คงน่าสะเทือนใจที่ทะเลสวยๆ เต็มไปด้วยคราบดำๆ ของคราบน้ำมัน แต่จะยิ่งสะเทือนใจมากกว่า เมื่อเราไม่สามารถประเมินความเสียหายที่แท้จริงเพื่อปรับผู้กระทำผิดได้ ไม่เพียงแค่คราบน้ำมันที่กระทบแหล่งท่องเที่ยว แต่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งก็กำลังสร้างความเดือดร้อนทั้งแก่ผู้อาศัยตามแนวชายฝั่ง ธุรกิจท่องเที่ยว การประมง ปัญหาเหล่านี้หาทางออกได้ด้วยงานวิจัย ทว่างานวิจัยเหล่านี้ยังมีอยู่น้อย
นางจินตนาภา โสภณ ที่ปรึกษาด้านการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุว่า วช.ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ เห็นความสำคัญที่จะแก้ปัญหาในเชิงวิชาการ จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อตอบโจทย์ด้วยงานวิจัยให้ตรงความต้องการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง
ทั้งนี้ มีการศึกษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลพบว่า มีมูลค่าถึง 27 ล้านล้านบาท แต่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้นำเสนอ(ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ระหว่างการประชุมวิพากษ์ร่วมกับ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง ที่ วช.เพิ่งจัดขึ้น เมื่อ 9 ก.ย.59 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท ภูเก็ต ไม้ขาวบีช จ.ภูเก็ต ระบุว่า การศึกษาดังกล่าวผ่านมาหลายปีแล้ว และปัจจุบันมูลค่าน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น
การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลมากขึ้นได้ส่งผลกระทบมากขึ้นด้วย เช่น ทรัพยากรเสื่อมโทรมจากการประมงและการท่องเที่ยว การปล่อยน้ำทิ้งและสิ่งปฏิกูลของชุมชนจากกิจกรรมบนเกาะและพื้นที่ชายฝั่งทะเล การั่วไหลของน้ำมันสู่ทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งระดับชุมชนและระดับประเทศอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันการเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งได้เร่งให้การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้นด้วย ซึ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจ สังคม ธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม
ด้าน ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ กล่าวถึงสิ่งที่ได้หลังรับฟังการวิพากษ์จากที่ประชุมว่า แรกเริ่มที่คณะทำงานร่วมกันร่างยุทธศาสตร์ฯ นั้น ทำงานบนพื้นฐานนักวิจัยและหน่วยงาน ซึ่งได้กรอบระดับหนึ่ง แต่หลังจากการวิพากษ์ก็ได้รับประโยชน์มากจากคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ซึ่งได้เล่าปัญหาให้ฟังว่า เขาประสบปัญหาอะไรบ้าง
“บางทีกฎที่ทางราชการออกอาจจะไม่ได้ช่วยในการดำรงชีวิตของเขา อาจจะมีประโยชน์ในด้านหนึ่ง แต่ไปมีผลลบในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งทำให้เรามองเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ตัวยุทธศาสตร์ของเรา โดยเฉพาะในแนวทางการวิจัยนั้นเราควรจะมีรายละเอียดปลีกย่อยอะไรบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรากำลังขาด นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “ข้อมูลจริง” ในการช่วยรัฐบาลและผู้บริหารประเทศ ในการตัดสินใจว่า กฎระเบียบที่ออก คุ้ม หรือ เสีย” ศ.ดร.ชูกิจกล่าว
ในการประชุมวิพากษ์ร่างทั้ง 2 ยุทธศาสตร์นั้น มีทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วม ซึ่งในส่วนของประชาชนนั้นได้เล่าในส่วนที่เสียผลประโยชน์ แต่ ศ.ดร.ชูกิจให้ความเห็นว่า จากการพบกันหมดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ได้พูดถึงสิ่งเดียวกัน นั่นคือ บางกฎระเบียบที่ออกมานั้นมาจากการตัดสินใจทำเพราะความจำเป็นในบ้างด้าน แต่หากมีงานวิจัยเพื่อช่วยพิจารณาให้รอบคอบว่า การออกกฎระเบียบหนึ่งขึ้นมานั้นไม่ได้สร้างอีกปัญหาขึ้นมาใหม่ ซึ่งงานวิจัยจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งตรงกับกรอบของยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก
“การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเล และพื้นที่ชายฝั่งนี้ ในเรื่องของตัวเงินนั้นเยอะมาก ทีนี้กฎระเบียบเล็กๆ น้อยๆ ที่ออกไป บางทีมีผลเยอะต่อการเก็บทรัพยากรของเราให้ใช้ได้นาน แต่จะทำอะไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลที่หนักแน่น วันนี้เราเห็นตรงกันว่า “ข้อมูลทางการวิจัยของเรามีค่อนข้างน้อย” คือ บางทีนักวิจัยทำวิจัย แต่ก็ไม่ค่อยมีงานวิจัยก่อนหน้าที่สามารถใช้เป็นฐาน ดังนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่เห็นตรงกันว่า เราต้องเร่งสร้างนักวิจัยทางทะเลและพื้นที่ชายฝั่งให้มากขึ้น และหวังว่างานวิจัยจะมาช่วยแก้ปัญหาบนพื้นที่ได้อย่างจริงจัง” ศ.ดร.ชูกิจกล่าว
