ความเดิมตอนที่แล้ว อ่าน
Alone in Gifu ๑.๐ : กว่าจะถึงทาคะยะมะ ...
Alone in Gifu ๑.๑ : ตะลุย หมู่บ้านชาวฮิดะ Hida no sato
Alone in Gifu ๑.๒ : มรดกโลก Shirakawa go
Alone in Gifu ๑.๓ : Sanmachi เขาว่าที่นี่ Little Kyoto
Alone in Chubu : ข้าวหน้าทะเล สุดอลัง!! ที่ Kanazawa
Alone in Kyoto ๒.๐ : Nishi hongan ji วัดนี้ไม่ธรรมดา
Alone in Kyoto ๒.๑ : Nijo castle ที่นี่(เคย)มีปราสาท?
๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙ : ศาลเจ้าชิโมะงะโมะ นครเกียวโต
ตอนนี้ผมอยู่ทางตอนบนของเมืองเกียวโต รถเมล์สาย ๔ พาชายวัย๓๐ ต้นๆ พร้อมกระเป๋าสะพายหลังขนาดใหญ่ มาส่งตรงทางเข้าด้านข้างของศาสนสถานสำคัญของเมือง นั่นคือ “ศาลเจ้าชิโมะงะโมะ” (Shimogamo jinja) ซึ่งที่นี่ก็ถูกจดบันทึกให้เป็นมรดกโลกของทางยูเนสโก เป็น ๑ ในศาลเจ้าชินโตที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น และยังเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์แห่งเมืองเกียวโตโบราณอีกด้วย
บอกแล้วครับว่าวันนี้เราพามาทัวร์มรดกโลกล้วนๆ
ซึ่งทางเข้านี้ถือว่าใกล้กับศาลเจ้ามากที่สุดแล้วมั้งเพราะพอเดินเข้าซอย ทะลุมานิดนึงผ่านซุ้มเสาโทริอิสีส้มเข้มก็ถึงเขตวิหารศาล โดยศาลเจ้านี้เป็นส่วนหนึ่งของ คามุ จินจะ ศาลเจ้าริมแม่น้ำคามุ โดยที่นี่ถือเป็นศาลตอนล่าง ส่วนอีกที่นึง คือ ศาลเจ้าคามิงะโมะ (Kamigamo Jinja) อยู่เหนือขึ้นไปอีกซึ่งก็เป็นมรดกโลกเหมือนกันครับ สร้างขึ้นตามความเชื่อเพื่อปกป้องปีศาจเข้าสู่เมือง ตามประวัติว่า ศาลหลังแรกถูกสร้างมาในยุคจักรพรรดิเท็มมุ ราวๆ พ.ศ. ๑๒๑๘ – ๑๒๒๙ ต่อมาได้มีการสร้างอาคารด้วยสถาปัตยกรรมอันวิจิตรเพิ่มขึ้นในยุคเฮย์อัน ของจักรพรรดิซางะ ช่วงปี ๑๓๕๒ – ๑๓๖๖ โดยถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองสุดๆ ของศาลเจ้า เพราะนอกจากนี้การทะนุบำรุงแล้ว จักรพรรดิยังได้ส่งพระธิดามาทำพิธีที่ศาลเจ้านี้เป็นครั้งแรกด้วย จนเป็นประเพณีติดต่อกันทุกปี ก่อนจะถูกระงับไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙
นอกจากนี้ยังได้เกิดประเพณีขบวนแห่ประจำปี ที่เรียกว่า อาโอะอิ มัตสึริ (Aoi Matsuri) จากพระราชวังมาที่ศาลเจ้าชิโมะงะโมะ ไปยังศาลเจ้าคามิงะโมะ สืบทอดกันมาจนกลายเป็น ๑ ใน ๓ งานประเพณีที่ใหญ่ที่สุดของเมืองในปัจจุบัน ขณะที่ในยุคสงครามกลางเมืองศาลเจ้านี้จัดเป็น ๑ ในสถานที่ที่รอดพ้นจากการเผาทำลายมาได้ และยังเป็นศาลเจ้าที่สมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จพระราชดำเนินทรงสักการะหลายพระองค์ด้วย
ผมเดินลัดเลาะมาจนถึง นาคะ มง (Naka mon) ซุ้มประตูไม้ทางเข้าศาลเจ้าด้านใน มีลักษณะคล้ายๆ มีผู้คนเดินเข้าไปภายในตลอด ... และเจอนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยแฮะ ... ภายในศาลเจ้านั้นมีศาลเล็กๆ เรียงรายอยู่รอบบริเวณหน้าวิหารหลัก ประมาณเกือบ ๑๐ ศาลได้กระมัง ส่วนตัววิหาร หรือ ฮนเด็ง (Honden) มีลักษณะหน้าจั่วทรงโค้งคล้ายๆ กับซุ้มประตูคาระมง ที่วัดนิชิ ฮงงัน ตัวอาคารน่าจะเป็นสถาปัตยกรรมในยุคเฮอัง ส่วนศาลเจ้าจริงๆ นั้นอยู่ลึกเข้าไปอีกครับ และมี ๒ ศาล ภายในประดิษฐานสิ่งสักการะเทพเจ้า ๒ องค์ คือ เทพเจ้า คาโมะทะเกะสึโนะมิ โนะ มิโกะโตะ (Kamotaketsunomi no mikoto) และ เทพเจ้า ทามะโยะริฮิเมะ โนะ มิโกะโตะ (Tamayorihime no mikoto) โดยเพิ่งทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่เมื่อปี ๒๔๐๖ และถูกจัดให้เป็นสมบัติชาติ
ผมสังเกตว่า ภายในเหมือนจะไม่ได้มีของให้เราดูเพียงแค่นี้แฮะ ผมเห็นทางซ้ายมือมีประตูเล็กๆ เป็นทางเข้าอยู่ มีรั้วไม้ไผ่เตี้ยๆ กั้นขวางทาง แต่ผมเห็นภายในนั้นกลับมาอยู่เดินชมอยู่ ... แสดงว่า เขาต้องให้เข้าได้ ก็เลยเดินดูรอบๆ เห็นเหมือนช่องจำหน่ายตั๋ว มีคนอยู่ภายใน ด้านหน้าแปะป้าย ๕๐๐ เยน ด้วยความสงสัยเลยเดินเข้าไปถาม คนนึงพูดอังกฤษ คนนึงพูดญี่ปุ่น สรุปใจความคือ ... ถ้าเข้าต้องเสียตังค์นะจ๊ะ แล้วข้างในมีอะไร ก็ไม่รู้? แต่ไหนๆ ก็มาถึงนี่แล้ว เวลาก็ยังพอมี ยอมเข้าก็ได้!! จ่ายเงินเรียบร้อยก็ได้ตั๋วพร้อมสูจิบัตรเป็นภาษาญี่ปุ่น T-T สงสัยคงมีประชากรต่างด้าวส่วนน้อยที่เข้าไปดู ก็เลยไม่ได้ทำเป็นภาษาอื่นแจก
เข้ามาภายในสิ่งแรกที่พบคือศาล ๓ หลัง ขนาดสูงประมาณ ๒ เมตรได้ เรียงกันอยู่กลางลานหิน ด้านหน้ามีศาลาอยู่ ที่นี่คือศาลมิตซุย (Mitsui jinja) ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของรัฐบาล ดูจากลักษณะก็น่าจะเก่าแก่ไม่น้อย นอกจากนี้ตรงซุ้มประตูหน้าศาล ยังมีการจัดแสดงภาพวาด (น่าจะ) โบราณให้ได้ชมกัน
ถัดมาจากศาลก็เป็นส่วนของห้องจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารไม้ เปิดให้เข้าชมทั้งหมด ๒ หลัง อาคารแรกมีพวกเครื่องครัว ของใช้ และอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีต่างๆ ของศาลเจ้า เครื่องเซ่นบูชา เออ ก็ถือว่าแปลกดี แม้จะอ่านคำบรรยายไม่ออกเลยก็เถอะ ... ส่วนต่อมาถูกคั่นด้วยรถเกวียนลากทรงสวยที่จอดอยู่ในโรงจอดเล็กๆ และอาคารหลังสุดท้ายจัดแสดงชุดที่ใช้ในพิธีการ และภาพวาดต่างๆ นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีป้ายบอกพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่มีภายในบริเวณนี้
หมดแล้วครับ ... ไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ หลายคนอาจมองว่าไม่คุ้ม แต่ผมถือเป็นค่าประสบการณ์ และของพวกนี้ เราคงไม่สามารถหาชมได้ง่ายๆ แน่ ...
