ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปล่อยข่าวใหญ่ไล่ออก นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกจากราชการฐานร่ำรวยผิดปกติ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดและเสนอเรื่องมายังพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อลงโทษตามกฎหมาย
อาจจะหวังกลบกระแสซื้อเรือดำน้ำแบบลับสุดยอดและอย่ามายุ่งตาม สไตล์ “พี่ใหญ่” หรืออย่างไรไม่อาจทราบได้ แต่ข่าวไล่ออกนายธาริต ก็มาแบบโป้งเดียวจอด หาได้มีสื่อไล่งับตามกันยืดเยื้อเหมือนเรือดำน้ำไม่ เพราะใครๆ ก็รู้ ว่า สักวันหนึ่ง “ธาริต เปลี่ยนสี” จะต้องพบจุดจบในชีวิตราชการแบบไม่ไปดีแน่ นับตั้งแต่ถูกไล่เช็กบิลยาวเป็นหางว่าว หลังจากพรรคเพื่อไทย ที่นายธาริต ทำงานรับใช้แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ถูก ท.ทหาร นำโดย “ลุงตู่” ยึดอำนาจ
เรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะชีวิตข้าราชการไทยจะอยู่จะไปจะรุ่งหรือจะริ่ง นอกจากฝีมือแล้วที่สำคัญยิ่งกว่าคือว่าถวายชีวิตรับใช้ผู้มีอำนาจอย่างถึงอกถึงใจหรือไม่ เลือกข้างถูกไหม ซึ่งจะว่าไปนายธาริต ก็เลือกเปลี่ยนสี เปลี่ยนจุดยืนรับใช้การเมืองทั้งสองขั้ว
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจไม่ถึง 48 ชั่วโมง ก็ได้มีคำสั่งให้นายธาริต ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นการลดตำแหน่งจากระดับ “ผู้บริหารระดับสูง” ที่เคยเป็นถึงระดับอธิบดีลง เหลือฐานเป็นเพียง “เจ้าหน้าที่รัฐ” และสุดท้ายไม่เหลือยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ
บั้นปลายชีวิตราชการของนายธาริต จึงเป็นไปตามคำเตือนของอดีตพวกพ้องที่เคยทำงานร่วมกันว่า “ระวังจะตายเหมือนกิ้งกือตกท่อ” ตอนที่นายธาริต ทำงานตามใบสั่งของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หันปลายดาบกลับไปทิ่มแทงพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตนเองเคยรับใช้ในช่วงปราบม็อบคนเสื้อแดง
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การไล่ออกนายธาริต ครั้งนี้ จะว่าเป็นเพราะลมการเมืองก็ใช่ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นายธาริต เหลิงอำนาจจริง มีทั้งการใช้อำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีคดีบุกรุกป่าสงวน และนำมาซึ่งความร่ำรวยผิดปกติจนถูกลงโทษไล่ออกในที่สุด
ชวนสงสัยก็เพียงแต่ว่า เหตุไฉนสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงดองเรื่องไว้ตั้งนานสองนาน เพิ่งมาเซ็นคำสั่งไล่ออกในช่วงเวลานี้ โดยผู้ที่ลงนามในคำสั่ง คือ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หากไม่มีเรื่องเรือดำน้ำเรื่องไล่ ออก นายธาริต จะถูกหยิบขึ้นมาหรือไม่ เนื่องจากว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องให้นายกฯ ลุงตู่ ดำเนินการมาลงโทษนายธาริต ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2559 แล้ว
เรื่องของกิ้งกือตกท่อคราวนี้ สืบเนื่องจากมีการร้องเรียนว่ามีการร้องเรียนว่ามีข้าราชการระดับสูงสร้างรุกล้ำเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขา ใหญ่ ป.ป.ช.จึงลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าเจ้าของบ้านคือภรรยาของนายธาริต จากนั้น ป.ป.ช.ได้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของนายธาริต ที่เคยแสดงบัญชีต่อ ป.ป.ช. ว่ามีรายการดังกล่าวอยู่หรือไม่ ซึ่งไม่พบ จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าร่ำรวยผิดปกติ ป.ป.ช.จึงตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานเปรียบเทียบรายได้ของนายธาริต ซึ่งพบว่ามีทรัพย์สินที่ไม่มีที่มาที่ไปและมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 346 ล้านบาท
จากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 ได้พิจารณารายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริง เห็นว่า นายธาริต และนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ คู่สมรส มีทรัพย์สินจำนวนมากหรือมีทรัพย์สินมากหรือมีหนี้สินลดลงมาก เกินกว่าฐานะและรายได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะพึงมีได้ อีกทั้งยังปรากฏพฤติการณ์โอน ยักย้าย แปรสภาพหรือซุกซ่อนทรัพย์สิน รวมทั้งให้บุคคลอื่นถือทรัพย์สินแทน โดยพบว่า นายธาริตให้นายปิยฤกษ์ อรรถกานต์รัตน์ ซึ่งเป็นหลานชายของนายธาริต และนางวรรษมล และบริษัท ปิยธนวรรษ จำกัด ซึ่งมีนายปิยฤกษ์ และนางกานดา เผือดจันทึก น้องสาวของนางวรรษมล เป็นกรรมการบริษัท มีชื่อเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินจำนวนมากแทนนายธาริต และนางวรรษมล
คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง (กรรมการอีก 2 คน ไม่ได้เข้าร่วมประชุม) ว่านายธาริต มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่า 346,652,588 บาท แต่เนื่องจากทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติดังกล่าวบางส่วนได้มี การโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สิน ทำให้ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินได้ คงเหลือทรัพย์สินที่นายธาริต ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดไว้เป็นการชั่วคราว จำนวน 90,260,687 บาท
ทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติในส่วนที่เหลือจำนวน 256,391,901.12 บาท ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของนายธาริต และนางวรรษมล โดยให้ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อขอศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 80 และมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการไต่สวนและรายงานความเห็นคดีไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ดำเนินการลงโทษไล่นายธาริต ออกจากราชการ เนื่องจากตามมาตรา 80 (4) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ระบุว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ใช่นักการเมือง ประธานศาล และผู้บริหารระดับสูง ที่ถูกชี้มูลความผิดร่ำรวยผิดปกติ ให้ประธาน ป.ป.ช. แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการ สั่งลงโทษไล่ออก หรือปลดออก โดยถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่
พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจกแจงว่า หลังจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้รับเรื่องดังกล่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ในช่วงปีที่ผ่านมาได้ตรวจสอบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกรณีดังกล่าว โดยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ป.ป.ช., ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา
หลังใช้เวลาร่วมปีสรุปผลการหารือหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น ได้ให้ความเห็นสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันว่า กรณีนี้เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาลงโทษตามที่กำหนดในมาตรา 80 (4) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่น ประกอบกับที่ผ่านมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรี กำหนดไว้ว่า การทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นความผิดร้ายแรง ควรลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงได้มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา
ไม่ใช่ว่าไล่ออกนายธาริต จะเป็นข่าวใหญ่ในทันที หลังจากผ่านไปเกือบยี่สิบวัน พล.อ.วิลาศในฐานะผู้บังคับบัญชาของนายธาริต จึงส่งหนังสือชี้แจงการมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการกรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ถึงสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ท่ามกลางข่าวร้อนคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน มูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้าน แบบ ลับสุดยอดไปแล้วเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560
ต้องถือว่า ชีวิตราชการของนายธาริต เป็นอะไรที่น่าบันทึกไว้ให้ข้าราชการรุ่นหลังได้ศึกษาถึงเส้นทางของดาวรุ่งที่พุ่งแรงและดาวดับแบบจบไม่สวยนั้นเป็นฉันใด
เว็บไซต์ไทยพับลิก้า เขียนนิยายชีวิตนายธาริต จากเด็กบ้านนอกเมืองชัยนาท ดีกรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ไต่เต้าชีวิตราชการจากการสอบเข้ารับราชการในสำนักงานอัยการสูงสุด และแสดงฝีไม้ลายมือกระทั่งถูกดึงไปเป็นหน้าห้องร่วมกับนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม สมัยที่นายคณิต ณ นคร เป็นอัยการสูงสุด