ศ.ดร.ชูกิจกล่าวถึงปัญหาที่ยกตัวอย่างกันมากระหว่างการวิพากษ์คือ เรื่องการลดการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งบางพื้นที่ใช้วิธีลดการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการสร้างกำแพงคอนกรีต แต่เป็นวิธีที่ไม่สามารถใช้ได้กับชายฝั่งทุกแบบ พื้นที่ชายฝั่งที่เป็นหาดทรายก็ใช้วิธีหนึ่ง หรือพื้นที่เป็นหาดโคลนก็ใช้อีกวิธีหนึ่ง บางครั้งการสร้างกำแพงคอนกรีตช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ได้จริง แต่ไปสร้างปัญหาให้เกิดการกัดเซาะในพื้นที่ชายฝั่งที่อยู่ถัดไป จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อีกทั้งเราไม่สามารถสร้างกำแพงคอนกรีตเป็นแนวยาวตลอดแนวชายฝั่งได้ หรือบางงานวิจัยอ้างถึงการใช้ไม้ไผ่ปักเพื่อลดการกัดเซาะ แต่ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้กับชายหาดมีระดับน้ำและความแรงของน้ำบางรูปแบบเท่านั้น
“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องวิจัยกันให้รู้จริง ในพื้นที่ที่เกิดปัญหา ก่อนที่จะไปลงมือทำอะไร ซึ่งใช้งบประมาณเยอะกว่างานวิจัยเยอะ ชาวบ้านยังมาเล่าปัญหาเรื่องกฎระเบียบว่า ชาวบ้านอยากจะปักไม้ไผ่แล้วนะเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของเรา แต่หน่วยราชการไม่ให้ปักเพราะผิดกฎระเบียบ แล้วตกลงมีระเบียบหรือไม่มีระเบียบ สิ่งเหล่านี้ ถ้าเกิดไม่มีพื้นฐานของงานวิจัยที่ดี ก็จะไปออกระเบียบว่าห้ามปักไม้ไผ่ ทั้งที่จริงๆ แล้วการปักไม้ไผ่อาจจะดีหรือเป็นประโยชน์สำหรับบางที่” ศ.ดร.ชูกิจกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาถึงเรื่องค่าปรับเมื่อเกิดความเสียหายต่อทะเลและชายฝั่ง ซึ่ง ศ.ดร.ชูกิจกล่าวว่า เป็นส่วนของงานบูรณาการ ทั้งในส่วนการวิจัยเชิงพื้นฐาน การวิจัยเชิงเศรษฐกิจ และการวิจัยเชิงเก็บข้อมูล เนื่องจากบางครั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น เรือทำน้ำมันรั่วลงทะเล ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่แค่เรื่องต้องใช้ค่าใช้เท่าไรในการทำความสะอาด แต่ยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปลาตาย สัตว์น้ำตาย หรือความเสียหายจากคราบน้ำมันที่ไปติดกับชายหาดอีก
“ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องการงานวิจัยทั้งนั้น เพื่อที่จะได้นำไปออกกฎระเบียบให้ถูกต้อง แม้แต่ศาลเมื่อเกิดเหตุฟ้องร้องกันเกิดขึ้นก็ยังจำเป็นต้องใช้นักวิชาการเข้าไปช่วย ซึ่งถ้าเกิดมีตัวงานวิจัยที่รองรับ นักวิชาการไปเป็นพยาน หรือผู้ทรงคุณวุฒิให้แก่ศาล ก็จะมีฐานให้ยืนและชี้แนะอย่างเป็นหลักเป็นการ ขณะเดียวกัน การจะออกระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นค่าปรับ หรือความหนักเบาในการลงโทษ เรื่องต่างๆ จะได้มีฐานงานวิจัยมาสนับสนุน ว่าเรื่องนี้รุนแรงนะ เรื่องนี้เสียหายมาก มากกว่าใช้แค่วิจารณญาณของแต่ละคนดำเนินการไป” ศ.ดร.ชูกิจระบุ
สำหรับขั้นตอนต่อไปของทั้ง 2 ยุทธศาสตร์คือนำข้อคิดเห็นของที่ประชุม รวมถึงความเห็นย่อยๆ ที่จะส่งตามไปภายหลังการประชุมไปประมวลรวม และปรับปรุงให้ได้ยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมมากขึ้น และสมบูรณ์มากขึ้น และจะรวมกับอีก 7 ยุทธศาสตร์ของ วช.ที่จะประกาศมาพร้อมกัน คล้ายกับเป็นธงไว้ให้นักวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเทศ เป็นแนวทางเพื่อใช้เสนอโครงการเพื่อขอทุนทำวิจัยต่อไ
“ถ้าพูดโดยภาพรวมงานวิจัยของประเทศนั้นอ่อนแอ เมื่อเทียบกับมหาอำนาจอื่นๆ เรามีคนวิจัยน้อย เรามีทุนสนับสนุนงานวิจัยน้อย ขณะเดียวกัน วช.ก็พยายามแก้ไขวิกฤต การที่ทุนวิจัยน้อย ถ้าเรากระจายทุนไปทั่ว ก็คงทำอะไรไม่ได้มากและไม่ได้ผล ถึงต้องระบุยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศขึ้นมาก 9 ด้าน พอตั้งได้อย่างนี้ก็มีแนวโน้มว่าข้อเสนอโครงการที่ตรงกับที่ประเทศเราต้องการก็จะได้รับการสนับสนุน คือ ได้ค่าน้ำหนักมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าเสนอมาแล้วจะได้เลย ก็ต้องขึ้นอยู่กับ ที่มา เหตุผล วิจัยแล้วคาดหวังผลงานวิจัยตรงกับที่เราต้องการจริงๆ ด้วย” กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์สรุป