จากภายในศาลเจ้าเราออกมาสู่ภายนอก ด้านหน้าทางเข้าก็คล้ายๆ กับศาลเจ้าหลายๆ แห่งครับ มีศาลาที่เรียกว่า ไม โดะโนะ (Mai dono) อยู่ตรงกลาง ซึ่งศาลานี้สร้างมาตั้งแต่ปี ๒๑๗๑ โดยในอดีตผู้อัญเชิญพระราชสาสน์แห่งสมเด็จพระจักรพรรดิได้ใช้ทำพิธีสวดมนต์และมอบสิ่งของบนนี้
และไฮไลต์อีกอย่างของที่นี่ก็คือ ศาลน้ำลอดครับ!! อยู่ตรงสะพานข้ามลำธารเล็กๆ ทางด้านข้างของศาลเจ้าหลัก ซึ่งศาลนี้มีชื่อว่า มิตะระชิ (Mitarashi jinja) ตั้งคร่อมลำธารกันเลยทีเดียวครับ โดยภายในเป็นที่สถิตของเทพเจ้าแห่งการชำระล้างและน้ำบริสุทธิ์ อาจเป็นกุศโลบายเพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกว่าได้ใช้น้ำที่สะอาดกันกระมัง
จริงๆ ในอาณาเขตของศาลเจ้าชิโมะงะโมะ นี้เนี่ยมีศาลเล็กๆ อีกมากมายรอบพื้นที่ป่าทั้งหมด อ่อ ... อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า เราเข้ามาทางด้านข้างจึงไม่ได้เห็นสภาพด้านหน้าว่าเป็นอย่างไร และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องใช้ทางนั้นเดินออกจากศาลเจ้าแล้ว โดยผ่านหน้าซุ้มประตูสีส้มแป๊ดขนาดใหญ่ดูสวยงาม แลนด์มาร์กของทางวัด ใครมาก็ต้องชักภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกกัน
ถัดออกมาก็เป็นศาลเล็กๆ อีกหลายหลัง มีชาวญี่ปุ่นยืนขอพรกันอยู่ถ้วนหน้า แล้วก็มีร้านขายของที่ระลึก เดินไปอีกสักหน่อยเมื่อพ้นเสาโทริอิ ก็เท่ากับเราพ้นเขตของศาลเจ้าไปแล้ว แต่... อาณาเขตของที่นี่เป็นสวนค่อนข้างกว้างมากตามสไตล์ญี่ปุ่น มีต้นไม้ใหญ่มากมายยืนต้นเสมือนเป็นปอดเล็กๆ ของคนเกียวโตในยุคปัจจุบัน ผิดกับวัดในเมืองบ้านเราที่มักจะหมดพื้นที่ไปกับการสร้างป่าคอนกรีต อาคารและถาวรวัตถุโน่นนี่นั่น ... (แหม่ ... วกมาที่บ้านเราอีกจนได้)
อ่อ ... แถวนี้มีร้านขายขนมด้วยนะครับ ... เป็นร้านเล็กๆ ชื่อว่า “ซารุยะ” (さるや) ขายขนมโบราณคล้ายๆ ไดฟุกุนครสวรรค์ เรียกว่า “ซารุโมจิ” (申餅) จัดเป็นเซ็ตทานคู่กับน้ำชา โชคยังดีที่มีเมนูภาษาอังกฤษด้วย ทำให้สามารถรู้ได้หน่อยว่าไอ้ที่จะสั่งเนี่ยมันคืออะไรว้า ผมเลือกเซ็ตทานคู่กับน้ำชา ในราคา ๓๕๐ เยน ที่นี่ใช้ระบบสั่งและรับของที่เคาน์เตอร์ พอทานเสร็จก็นำไปคืนที่เดิม
เวลานี้ผมนี่เลือกที่นั่งไม่ยากเลยครับ เพราะนี่มันจะปิดร้านแล้ว มาสำรวจไอ้เจ้าก้อนกลมๆ นี้ก่อนเลย เขาบอกว่า โมจิทำมาจากแป้งข้าวส่วนสีที่ออกชมพูได้มาจากถั่วแดง ส่วนไส้ก็เป็นถั่วแดงต้มน้ำเชื่อมแต่ไม่ได้บดนะ ผ่าออกมายังคงรูปอยู่ รสชาติก็คล้ายๆ กับกินโมจิไส้ถั่วแดงนั่นล่ะครับ หวานไม่มาก จิบชาไป ชมสวนยามเย็นไป โอ้ ... ชิล (ไปมั้ย?) ว่ากันว่าโมจินี้ใครได้ทานจะมีพลานามัยที่สมบูรณ์อีกด้วย นอกจากนี้ในถาดเขาได้แนบแผ่นกระดาษพิมพ์ข้อความเป็นภาษาท้องถิ่นน่าจะเล่าถึงตำนานขนม หรือเรื่องของร้าน อันนี้ผมไม่แน่ใจนัก เพราะผมอ่านไม่ออก ฮ่าๆๆ
นั่งพักเท้าเพลินๆ สักพักก็ออกเดินทางต่อ ไปตามป่าเล็กๆ ที่เรียกว่า ทาดะสุ โนะ โมะริ (Tadasu no mori) บางจุดมีต้นซากุระให้นักท่องเที่ยวให้ถ่ายรูป เห็นว่าแต่ละปีในละแวกนี้จะมีการจัดกิจกรรมขี่ม้ายิงธนูด้วย คือให้ผู้แข่งขันแต่งกายในชุดโบราณควบม้าแล้วยิงธนูบนหลังม้าให้ผ่าเป้าไม้กระดาน มันเป็นอะไรที่น่าดูมาก แต่ไม่ใช่วันนี้นะ ...
