ก.วิทย์จัดงาน “มหกรรมวิทย์” รับสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 18-28 ส.ค.59 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศ พร้อมร่วมฉลองปีถั่วพัลส์สากล
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559” ระหว่างวันที่ 18-28 ส.ค.59 ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม”
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ ”พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”
นอกจากนี้งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังร่วมฉลอง “ปีสากลแห่งถั่วพัลส์” (2016 International year of PULSES) ซึ่งเป็นวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในปี 2559 ที่ตั้งขึ้นโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ด้วย
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม โดยเน้นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย New S-curve มุ่งสู่ Thailand 4.0 และยังนำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM Education) มาใช้ในการจัดกิจกรรมในรูปแบบ เล่น-เรียน-รู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าชม
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่ากิจกรรมภายในงานมีตั้งแต่นิทรรศการเทิดพระเกียรติ นิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิทรรศการปีสากลแห่งถั่วเมล็ดแห้ง (UNESCO International Year of Pulses) แนวคิดตามนโยบาย Food Innopolis การประกวดและแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ การประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปีนี้มีผู้ร่วมจัดกิจกรรมจาก 9 กระทรวง 18 สถาบันการศึกษา และประเทศเข้าร่วมอีก 6 ประเทศ มากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศมากกว่า 10 หน่วยงานเข้าร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าและเทคโนโลยี ได้แก่ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ออสเตรเลีย และเวียดนาม
นิทรรศการภายในงานยังนำเอาเทคโนโลยีและมัลติมีเดียใหม่ๆ มาใช้ในการจัดแสดง เพื่อสร้างประสบการณ์ เปิดมุมมองการเรียนรู้ผ่านสื่อที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม กับนิทรรศการรูปแบบการจำลอง 4 มิติ อีกทั้งยังรวมการจัดงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยประจำปี 2559 หรือเทคโนมาร์ท 2016 (Techno Mart 2016) ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ด้วย
งานเทคโนมาร์ท 2016 เน้นการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประชารัฐ ภายใต้โครงการยกระดับโอทอปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จัดแสดงเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย รวมทั้งนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มาจัดแสดง
“นิทรรศการไม่ควรพลาด คือ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ นำเสนอพระวิสัยทัศน์และอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และนำเสนอพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และ พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” รวมทั้ง นำเสนอพระอัจฉริยภาพของพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงมีบทบาทและให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" รศ.ดร.วีระพงษ์กล่าว
ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แนะนำเพิ่มเติมว่า นิทรรศการหลักนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เช่น นิทรรศการยานยนต์แห่งอนาคตและการขนส่ง นำเสนอยานยนต์สมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูงและมีกำลังส่งที่มีประสิทธิภาพ ยานยนต์ขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากอย่างระบบราง รถโฟมสะเทินน้ำสะเทินบก ยานยนต์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการในอนาคต รถตุ๊กตุ๊กพลังงานแสงอาทิตย์
ขณะที่นิทรรศการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นอีกจุดเด่นของงาน ซึ่งนำเสนอเทคโนโลยีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ นิทรรศการการแพทย์ในยุคดิจิตอล นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาและประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีวิศวกรรมในการส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาทางการแพทย์ในอนาคต และการรักษาด้วยหุ่นยนต์ และยังมี “หุ่นยนต์ดินสอมินิ” หุ่นยนต์บริการและดูแลผู้สูงอายุ เป็นพระเอกภายในงาน
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการให้ความรู้และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น นิทรรศการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่นำเสนอภาพยนตร์ “The Last Day” ในรูปแบบ 4 มิติที่จำลองสถานการณ์เสมือนจริง ท่ามกลางอุบัติภัยทางธรรมชาติ โดยพาทุกย้อนเวลากลับไป ณ จุดกำเนิดโลก นิทรรศการอนาคตเทคโนโลยีชีวภาพโลก นำเสนออารยธรรมการหมัก เทคโนโลยีชีวภาพที่เก่าแก่และใกล้ตัวที่สุดตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ พร้อม “ไหดินเผา” สูดกลิ่นและชมการเปลี่ยนสภาพของปลาร้า
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการค้นพบแมลงชนิดใหม่ของโลกที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ มดทหารเทพา ตั๊กแตนคูหารัตน์ และ ผีเสื้อรัตติสิริน นิทรรศการ Miracle of Science : มหัศจรรย์แห่งไข่ จุดกำเนิดชีวิต...จุดกำเนิดเรา สัมผัส “ไข่ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย” นิทรรศการเมืองแห่งถั่ว ฉลองปีสากลแห่งถั่วพัลส์ รู้จักถั่วพัลส์ชนิดต่างๆ เพลิดเพลินกับเกมส์บิงโก ร่วมสนุกกับการปลูกถั่วพัลส์ โชว์การทำอาหารจากถั่วพัลส์
ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีนิทรรศการและกิจกรรมสำหรับเยาวชน ได้แก่ นิทรรศการ Enjoy Maker space จากนักประดิษฐ์สู่นวัตกรรม สร้างความรู้ความเข้าใจและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ในแนวทาง STEM Education ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์และต่อยอดสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับ วทน. พบกับ Maker’s Showcase กิจกรรม Kid Maker, Maker Studio ชมสาธิต 3D Printing 3D Stereoscopic Print Pen รวมทั้ง ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ลานกิจกรรมพัฒนาปัญญาเยาว์ ลานกิจกรรมประกวดแข่งขัน ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์