xs
xsm
sm
md
lg

3 นักวิจัยหญิงรับทุนเชิดชู “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุภาวดี นาเมืองรักษ์, ดร.นาฏนัดดา รอดทองคำ และ ดร.ภญ.สุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ (ซ้ายไปขวา)
3 นักวิจัยหญิงไทยรับทุนเชิดชู “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2559 “ดร.ภญ.สุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ ” รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ “ดร.นาฏนัดดา รอดทองคำ” รับทุนสาขาวัสดุศาสตร์ และ ดร.สุภาวดี นาเมืองรักษ์ รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์เคมี

บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัดด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรายชื่อนักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นจนได้รับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2559 มื่อวันที่ 21 ก.ย.59 ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ โดยปีนี้ดำเนินโครงการดังกล่าวในประเทศไทยมาเป็นปีที่ 14 แล้ว

สำหรับผู้ได้รับทุนประจำปีนี้ใน 3 สาขา ได้แก่ 1.ดร.ภญ.สุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช สังกัดงานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2.ดร.นาฏนัดดา รอดทองคำ จากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนในสาขาวัสดุศาสตร์ และ 3.ดร.สุภาวดี นาเมืองรักษ์ จากห้องปฏิบัติการคำนวณระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์เคมี

สำหรับ ดร.ภญ.สุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากผลงานวิจัยหัวข้อ “บทบาทของอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไวต่อลักษณะความเป็นเซลล์มะเร็งต้นกำเนิด และการดื้อต่อยาเคมีบำบัดในมะเร็งต่อมน้ำเหลือง” โดยเธออธิบายถึงความสำคัญของงานว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กิน (non-Hodgkin lymphoma) เป็นมะเร็งระบบโลหิตวิทยาที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย โดยงานวิจัยนี้จะสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญ ให้เข้าใจถึงเหตุและผลและปัจจัยสนับสนุน ที่ทำให้เกิดการดื้อต่อยาเคมีบำบัด ของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในคนไข้

การวิจัยดังกล่าวทำด้วยการสืบหาปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนประชากรเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดต่อมน้ำเหลืองในระดับชีวโมเลกุล ซึ่งคาดเดาว่าเป็นเซลล์ต้นเหตุของการต้านยาเคมีบำบัดในมะเร็งต่อมน้ำเหลือง งานวิจัยในเบื้องต้นพบว่าอนุพันธ์ซุปเปอร์ออกไซด์เหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดที่มากขึ้น โดยสอดคล้องกับสัดส่วนจำนวนประชากรเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดต่อมน้ำเหลืองที่ลดลง และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการดื้อต่อยาเคมีบำบัดของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองลดลง

ดร.ภญ.สุดจิต ระบุว่างานวิจัยจะนำไปสู่การหาวิธีการออกแบบการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ถูกควบคุมผ่านทางอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต เพราะเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดต่อมน้ำเหลืองเป็นเซลล์เป้าหมายที่สำคัญต่อการวางแผนการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด

ส่วน ดร.นาฏนัดดา รอดทองคำ ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวัสดุศาสตร์ ได้รับทุนจากผลงานวิจัย "นวัตกรรมวัสดุนาโนคอมพอสิตสำหรับการวินิจฉัยโรคและตรวจวัดสารพิษในสิ่งแวดล้อม" อธิบายว่า การวินิจฉัยโรคทางการแพทย์และการควบคุมปริมาณสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพชีวิตมนุษย์ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาระบบการตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพและความไวสูงและราคาไม่แพง เพื่อให้สามารถตอบสนองความจำเป็นดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

"งานวิจัยนี้นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านการเตรียมวัสดุนาโนคอมพอสิตที่สามารถควบคุมให้มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ เพื่อให้เหมาะสมกับการประยุกต์ใช้พัฒนาระบบการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นและตรวจวัดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยระบบที่พัฒนาขึ้นได้นั้นมีประสิทธิภาพและความไวสูง พกพาและใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยห้องปฏิบัติการและเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยแม้ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงถือเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับประชากรอีกด้วย” ดร.นาฏนัดดาอธิบาย
ดร.สุภาวดี นาเมืองรักษ์, ดร.ภญ.สุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ และ ดร.นาฏนัดดา รอดทองคำ  (ซ้ายไปขวา)
ด้าน ดร.สุภาวดี นาเมืองรักษ์ ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาเคมี จากผลงานวิจัยหัวข้อ “การประยุกต์ใช้แบบจำลองโมเลกุลสามมิติ และการคำนวณด้วยเทคนิคทางเคมีคอมพิวเตอร์ขั้นสูงเพื่อการออกแบบและพัฒนาวัสดุโครงสร้างระดับนาโนสำหรับการใช้งานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