ผมเดินมาเรื่อยๆ จนเจอศาลเจ้าอีกแห่งนึง อยู่แถวๆ ปากทาง เป็นศาลเล็กๆ มีเสาโทริอิ ๒ เสาขนานกันเป็นทางเข้า ที่นี่คือ ”ศาลเจ้าคาไว” (Kawai jinja) ศาลที่สักการะ เทพเจ้า ทามะโยะริฮิเมะ โนะ มิโกะโตะ แม้จะชื่อเดียวกับที่ศาลเจ้าใหญ่ แต่เขาบอกว่าเป็นคนละองค์กันครับ องค์นี้มีความเชื่อว่า เป็นเทพผู้คุ้มครองสตรี และเกี่ยวข้องกับความสวยความงาม
ตัววิหารศาลเจ้านั้นบางส่วนอยู่ในการปฏิสังขรณ์ ทัศนียภาพจึงเห็นฉากกั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของภาพถ่ายด้วย ระหว่างเดินสำรวจรอบศาลก็ไปพบแม่ลูกคู่หนึ่งกำลังวาดรูปหน้าผู้หญิงบนแผ่นไม้ทรงกลมมีด้ามถือดูคล้ายกับคันฉ่อง ก็เลยสงสัยถามเขาไปว่า ทำอะไรกัน เขาบอกกำลังวาดรูปเพื่อส่งคำอธิษฐานให้ตนเองสวยขึ้น!! เฮ้ย แบบนี้ก็มีด้วย พลางมองหน้าลูกสาววัยรุ่นของเธอที่ดูราวกับหลุดมาจากในซีรี่ย์ญี่ปุ่นแล้วก็นึกในใจว่า ... น่ารักขนาดนี้ยังจะขออีกทำไมน้า พอหันไปดูข้างๆ ศาลก็เห็นช่องวางแผ่นไม้เอมะ ที่ถูกวาดรูปใบหน้าเต็มไปหมด เออ ก็แปลกดีแฮะ
นอกจากนี้ที่ศาลเจ้ายังมีบ้าน ๑๐ ตารางนิ้ว แบบจำลองที่ คาโมะ โนะ โจะเมย์ (Kamo no Chōmei) นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นในยุคคามะคุระ เคยอาศัยใช้เขียนบทกวี โฮะโจะกิ (Hojoki) ด้วย
ผมเดินออกมาจากสวนเพื่อไปสู่ป้ายรถเมล์ตรงสถานีรถไฟใต้ดินเดะมะจิยะนะงิ (Demachiyanagi) โดยเดินตรงดุ่มๆ ไปอย่างเดียว ผ่านบ้านคนลัดเลาะจนถึงถนนใหญ่ ที่ฝั่งตรงกันข้ามเป็นสวนริมแม่น้ำ ดูน่าสนใจเลยแว่บเดินเข้าไปดูสักหน่อย ... จุดนี้เขาเรียกว่า “คาโมะงะวะ เดลต้า” (Kamogawa Delta) เป็นพื้นที่แหลมสามเหลี่ยมคล้ายปลายดาบ เชื่อมระหว่างแม่น้ำคาโมะ กับ แม่น้ำทาคะโนะ (Takanogawa) บรรจบกันที่ตรงนี้พอดี เห็นมีหนุ่มสาว ต่างพากันมานั่งชิลล์กันเพียบเลย นั่งดูน้ำไหลผ่านพลางทิ้งความเหนื่อยล้าให้ล่องลอยไป ตรงฝั่งแม่น้ำทาคะโนะนี่เห็นเขาว่าถ้าเดินขึ้นไปตามทางจะเจอจุดชมซากุระด้วยนะ แต่เวลานี้คงไม่ไหวดีกว่า
น้ำในแม่น้ำตอนนี้มีไม่มากครับ บางครอบครัวก็เอาลูกมาวิ่งเล่น นั่งเล่นเพลินๆ กันไป และที่น่าสนใจอีกอย่างของที่นี่ก็คือโขดหินที่ถูกเรียงแบบเว้นช่องใช้เป็นทางเดินเชื่อมระหว่าง ๒ ฝั่ง มีบางก้อนถูกสลักเป็นรูปเต่าด้วย กลายเป็นสิ่งทีทำให้ผู้มาเยือนได้เพลิดเพลินกับการกระโดดข้ามไปมา ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ และวัยรุ่นอย่างผม ...
เป็นบรรยายที่ไม่คิดว่าจะได้เจอในทริปนี้ ...
