xs
xsm
sm
md
lg

พบเหรียญโรมันปริศนาในซากปราสาทที่ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เหรียญโรมันที่พบในญี่ปุ่นครั้งแรก (JIJI PRESS / AFP )
นักโบราณคดีญี่ปุ่นพบเหรียญโรมันยุคกว่า 300 ปีหลังคริสตศักราชในซากปราสาทเก่าที่สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 13 พร้อมกับเหรียญในยุคจักวรรดิออตโตมัน เบื้องต้นเข้าใจว่าเป็นเหรียญที่ทหารอเมริกันทำตกไว้ แต่ตรวจสอบแล้วไม่ใช่ อีกทั้งในยุคสร้างปราสาทยังค้าขายกับจีนเป็นหลัก

นักโบราณคดีญี่ปุ่นได้พบเหรียญโรมันในซากปราสาทคัทซึเรน (Katsuren castle) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เหรียญจักรพรรดิโรมันถูกพบในญี่ปุ่น โดย ฮิโรกิ มิยากิ (Hiroki Miyagi) นักโบราณคดีชาวญี่ปุ่นบอกทางเอเอฟพีว่า ครั้งแรกที่เขาพบเหรียญนั้น เขาหนึ่งว่าเป็นเหรียญเซนต์ที่ทหารอเมริกันทำตกไว้ แต่เมื่อนำเหรียญไปล้างเขาก็ได้เห็นว่าเหรียญที่พบเก่าแก่กว่านั้นมาก

“ตอนนั้นผมช็อคไปเลย” มิยากิกล่าว ซึ่งการพบเหรียญสำริดและเหรียญทองแดง 10 เหรียญทางตอนใต้ของโอกินาวาครั้งนี้สร้างความประหลาดใจแก่นักวิจัยอย่างยิ่ง โดยเหรียญที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุย้อนไปถึงเมื่อ 300-400 หลังคริสตศักราช

เมื่อปี 2013 ทีมวิจัยได้เริ่มขุดสำรวจบริเวณปราสาทคัทซึเรน ที่ได้การรับรองจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลก ซึ่งบริเวณเกาะโอกินาวานั้นเป็นฐานที่ตั้งของกองทัพสหรัฐฯ หลายกองพัน

ผลการวิเคราะห์ด้วยรังสีเอกซ์พบว่าเหรียญขนาด 10 เซนต์ มีลายนูนของอักษรโรมัน และอาจจะมีภาพสลักของจักรพรรดิคอนสแนตินที่ 1 กับภาพทหารยืนถือหอกด้วย ส่วนเหรียญอื่นๆ ที่พบพร้อมกันหาอายุย้อนกลับได้ว่าเป็นเหรียญในยุคศตวรรษที่ 17 ในยุคขยายอาณาเขตของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman empire)

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังสงสัยว่าเหรียญดังกล่าวไปตกอยู่ที่ปราสาทในโอกินาวาอันห่างไกลได้อย่างไร โดยปราสาทดังกล่าวสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 13 หรือยุคต้นของศตวรรษที่ 14 และถูกทิ้งร้างในอีก 200 ปีต่อมา

แม้ว่าครั้งหนึ่งปราสาทดังกล่าวจะเคยเป็นที่อาศัยของขุนนางชั้นสูง ซึ่งร่ำรวยและมีความเกี่ยวข้องกับการค้าขายในภูมิภาค แต่ก็ไม่เป็นที่ปรากฏว่าขุนนางชั้นสูงนั้นเคยค้าขายกับทางยุโรป

“พ่อค้าวานิชในเอเชียตะวันออกยุคศตวรรษที่ 14-15 นั้นจะใช้เงินสกุลของจีนเป็นหลัก ซึ่งเป็นเหรียญกลมๆ และตรงกลางเจาะรูสี่เหลี่ยม ดังนั้นจึงไม่น่าจะใช่ว่าเหรียญสกุลยุโรปนั้นถูกใช้เป็นเงินสกุลหลัก ผมเชื่อว่าพวกเขาอาจจะได้รับเหรียญมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือจีนมากกว่า” มิยากิซึ่งเป็นนักโบราณคดีและสอนที่มหาวิทยาลัยนานาชาติโอกินาวาให้ความเห็น









กำลังโหลดความคิดเห็น