ดร.สุภาวดีกล่าวถึงรายละเอียดของงานวิจัยว่า การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกระดับโมเลกุลในกระบวนการเกิดปฏิกิริยาเคมีในวัสดุนาโนเป็นกุญแจสำคัญในการออกแบบและพัฒนาวัสดุนาโนเพื่อการใช้งานเฉพาะด้าน เช่น การบำบัดสภาพอากาศหรือการผลิตพลังงานชีวภาพจากชีวมวล ซึ่งจากแนวโน้มประชากรโลกและปริมาณการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้การพัฒนาวิจัยด้านการสรรหาพลังงานทดแทนควบคู่กับการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ และสร้างสรรค์ให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในการพัฒนาพลังงานทางเลือก รวมไปถึงเพิ่มวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษทางอากาศ และหวังว่าผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยจะสร้างประโยชน์ให้กับทั้งระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

สำหรับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” นั้นเป็นทุนเพื่อร่วมเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย โดยมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 58 ราย ซึ่งผู้ได้รับทุนทั้งหมดการพิจารณาอย่างละเอียดจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากคุณค่าของงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นกับสังคม กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมไปถึงจริยธรรมในการทำงานของนักวิจัย และการเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย

ด้าน นางนาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การค้นคว้าวิจัย คือ หัวใจสำคัญของลอรีอัลในการดำเนินธุรกิจมาตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของ มร.ยูชีน ชูแลร์ ผู้ก่อตั้งลอรีอัล ที่มีความเชื่อมั่นว่า การค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้นับเป็นเป็นกุญแจสำคัญสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุล สมบูรณ์ และสวยงามยิ่งขึ้น

"เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ตลอด 14 ปี ที่เราดำเนินโครงการนี้ในประเทศไทย เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังใจและสนับสนุนนักวิจัยสตรีไทย ในการสร้างผลงานอันทรงคุณค่าต่อประเทศไทยและมวลมนุษยชาติ และในปีนี้เรามีนักวิจัยสตรีมากความสามารถทั้ง 3 ท่านที่มาพร้อมกับงานวิจัยทรงคุณค่าที่จะสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศและโลกของเราให้ยั่งยืนในอนาคต” นางนาตาลีกล่าว

ทั้งนี้โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ริเริ่มขึ้นในปี 2540 โดย ลอรีอัล กรุ๊ป โดยความร่วมมือขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีมากกว่า 2,530 ท่าน จาก 112 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนี้ สำหรับประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2545 โดยมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี เป็นประจำทุกปี
สิตานัน สิทธิกิจ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ดร.สุภาวดี นาเมืองรักษ์, ดร.นาฏนัดดา รอดทองคำ, ดร.ภญ.สุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และ เจนสุภัค ศานติศรันย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด(ซ้ายไปขวา)
////////////////////
เกี่ยวกับลอรีอัล กรุ๊ป
ลอรีอัล คือ บริษัทความงามอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งมีผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายทุกช่องทาง ครอบคลุม: ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า เภสัชกรรมและร้านขายยา ซาลอน และร้านค้าปลีก ลอรีอัลทุ่มเทให้กับการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม ด้วยงบประมาณสำหรับการวิจัยกว่า 857 ล้านยูโร หรือราว 38,000 ล้านบาทต่อปี ด้วยทีมนักวิจัยกว่า 4,000 คน ที่จดสิทธิบัตรกว่า 600 สิทธิบัตรภายในหนึ่งปี ซึ่งการทุ่มเทงบประมาณเพื่อการวิจัยถือเป็นหัวใจของกลยุทธ์องค์กร ที่มุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการด้านความงามอันหลากหลายและเข้าถึงผู้บริโภคหน้าใหม่อีก 1 พันล้านคนทั่วโลก โดยลอรีอัลได้ประกาศพันธสัญญาเพื่อความยั่งยืนขององค์กร หรือพันธสัญญาแห่งการ “แบ่งปันความงามให้ทุกสรรพสิ่ง” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

เกี่ยวกับลอรีอัล ประเทศไทย
ลอรีอัล ประเทศไทย คือบริษัทความงามที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ปัจจุบันนำเข้าและจัดจำหน่าย 21 แบรนด์ความงามชั้นนำของโลก โดยแบ่งออกเป็น 4 แผนก ดังนี้

แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค ได้แก่ ลอรีอัล ปารีส การ์นิเย่ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก และนิกซ์
แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง ได้แก่ ลังโคม ไบโอเธิร์ม จิออร์จิโอ อาร์มานี่ ราล์ฟ ลอเรน คาชาเรล กี ลาโรชย์ คีลส์ ชู อูเอมูระ วิคเตอร์ แอนด์ รอล์ฟ ดีเซล อีฟส์ แซงต์ โลร็องต์ คลาริโซนิค และ เออเบิน ดีเคย์
แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ ได้แก่ ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล เคเรสตาส
แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ได้แก่ ลา โรช-โพเซย์ และวิชี่

คณะบริหารของลอรีอัล ประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิก 9 คน จาก 6 สัญชาติ สะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับและเคารพความแตกต่างหลากหลาย










กำลังโหลดความคิดเห็น