น่าเสียดายที่เกียวโตไม่ใช่ปลายทางของผม ไม่เช่นนั้นผมคงนั่งอยู่ให้นานกว่านี้ ได้ซึมซับบรรยากาศให้มากกว่านี้ ... แต่เวลานี้ คงต้องไปแล้วล่ะ
รถเมล์พาผมมายังสถานีรถไฟเกียวโต เพื่อนั่งกลับไปยังเมืองนาโกย่า จ.ไอจิ เมืองที่ผมใช้บินลงมาเหยียบญี่ปุ่นเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ ๓ วันที่แล้ว สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ หาตั๋วรถไฟนั่งไป ซึ่งหากเราจะใช้พาสทาคะยะมะ โฮคุริคุ เราต้องนั่งอ้อมกลับไปที่เดิมที่เรามา เพราะพาสนี้ไม่สามารถใช้เพื่อวิ่งตรงจากเมืองเกียวโต ไปยังนาโกย่าได้ (อันนี้งงเหมือนกันว่า ทำไมไม่ยอมให้เชื่อมต่อเส้นทางเป็นวงกลมเลยนะ? สงสัยกลัวนักท่องเที่ยวไปแค่ ๓ เมืองหลักคือ โอซาก้า เกียวโต นาโกย่า โดยไม่แวะไปเมืองต่างๆ ที่อยู่ไกลออกไปกระมัง)
ผมก็เลยต้องซื้อตั๋วเพิ่มครับ ... จริงๆ วางแผนไว้ว่าจะนั่งรถไฟธรรมดาไปเรื่อยๆ คาดว่าจะใช้เวลาถึงปลายทางราวๆ ๒ ชั่วโมงเศษ แต่ทว่า เวลาที่ผมมาถึงนี่ก็ ๖ โมงกว่าๆ แล้วสิ! เอายังไงดีล่ะ คิดอยู่พักใหญ่จึงตัดสินใจยอมเจียดเงินนั่งซินคังเซ็งไปดีกว่า ส่วนหนึ่งเพราะความไม่มั่นใจในการเดินทางที่ต้องมีการเปลี่ยนรถไฟหลายขบวน พูดง่ายๆ คือ กลัวเผลอหลับแล้วเลยจะงานงอก จึงต้องลงทุนเสียเงิน ๕,๐๗๐ เยน!! ประมาณ ๑,๕๐๐ กว่าบาท แลกกับการได้นั่งรถไฟความเร็วสูงข้ามภาคไปถึงที่หมายราวๆ ๔๐ นาที
ก่อนจะขึ้นรถไฟเผอิญเหลือบไปเห็นร้านขาย “วาฟเฟิลเบลเยี่ยม แมนเนเค่น” (Manneken) มีคนต่อแถวยืนรออยู่ ด้อมๆ มองๆ เออ น่าสนใจดีแฮะ แวะเข้าไปซื้อมาสักชิ้นกินแก้หิวบนรถ เป็นวาฟเฟิลช็อกโกแลตราดคาราเมล คาราเมลเข้มดี ส่วนช็อกโกแลตก็ไม่ค่อยขม และที่แน่นอนคือขนมชิ้นนี้ไม่หวานมาก
นี่น่าจะเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนของเขากระมัง เพราะบนรถไฟความเร็วสูงที่แสนแพงขบวนนี้ มีผู้โดยสารขึ้นกันเกือบเต็มทุกที่นั่ง ทำเอาผมคิดภาพตามเลยว่า ถ้าบ้านเราทำบ้างแล้วค่าโดยสารแพงขนาดนี้จะโหรงเหรงมั้ย? ... ก็ไม่รู้สินะ รู้แต่ว่าของที่นี่มันทำให้การเดินทางร่นระยะเวลาไปได้เยอะจริงๆ แป๊บเดียวผมก็มาโผล่ที่นาโกย่าแล้ว
ผมออกจากสถานีนาโกย่า ไปสู่ที่พักพิงในคืนนี้และอีก ๓ คืนข้างหน้า ที่ เกสต์เฮาส์ วาซาบิ นาโกย่า เอะกิมาเอะ (Guesthouse WASABI Nagoya Ekimae) อยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟเจอาร์นาโกย่าเลย พอเช็กอิน วางกระเป๋าไว้ในตู้นอน เสร็จสรรพก็ได้เวลาไปหาอะไรกิน แรกเริ่มเดิมทีว่าจะไปหาซูเปอร์มาร์เก็ตรอซื้อของลดราคาในเวลาห้างเกือบปิด ราวๆ สามทุ่ม แต่ดันไม่ได้ศึกษามาก่อนว่าแถวนี้ห้างไหนมันมีซูเปอร์ฯ บ้าง ถามคนแถวนั้นก็ดันไปเจอนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยกัน แน่นอน เขาก็ไม่รู้ เลยตัดสินใจเดินไปเรื่อยๆ จนไปเจอห้างเมย์เท๊ตสึ (Meitetsu) ที่ปิดให้บริการในส่วนดีพาร์เม้นท์สโตร์แล้ว แต่ร้านอาหารที่อยู่ชั้นบนยังเปิดอยู่จนถึงราวๆ ๕ ทุ่ม ก็เลยลองขึ้นไปดูครับ
บนชั้น ๙ ของห้างยังคงมีร้านขายอาหารอยู่ราวๆ ๑๐ ร้านได้ ส่วนใหญ่ก็ราคาของขึ้นห้างล่ะครับ มีร้านนึงเดินไปเจอแล้วสะดุดตาทันทีเพราะมีรูปหมูตัวใหญ่นั่งผ้าแดงพันเชือกที่เอวยืนอยู่หน้าร้าน ร้านนี้ชื่อว่า “ยาบะ ทง” (矢場とん) ขายเมนูขึ้นชื่อของนาโกย่าอย่าง “มิโสะคัตสึ” (みそかつ) หรือ หมูทอดราดซอสเต้าเจี้ยวเค็มนั่นเอง ที่สำคัญคือร้านนี้เป็น ๑ ในลิสต์ที่ผมอยากกินเสียด้วย ถึงจะไม่ใช่สาขานี้ก็เถอะ แต่ไหนๆ มาเจอแล้วก็ต้องลองดู
พนักงานพาผมไปนั่งหน้าบาร์ พร้อมกับชายร่างใหญ่ที่เพิ่งเข้ามารอคิว ผมสั่งชุด ข้าวหมูทอดราดมิโสะมา ๑ ที่ ในชุดนี้มีกะหล่ำซอยกับแครอท และซุปมิโสะมาให้ ในราคา ๑,๓๐๐ เยน จัดว่าโหดอยู่เหมือนกัน หมูทอดที่ให้มาชิ้นใหญ่อยู่ครับ กัดเข้าไปคำแรกนี่สัมผัสได้ถึงเนื้อนุ่มและเคี้ยวง่ายมาก ซอสที่คิดว่าจะเค็มก็เค็มไม่มากนัก อร่อยดี พอทานไปสักพักเฮียล่ำเหมือนจะรู้ว่าผมไม่ใช่คนที่นี่ แกเลยชวนผมให้เอางาขาวป่นในขวดที่เขาวางไว้เป็นเครื่องปรุงใส่ลงไปด้วย แกบอกว่า โออิชิ ไอ้เราก็เชื่อคนง่าย ลองทำตามเขาแล้วทาน ... เออ มันก็อร่อยดีแฮะ มีความมันและได้กลิ่นหอมของงา เสมือนเพิ่มอรรถรสให้ดีขึ้น
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความหิวหรือความงก ผมจึงซัดไปซะหมดทุกสิ่งที่อยู่ในเซ็ต แล้วคิดเงิน ออกมาเดินเตร็ดเตร่ดูวิถีชาวเมืองยามค่ำคืนสักแป๊บ ในเวลาที่ห้างร้านต่างปิดกันหมด แต่ผู้คนก็ยังคงเดินขวักไขว่อยู่ในละแวกสถานีรถไฟ บ้างมารอรถบัสข้ามจังหวัด บ้างมาหาความสำราญยามราตรี บ้างก็เดินหาอะไรรองท้องก่อนนอน ส่วนตัวผมนั้น เดินสักพักจึงกลับเข้าสู่ที่พักเพื่อพักผ่อนเก็บแรงไว้ เพราะพรุ่งนี้จะต้องตื่นแต่เช้า เดินทางข้ามจังหวัด แถมอาจต้องขึ้นเขาด้วย ...น่าสนุกใช่ไหมล่ะ?
อ่านต่อฉบับหน้า...
