเนินงานบริหารจัดการให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีจุดอ่อนหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาองค์กรที่พอจะสรุปได้ดังนี้

1) มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงในการแต่งตั้งผู้บริหาร กรรมการนโยบายและพนักงานหรือข้าราชการทำให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานแบบเกื้อกูลช่วยเหลือพวกพ้องมากกว่าทำงานเพื่อองค์กรและส่วนรวม

2) การสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากภาครัฐไม่ต่อเนื่องและไม่เป็นไปตามกรอบของโครงการที่มีทั้งการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์แต่เงินงบประมาณการวิจัยส่วนใหญ่มักจัดสรรให้กับการวิจัยประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้านแบบเร่งด่วน(ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, เชื้อรา, สาหร่าย, เทคโนโลยีชีวภาพ) และแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ภัยแล้ง, น้ำท่วม, มลพิษทางสิ่งแวดล้อมแต่มีนักวิจัยหรือกลุ่มนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางไม่เพียงพอและมีเวลาทำวิจัยน้อยประกอบกับขาดข้อมูลที่ควรจะได้จากงานวิจัยพื้นฐานจึงทำให้งานวิจัยแบบเร่งด่วนดังกล่าวไม่บรรลุวัตถุประสงค์และไม่คุ้มค่ากับเงินงบประมาณที่ใช้ไป
3) ภาครัฐมองข้ามความสำคัญของทุนมนุษย์แต่พุ่งเป้าไปที่ทุนทางวัตถุและโครงสร้างในการพัฒนาประเทศนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ได้เล่าเรียนมาอย่างเข้มข้นจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศซึ่งนับว่าเป็น“เมล็ดพันธุ์ที่ดี”และมีศักยภาพสูงมากที่จะช่วยพัฒนาประเทศแต่ขาด“การบ่มเพาะ รดน้ำ พรวนดิน” ให้เจริญงอกงามได้ตามธรรมชาติ ทำให้เราต้องสูญเสียนักวิทยาศาสตร์ที่ดีและมีความสามารถไปจำนวนไม่น้อยและต้องพึ่งพานักวิชาการต่างชาติทั้งในด้านปรัชญา ความคิดและแนวทางปฏิบัติจริง
4)ระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยไม่ได้สร้างคนให้เกิดปัญญาและสามารถพัฒนาตนเองให้มีความรู้แตกฉานทางวิชาการรอบด้านแต่ส่วนใหญ่เป็นเพียงการสร้างนักปฏิบัติงานในด้านเทคนิคและทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนเท่านั้นทำให้ขาดการพัฒนาบุคลากรที่ชาติต้องการในข้อ 2
5)หน่วยงานของรัฐยังติดอยู่กับระบบอำนาจนิยมและระเบียบที่ละเอียดซับซ้อนมากเกินไปเพียงเพื่อป้องกันคนไม่ดีซึ่งมีจำนวนน้อยมาก(เสมือนตาข่ายถี่ที่ไม่สามารถแยกปลาเล็กออกจากปลาใหญ่) จึงไม่เปิดโอกาสให้คนดีมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีและมีคุณภาพหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆในการทำงานวิจัยแบบใช้ปัญญาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาของชาติให้คุ้มค่าของเงินงบประมาณการวิจัย
ถ้าเราสามารถปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนของระบบราชการดังกล่าวได้ก็จะทำให้เราสามารถพัฒนาการศึกษาและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ให้ก้าวหน้าตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั่นคือพัฒนาตามศักยภาพของเราอย่างรู้เท่ารู้ทันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยรัฐบาลไทยต้องให้การสนับสนุนทั้งเงินทุนวิจัยและทุนพัฒนาบุคลากร นักวิชาการและนักวิจัยให้พอเพียงอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงจนอาจส่งผลกระทบต่อนโยบายและแผนการดำเนินงานของสถาบันการศึกษาและการวิจัยดังเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต ถ้าเราสามารถปรับตัวให้หลุดพ้นจากกับดักของระบบราชการ การเมือง และอำนาจนิยมด้วยความตั้งใจในการพัฒนาการศึกษาและการวิจัยกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประเทศไทยก็จะสามารถขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศที่พัฒนาแล้วภายในเวลาไม่นานนัก

7. เอกสารอ้างอิงและอ่านประกอบ
ข้อมูลและประวัติโดยย่อของหน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์กรอิสระ สถาบันและหน่วยงานของรัฐที่รวบรวมและเรียบเรียงไว้ในบทความนี้ได้มาจาก websiteที่ระบุไว้ในหน่วยงานที่อ้างถึง (เดือนมกราคม 2556)และจากเอกสารทางราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ตำราชีววิทยา ตามโครงการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัย ทบวงมหาวิทยาลัย 2521
2.วิสุทธิ์ ใบไม้.2553.ทำไมต้องทำวิจัยพื้นฐาน โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด กรุงเทพฯ
3. หนังสือ 30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (2501-2531)พฤศจิกายน 2531
4.หนังสือรายงานประจำปี 2555 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
5.อำพล เสนาณรงค์.2542. สี่สิบปีระบบวิจัยไทย ข่าวสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ปีที่ 40 ฉบับที่ 430 (ตุลาคม-ธันวาคม 2542):24-29
************************************
บทความพิเศษ การศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย  จาก ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพ 10400 อนุเคราะห์ให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เผยแพร่ โดยแบ่งบทความทั้ง 3 ตอน  

(วิสุทธิ์ ใบไม้.2556. “การศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย” ในหนังสือ “ด้วยรัก เล่มที่ 4 : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองและสังคม (รวมบทความในโอกาสศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อายุ 72 ปี) ” ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (บรรณาธิการ) บริษัทสำนักพิม์สร้างสรรค์ จำกัด กรุงเทพฯ . หน้า 69-116 )







กำลังโหลดความคิดเห็น