ต่อมา นายธาริต เริ่มพิสมัยการเมืองโดยเข้าร่วมเป็นทีมงานของนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาของนายทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย อดีตนายกรัฐมนตรี และมีส่วนยกร่างกฎหมายและจัดตั้งดีเอสไอ ซึ่งนายธาริต ได้เข้าไปนั่งเป็นรองอธิบดี ขณะที่พล.ต.ท.นพดล ทรัพย์สมบูรณ์ เป็นอธิบดีคนแรก เรียกว่าดาวรุ่งพุ่งแรง ไต่ขึ้นถึง ซี 9 หลังรับราชการเพียง 15 ปี
จากนั้น นายธาริต ไปมีส่วนยกร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการ ป.ป.ท. คนแรก ในปี 2551 สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน
เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล มีการโยกย้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ออกจากตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ เพราะใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตร แล้วโยกนายธาริต ที่มีผลงานโดดเด่นในฐานะเลขาฯ ป.ป.ท. ทั้งคดีซานดิก้าผับ คดีทุจริตนมโรงเรียน คดีกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ ด้วยสไตล์การทำงานแบบถึงลูกถึงคนเข้ามาเป็นอธิบดีดีเอสไอ ด้วยวัยเพียง 50 ปี ซึ่งนับเป็นปฐมบทเริ่มต้นวิบากกรรมที่นายธาริต เลือกที่จะทำและจะเป็นไปเช่นนั้น
ช่วงปี 2553 อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงสุดขีดจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นมาควบคุมสถานการณ์ นายธาริต ในฐานะอธิบดีดีเอสไอ แสดงบทบาทสยบม็อบด้วยการเดินหน้าทำคดีกล่าวหาผู้ชุมนุม ชนิดถึงอกถึงใจรัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นยิ่งนัก สร้างความเจ็บแค้นให้แก่แกนนำคนเสื้อแดงอย่างยิ่ง
กระทั่งการเมืองเปลี่ยนขั้ว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ลั่นวาจาจะย้ายนายธาริต ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ทว่านายธาริต ได้ “เปลี่ยนสี” กอดเก้าอี้ไว้แน่นด้วยการหันปลายดาบกลับมาทิ่มแทงพรรคประชาธิปัตย์ เล่นงานนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ฯลฯ ทั้งคดีต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ คดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ฯลฯ ขณะที่คดีของคนฝ่ายพรรคเพื่อไทย กลับมีการยกฟ้องอย่างต่อเนื่องอย่างคดีผังล้มเจ้า ฯลฯ
“นายธาริต เปลี่ยนสี” ได้ระดับไหน ดูจากการให้สัมภาษณ์บางบทบางตอน “ช่วงรัฐบาล ปชป. บริหารประเทศ ปชป. เลือกนโยบายการบังคับใช้กฎหมายแบบเด็ดขาด ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่าถูกต้อง เพราะความขัดแย้งขณะนั้น ถ้าไม่เด็ดขาดเกมก็ไม่จบ ก็จะเกิดการรบกันมากมาย ความสูญเสียอาจจะมากกว่าที่เห็นพันเท่า แต่เมื่อ พท. เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล แล้ว พท. เลือกนโยบายการปรองดอง ผมก็เห็นด้วยอีกเช่นกันว่านโยบายของรัฐบาลชุดนี้ถูกต้อง ผมในฐานะผู้นำองค์กรก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ในสถานการณ์ที่ต่างกัน
“นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับ เพราะประเทศนี้วางกติกาว่า ฝ่ายการเมืองเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นฝ่ายปฏิบัติ ข้าราชการประจำคือเครื่องมือของฝ่ายการเมือง เมื่อกติกาของบ้านเมืองเราและกฎหมายเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องปฏิบัติตามนี้”
เมื่อนายธาริต หักเหชีวิตราชการมารับใช้พรรคเพื่อไทย ซึ่งไปไวกว่าที่คาด โจทย์เก่าจึงตามเช็กบิล โดยระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 ทั้งนายธาริตและดีเอสไอ กลายเป็นเป้าในการปิดล้อม-ขับไล่ กระทั่งบ้านภรรยาธาริต ซึ่งซื้อไว้ที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ก็ถูกตรวจสอบ และเป็นที่มาของคดีที่ ป.ป.ช.มีมติว่า นายธาริต ร่ำรวยผิดปกติ ถูกยึดทรัพย์ และส่งต้นสังกัดไล่ออกจากราชการ
ชีวิตหลังจากถูกไล่ออกจากราชการของนายธาริต นับจากนี้ ก็มีแต่ต้องเทียวขึ้นโรงขึ้นศาลทั้งเป็นโจทย์และจำเลยเพื่อต่อสู้คดีเกือบ 30 คดี นี่เป็น “กรรม” ที่นายธาริต เลือกกระทำและต้องรับผลที่เกิดขึ้น