ข้อมูลบางส่วน : http://www.shimogamo-jinja.or.jp/english.html
Alone in Gifu ๑.๐ : กว่าจะถึงทาคะยะมะ ...
Alone in Gifu ๑.๑ : ตะลุย หมู่บ้านชาวฮิดะ Hida no sato
Alone in Gifu ๑.๒ : มรดกโลก Shirakawa go
Alone in Gifu ๑.๓ : Sanmachi เขาว่าที่นี่ Little Kyoto
Alone in Chubu : ข้าวหน้าทะเล สุดอลัง!! ที่ Kanazawa
Alone in Kyoto ๒.๐ : Nishi hongan ji วัดนี้ไม่ธรรมดา
Alone in Kyoto ๒.๑ : Nijo castle ที่นี่(เคย)มีปราสาท?
๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙ : ศาลเจ้าชิโมะงะโมะ นครเกียวโต
ตอนนี้ผมอยู่ทางตอนบนของเมืองเกียวโต รถเมล์สาย ๔ พาชายวัย๓๐ ต้นๆ พร้อมกระเป๋าสะพายหลังขนาดใหญ่ มาส่งตรงทางเข้าด้านข้างของศาสนสถานสำคัญของเมือง นั่นคือ “ศาลเจ้าชิโมะงะโมะ” (Shimogamo jinja) ซึ่งที่นี่ก็ถูกจดบันทึกให้เป็นมรดกโลกของทางยูเนสโก เป็น ๑ ในศาลเจ้าชินโตที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น และยังเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์แห่งเมืองเกียวโตโบราณอีกด้วย
บอกแล้วครับว่าวันนี้เราพามาทัวร์มรดกโลกล้วนๆ
ซึ่งทางเข้านี้ถือว่าใกล้กับศาลเจ้ามากที่สุดแล้วมั้งเพราะพอเดินเข้าซอย ทะลุมานิดนึงผ่านซุ้มเสาโทริอิสีส้มเข้มก็ถึงเขตวิหารศาล โดยศาลเจ้านี้เป็นส่วนหนึ่งของ คามุ จินจะ ศาลเจ้าริมแม่น้ำคามุ โดยที่นี่ถือเป็นศาลตอนล่าง ส่วนอีกที่นึง คือ ศาลเจ้าคามิงะโมะ (Kamigamo Jinja) อยู่เหนือขึ้นไปอีกซึ่งก็เป็นมรดกโลกเหมือนกันครับ สร้างขึ้นตามความเชื่อเพื่อปกป้องปีศาจเข้าสู่เมือง ตามประวัติว่า ศาลหลังแรกถูกสร้างมาในยุคจักรพรรดิเท็มมุ ราวๆ พ.ศ. ๑๒๑๘ – ๑๒๒๙ ต่อมาได้มีการสร้างอาคารด้วยสถาปัตยกรรมอันวิจิตรเพิ่มขึ้นในยุคเฮย์อัน ของจักรพรรดิซางะ ช่วงปี ๑๓๕๒ – ๑๓๖๖ โดยถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองสุดๆ ของศาลเจ้า เพราะนอกจากนี้การทะนุบำรุงแล้ว จักรพรรดิยังได้ส่งพระธิดามาทำพิธีที่ศาลเจ้านี้เป็นครั้งแรกด้วย จนเป็นประเพณีติดต่อกันทุกปี ก่อนจะถูกระงับไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙
นอกจากนี้ยังได้เกิดประเพณีขบวนแห่ประจำปี ที่เรียกว่า อาโอะอิ มัตสึริ (Aoi Matsuri) จากพระราชวังมาที่ศาลเจ้าชิโมะงะโมะ ไปยังศาลเจ้าคามิงะโมะ สืบทอดกันมาจนกลายเป็น ๑ ใน ๓ งานประเพณีที่ใหญ่ที่สุดของเมืองในปัจจุบัน ขณะที่ในยุคสงครามกลางเมืองศาลเจ้านี้จัดเป็น ๑ ในสถานที่ที่รอดพ้นจากการเผาทำลายมาได้ และยังเป็นศาลเจ้าที่สมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จพระราชดำเนินทรงสักการะหลายพระองค์ด้วย
ผมเดินลัดเลาะมาจนถึง นาคะ มง (Naka mon) ซุ้มประตูไม้ทางเข้าศาลเจ้าด้านใน มีลักษณะคล้ายๆ มีผู้คนเดินเข้าไปภายในตลอด ... และเจอนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยแฮะ ... ภายในศาลเจ้านั้นมีศาลเล็กๆ เรียงรายอยู่รอบบริเวณหน้าวิหารหลัก ประมาณเกือบ ๑๐ ศาลได้กระมัง ส่วนตัววิหาร หรือ ฮนเด็ง (Honden) มีลักษณะหน้าจั่วทรงโค้งคล้ายๆ กับซุ้มประตูคาระมง ที่วัดนิชิ ฮงงัน ตัวอาคารน่าจะเป็นสถาปัตยกรรมในยุคเฮอัง ส่วนศาลเจ้าจริงๆ นั้นอยู่ลึกเข้าไปอีกครับ และมี ๒ ศาล ภายในประดิษฐานสิ่งสักการะเทพเจ้า ๒ องค์ คือ เทพเจ้า คาโมะทะเกะสึโนะมิ โนะ มิโกะโตะ (Kamotaketsunomi no mikoto) และ เทพเจ้า ทามะโยะริฮิเมะ โนะ มิโกะโตะ (Tamayorihime no mikoto) โดยเพิ่งทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่เมื่อปี ๒๔๐๖ และถูกจัดให้เป็นสมบัติชาติ
ผมสังเกตว่า ภายในเหมือนจะไม่ได้มีของให้เราดูเพียงแค่นี้แฮะ ผมเห็นทางซ้ายมือมีประตูเล็กๆ เป็นทางเข้าอยู่ มีรั้วไม้ไผ่เตี้ยๆ กั้นขวางทาง แต่ผมเห็นภายในนั้นกลับมาอยู่เดินชมอยู่ ... แสดงว่า เขาต้องให้เข้าได้ ก็เลยเดินดูรอบๆ เห็นเหมือนช่องจำหน่ายตั๋ว มีคนอยู่ภายใน ด้านหน้าแปะป้าย ๕๐๐ เยน ด้วยความสงสัยเลยเดินเข้าไปถาม คนนึงพูดอังกฤษ คนนึงพูดญี่ปุ่น สรุปใจความคือ ... ถ้าเข้าต้องเสียตังค์นะจ๊ะ แล้วข้างในมีอะไร ก็ไม่รู้? แต่ไหนๆ ก็มาถึงนี่แล้ว เวลาก็ยังพอมี ยอมเข้าก็ได้!! จ่ายเงินเรียบร้อยก็ได้ตั๋วพร้อมสูจิบัตรเป็นภาษาญี่ปุ่น T-T สงสัยคงมีประชากรต่างด้าวส่วนน้อยที่เข้าไปดู ก็เลยไม่ได้ทำเป็นภาษาอื่นแจก
เข้ามาภายในสิ่งแรกที่พบคือศาล ๓ หลัง ขนาดสูงประมาณ ๒ เมตรได้ เรียงกันอยู่กลางลานหิน ด้านหน้ามีศาลาอยู่ ที่นี่คือศาลมิตซุย (Mitsui jinja) ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของรัฐบาล ดูจากลักษณะก็น่าจะเก่าแก่ไม่น้อย นอกจากนี้ตรงซุ้มประตูหน้าศาล ยังมีการจัดแสดงภาพวาด (น่าจะ) โบราณให้ได้ชมกัน
ถัดมาจากศาลก็เป็นส่วนของห้องจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารไม้ เปิดให้เข้าชมทั้งหมด ๒ หลัง อาคารแรกมีพวกเครื่องครัว ของใช้ และอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีต่างๆ ของศาลเจ้า เครื่องเซ่นบูชา เออ ก็ถือว่าแปลกดี แม้จะอ่านคำบรรยายไม่ออกเลยก็เถอะ ... ส่วนต่อมาถูกคั่นด้วยรถเกวียนลากทรงสวยที่จอดอยู่ในโรงจอดเล็กๆ และอาคารหลังสุดท้ายจัดแสดงชุดที่ใช้ในพิธีการ และภาพวาดต่างๆ นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีป้ายบอกพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่มีภายในบริเวณนี้
หมดแล้วครับ ... ไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ หลายคนอาจมองว่าไม่คุ้ม แต่ผมถือเป็นค่าประสบการณ์ และของพวกนี้ เราคงไม่สามารถหาชมได้ง่ายๆ แน่ ...
จากภายในศาลเจ้าเราออกมาสู่ภายนอก ด้านหน้าทางเข้าก็คล้ายๆ กับศาลเจ้าหลายๆ แห่งครับ มีศาลาที่เรียกว่า ไม โดะโนะ (Mai dono) อยู่ตรงกลาง ซึ่งศาลานี้สร้างมาตั้งแต่ปี ๒๑๗๑ โดยในอดีตผู้อัญเชิญพระราชสาสน์แห่งสมเด็จพระจักรพรรดิได้ใช้ทำพิธีสวดมนต์และมอบสิ่งของบนนี้
และไฮไลต์อีกอย่างของที่นี่ก็คือ ศาลน้ำลอดครับ!! อยู่ตรงสะพานข้ามลำธารเล็กๆ ทางด้านข้างของศาลเจ้าหลัก ซึ่งศาลนี้มีชื่อว่า มิตะระชิ (Mitarashi jinja) ตั้งคร่อมลำธารกันเลยทีเดียวครับ โดยภายในเป็นที่สถิตของเทพเจ้าแห่งการชำระล้างและน้ำบริสุทธิ์ อาจเป็นกุศโลบายเพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกว่าได้ใช้น้ำที่สะอาดกันกระมัง
จริงๆ ในอาณาเขตของศาลเจ้าชิโมะงะโมะ นี้เนี่ยมีศาลเล็กๆ อีกมากมายรอบพื้นที่ป่าทั้งหมด อ่อ ... อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า เราเข้ามาทางด้านข้างจึงไม่ได้เห็นสภาพด้านหน้าว่าเป็นอย่างไร และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องใช้ทางนั้นเดินออกจากศาลเจ้าแล้ว โดยผ่านหน้าซุ้มประตูสีส้มแป๊ดขนาดใหญ่ดูสวยงาม แลนด์มาร์กของทางวัด ใครมาก็ต้องชักภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกกัน
ถัดออกมาก็เป็นศาลเล็กๆ อีกหลายหลัง มีชาวญี่ปุ่นยืนขอพรกันอยู่ถ้วนหน้า แล้วก็มีร้านขายของที่ระลึก เดินไปอีกสักหน่อยเมื่อพ้นเสาโทริอิ ก็เท่ากับเราพ้นเขตของศาลเจ้าไปแล้ว แต่... อาณาเขตของที่นี่เป็นสวนค่อนข้างกว้างมากตามสไตล์ญี่ปุ่น มีต้นไม้ใหญ่มากมายยืนต้นเสมือนเป็นปอดเล็กๆ ของคนเกียวโตในยุคปัจจุบัน ผิดกับวัดในเมืองบ้านเราที่มักจะหมดพื้นที่ไปกับการสร้างป่าคอนกรีต อาคารและถาวรวัตถุโน่นนี่นั่น ... (แหม่ ... วกมาที่บ้านเราอีกจนได้)
อ่อ ... แถวนี้มีร้านขายขนมด้วยนะครับ ... เป็นร้านเล็กๆ ชื่อว่า “ซารุยะ” (さるや) ขายขนมโบราณคล้ายๆ ไดฟุกุนครสวรรค์ เรียกว่า “ซารุโมจิ” (申餅) จัดเป็นเซ็ตทานคู่กับน้ำชา โชคยังดีที่มีเมนูภาษาอังกฤษด้วย ทำให้สามารถรู้ได้หน่อยว่าไอ้ที่จะสั่งเนี่ยมันคืออะไรว้า ผมเลือกเซ็ตทานคู่กับน้ำชา ในราคา ๓๕๐ เยน ที่นี่ใช้ระบบสั่งและรับของที่เคาน์เตอร์ พอทานเสร็จก็นำไปคืนที่เดิม
เวลานี้ผมนี่เลือกที่นั่งไม่ยากเลยครับ เพราะนี่มันจะปิดร้านแล้ว มาสำรวจไอ้เจ้าก้อนกลมๆ นี้ก่อนเลย เขาบอกว่า โมจิทำมาจากแป้งข้าวส่วนสีที่ออกชมพูได้มาจากถั่วแดง ส่วนไส้ก็เป็นถั่วแดงต้มน้ำเชื่อมแต่ไม่ได้บดนะ ผ่าออกมายังคงรูปอยู่ รสชาติก็คล้ายๆ กับกินโมจิไส้ถั่วแดงนั่นล่ะครับ หวานไม่มาก จิบชาไป ชมสวนยามเย็นไป โอ้ ... ชิล (ไปมั้ย?) ว่ากันว่าโมจินี้ใครได้ทานจะมีพลานามัยที่สมบูรณ์อีกด้วย นอกจากนี้ในถาดเขาได้แนบแผ่นกระดาษพิมพ์ข้อความเป็นภาษาท้องถิ่นน่าจะเล่าถึงตำนานขนม หรือเรื่องของร้าน อันนี้ผมไม่แน่ใจนัก เพราะผมอ่านไม่ออก ฮ่าๆๆ
นั่งพักเท้าเพลินๆ สักพักก็ออกเดินทางต่อ ไปตามป่าเล็กๆ ที่เรียกว่า ทาดะสุ โนะ โมะริ (Tadasu no mori) บางจุดมีต้นซากุระให้นักท่องเที่ยวให้ถ่ายรูป เห็นว่าแต่ละปีในละแวกนี้จะมีการจัดกิจกรรมขี่ม้ายิงธนูด้วย คือให้ผู้แข่งขันแต่งกายในชุดโบราณควบม้าแล้วยิงธนูบนหลังม้าให้ผ่าเป้าไม้กระดาน มันเป็นอะไรที่น่าดูมาก แต่ไม่ใช่วันนี้นะ ...
ผมเดินมาเรื่อยๆ จนเจอศาลเจ้าอีกแห่งนึง อยู่แถวๆ ปากทาง เป็นศาลเล็กๆ มีเสาโทริอิ ๒ เสาขนานกันเป็นทางเข้า ที่นี่คือ ”ศาลเจ้าคาไว” (Kawai jinja) ศาลที่สักการะ เทพเจ้า ทามะโยะริฮิเมะ โนะ มิโกะโตะ แม้จะชื่อเดียวกับที่ศาลเจ้าใหญ่ แต่เขาบอกว่าเป็นคนละองค์กันครับ องค์นี้มีความเชื่อว่า เป็นเทพผู้คุ้มครองสตรี และเกี่ยวข้องกับความสวยความงาม
ตัววิหารศาลเจ้านั้นบางส่วนอยู่ในการปฏิสังขรณ์ ทัศนียภาพจึงเห็นฉากกั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของภาพถ่ายด้วย ระหว่างเดินสำรวจรอบศาลก็ไปพบแม่ลูกคู่หนึ่งกำลังวาดรูปหน้าผู้หญิงบนแผ่นไม้ทรงกลมมีด้ามถือดูคล้ายกับคันฉ่อง ก็เลยสงสัยถามเขาไปว่า ทำอะไรกัน เขาบอกกำลังวาดรูปเพื่อส่งคำอธิษฐานให้ตนเองสวยขึ้น!! เฮ้ย แบบนี้ก็มีด้วย พลางมองหน้าลูกสาววัยรุ่นของเธอที่ดูราวกับหลุดมาจากในซีรี่ย์ญี่ปุ่นแล้วก็นึกในใจว่า ... น่ารักขนาดนี้ยังจะขออีกทำไมน้า พอหันไปดูข้างๆ ศาลก็เห็นช่องวางแผ่นไม้เอมะ ที่ถูกวาดรูปใบหน้าเต็มไปหมด เออ ก็แปลกดีแฮะ
นอกจากนี้ที่ศาลเจ้ายังมีบ้าน ๑๐ ตารางนิ้ว แบบจำลองที่ คาโมะ โนะ โจะเมย์ (Kamo no Chōmei) นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นในยุคคามะคุระ เคยอาศัยใช้เขียนบทกวี โฮะโจะกิ (Hojoki) ด้วย
ผมเดินออกมาจากสวนเพื่อไปสู่ป้ายรถเมล์ตรงสถานีรถไฟใต้ดินเดะมะจิยะนะงิ (Demachiyanagi) โดยเดินตรงดุ่มๆ ไปอย่างเดียว ผ่านบ้านคนลัดเลาะจนถึงถนนใหญ่ ที่ฝั่งตรงกันข้ามเป็นสวนริมแม่น้ำ ดูน่าสนใจเลยแว่บเดินเข้าไปดูสักหน่อย ... จุดนี้เขาเรียกว่า “คาโมะงะวะ เดลต้า” (Kamogawa Delta) เป็นพื้นที่แหลมสามเหลี่ยมคล้ายปลายดาบ เชื่อมระหว่างแม่น้ำคาโมะ กับ แม่น้ำทาคะโนะ (Takanogawa) บรรจบกันที่ตรงนี้พอดี เห็นมีหนุ่มสาว ต่างพากันมานั่งชิลล์กันเพียบเลย นั่งดูน้ำไหลผ่านพลางทิ้งความเหนื่อยล้าให้ล่องลอยไป ตรงฝั่งแม่น้ำทาคะโนะนี่เห็นเขาว่าถ้าเดินขึ้นไปตามทางจะเจอจุดชมซากุระด้วยนะ แต่เวลานี้คงไม่ไหวดีกว่า
น้ำในแม่น้ำตอนนี้มีไม่มากครับ บางครอบครัวก็เอาลูกมาวิ่งเล่น นั่งเล่นเพลินๆ กันไป และที่น่าสนใจอีกอย่างของที่นี่ก็คือโขดหินที่ถูกเรียงแบบเว้นช่องใช้เป็นทางเดินเชื่อมระหว่าง ๒ ฝั่ง มีบางก้อนถูกสลักเป็นรูปเต่าด้วย กลายเป็นสิ่งทีทำให้ผู้มาเยือนได้เพลิดเพลินกับการกระโดดข้ามไปมา ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ และวัยรุ่นอย่างผม ...
เป็นบรรยายที่ไม่คิดว่าจะได้เจอในทริปนี้ ...
น่าเสียดายที่เกียวโตไม่ใช่ปลายทางของผม ไม่เช่นนั้นผมคงนั่งอยู่ให้นานกว่านี้ ได้ซึมซับบรรยากาศให้มากกว่านี้ ... แต่เวลานี้ คงต้องไปแล้วล่ะ
รถเมล์พาผมมายังสถานีรถไฟเกียวโต เพื่อนั่งกลับไปยังเมืองนาโกย่า จ.ไอจิ เมืองที่ผมใช้บินลงมาเหยียบญี่ปุ่นเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ ๓ วันที่แล้ว สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ หาตั๋วรถไฟนั่งไป ซึ่งหากเราจะใช้พาสทาคะยะมะ โฮคุริคุ เราต้องนั่งอ้อมกลับไปที่เดิมที่เรามา เพราะพาสนี้ไม่สามารถใช้เพื่อวิ่งตรงจากเมืองเกียวโต ไปยังนาโกย่าได้ (อันนี้งงเหมือนกันว่า ทำไมไม่ยอมให้เชื่อมต่อเส้นทางเป็นวงกลมเลยนะ? สงสัยกลัวนักท่องเที่ยวไปแค่ ๓ เมืองหลักคือ โอซาก้า เกียวโต นาโกย่า โดยไม่แวะไปเมืองต่างๆ ที่อยู่ไกลออกไปกระมัง)
ผมก็เลยต้องซื้อตั๋วเพิ่มครับ ... จริงๆ วางแผนไว้ว่าจะนั่งรถไฟธรรมดาไปเรื่อยๆ คาดว่าจะใช้เวลาถึงปลายทางราวๆ ๒ ชั่วโมงเศษ แต่ทว่า เวลาที่ผมมาถึงนี่ก็ ๖ โมงกว่าๆ แล้วสิ! เอายังไงดีล่ะ คิดอยู่พักใหญ่จึงตัดสินใจยอมเจียดเงินนั่งซินคังเซ็งไปดีกว่า ส่วนหนึ่งเพราะความไม่มั่นใจในการเดินทางที่ต้องมีการเปลี่ยนรถไฟหลายขบวน พูดง่ายๆ คือ กลัวเผลอหลับแล้วเลยจะงานงอก จึงต้องลงทุนเสียเงิน ๕,๐๗๐ เยน!! ประมาณ ๑,๕๐๐ กว่าบาท แลกกับการได้นั่งรถไฟความเร็วสูงข้ามภาคไปถึงที่หมายราวๆ ๔๐ นาที
ก่อนจะขึ้นรถไฟเผอิญเหลือบไปเห็นร้านขาย “วาฟเฟิลเบลเยี่ยม แมนเนเค่น” (Manneken) มีคนต่อแถวยืนรออยู่ ด้อมๆ มองๆ เออ น่าสนใจดีแฮะ แวะเข้าไปซื้อมาสักชิ้นกินแก้หิวบนรถ เป็นวาฟเฟิลช็อกโกแลตราดคาราเมล คาราเมลเข้มดี ส่วนช็อกโกแลตก็ไม่ค่อยขม และที่แน่นอนคือขนมชิ้นนี้ไม่หวานมาก
นี่น่าจะเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนของเขากระมัง เพราะบนรถไฟความเร็วสูงที่แสนแพงขบวนนี้ มีผู้โดยสารขึ้นกันเกือบเต็มทุกที่นั่ง ทำเอาผมคิดภาพตามเลยว่า ถ้าบ้านเราทำบ้างแล้วค่าโดยสารแพงขนาดนี้จะโหรงเหรงมั้ย? ... ก็ไม่รู้สินะ รู้แต่ว่าของที่นี่มันทำให้การเดินทางร่นระยะเวลาไปได้เยอะจริงๆ แป๊บเดียวผมก็มาโผล่ที่นาโกย่าแล้ว
ผมออกจากสถานีนาโกย่า ไปสู่ที่พักพิงในคืนนี้และอีก ๓ คืนข้างหน้า ที่ เกสต์เฮาส์ วาซาบิ นาโกย่า เอะกิมาเอะ (Guesthouse WASABI Nagoya Ekimae) อยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟเจอาร์นาโกย่าเลย พอเช็กอิน วางกระเป๋าไว้ในตู้นอน เสร็จสรรพก็ได้เวลาไปหาอะไรกิน แรกเริ่มเดิมทีว่าจะไปหาซูเปอร์มาร์เก็ตรอซื้อของลดราคาในเวลาห้างเกือบปิด ราวๆ สามทุ่ม แต่ดันไม่ได้ศึกษามาก่อนว่าแถวนี้ห้างไหนมันมีซูเปอร์ฯ บ้าง ถามคนแถวนั้นก็ดันไปเจอนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยกัน แน่นอน เขาก็ไม่รู้ เลยตัดสินใจเดินไปเรื่อยๆ จนไปเจอห้างเมย์เท๊ตสึ (Meitetsu) ที่ปิดให้บริการในส่วนดีพาร์เม้นท์สโตร์แล้ว แต่ร้านอาหารที่อยู่ชั้นบนยังเปิดอยู่จนถึงราวๆ ๕ ทุ่ม ก็เลยลองขึ้นไปดูครับ
บนชั้น ๙ ของห้างยังคงมีร้านขายอาหารอยู่ราวๆ ๑๐ ร้านได้ ส่วนใหญ่ก็ราคาของขึ้นห้างล่ะครับ มีร้านนึงเดินไปเจอแล้วสะดุดตาทันทีเพราะมีรูปหมูตัวใหญ่นั่งผ้าแดงพันเชือกที่เอวยืนอยู่หน้าร้าน ร้านนี้ชื่อว่า “ยาบะ ทง” (矢場とん) ขายเมนูขึ้นชื่อของนาโกย่าอย่าง “มิโสะคัตสึ” (みそかつ) หรือ หมูทอดราดซอสเต้าเจี้ยวเค็มนั่นเอง ที่สำคัญคือร้านนี้เป็น ๑ ในลิสต์ที่ผมอยากกินเสียด้วย ถึงจะไม่ใช่สาขานี้ก็เถอะ แต่ไหนๆ มาเจอแล้วก็ต้องลองดู
พนักงานพาผมไปนั่งหน้าบาร์ พร้อมกับชายร่างใหญ่ที่เพิ่งเข้ามารอคิว ผมสั่งชุด ข้าวหมูทอดราดมิโสะมา ๑ ที่ ในชุดนี้มีกะหล่ำซอยกับแครอท และซุปมิโสะมาให้ ในราคา ๑,๓๐๐ เยน จัดว่าโหดอยู่เหมือนกัน หมูทอดที่ให้มาชิ้นใหญ่อยู่ครับ กัดเข้าไปคำแรกนี่สัมผัสได้ถึงเนื้อนุ่มและเคี้ยวง่ายมาก ซอสที่คิดว่าจะเค็มก็เค็มไม่มากนัก อร่อยดี พอทานไปสักพักเฮียล่ำเหมือนจะรู้ว่าผมไม่ใช่คนที่นี่ แกเลยชวนผมให้เอางาขาวป่นในขวดที่เขาวางไว้เป็นเครื่องปรุงใส่ลงไปด้วย แกบอกว่า โออิชิ ไอ้เราก็เชื่อคนง่าย ลองทำตามเขาแล้วทาน ... เออ มันก็อร่อยดีแฮะ มีความมันและได้กลิ่นหอมของงา เสมือนเพิ่มอรรถรสให้ดีขึ้น
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความหิวหรือความงก ผมจึงซัดไปซะหมดทุกสิ่งที่อยู่ในเซ็ต แล้วคิดเงิน ออกมาเดินเตร็ดเตร่ดูวิถีชาวเมืองยามค่ำคืนสักแป๊บ ในเวลาที่ห้างร้านต่างปิดกันหมด แต่ผู้คนก็ยังคงเดินขวักไขว่อยู่ในละแวกสถานีรถไฟ บ้างมารอรถบัสข้ามจังหวัด บ้างมาหาความสำราญยามราตรี บ้างก็เดินหาอะไรรองท้องก่อนนอน ส่วนตัวผมนั้น เดินสักพักจึงกลับเข้าสู่ที่พักเพื่อพักผ่อนเก็บแรงไว้ เพราะพรุ่งนี้จะต้องตื่นแต่เช้า เดินทางข้ามจังหวัด แถมอาจต้องขึ้นเขาด้วย ...น่าสนุกใช่ไหมล่ะ?
อ่านต่อฉบับหน้า...
ข้อมูลบางส่วน : http://www.shimogamo-jinja.or.jp/english.html