อุณหภูมิเฉลี่ยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาทำสถิติเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด เมื่อเทียบกับอุณหภูมิของเดือนกันนี้ตลอด 137 ปี และ 6 เดือนแรกของปี 2016 ยังร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
เอเอฟพีเผยรายงานขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือโนอา (NOAA) ที่ระบุว่า เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่
โนอาแถลงว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วพื้นดินและพื้นผิวมหาสมุทรในเดือน มิ.ย.ปี 2016 นั้นทำสถิติร้อนที่สุด เมื่อเทียบกับข้อมูลอุณหภูมิเดือน มิ.ย.ที่โนอาได้บันทึกมาตลอด 137 ปี
รายงานจากการบันทึกอุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละเดือนโดยโนอายังเผยอีกว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2016 นั้นเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดที่ได้บันทึกมา
ทั้งนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งบนพื้นดินและผิวน้ำมหาสมุทรของเดือน มิ.ย.นั้นสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย 15.5 องศาเซลเซียสอยู่ 0.9 องศาเซลเซียส
สำหรับเดือน มิ.ย.ของปี 2016 ยังเป็นเดือน มิ.ย.ครั้งที่ 40 ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 และนับแต่เดือน ก.พ.2015 มีเดือนที่อุณหภูมิสูงโดดเช่นนี้เป็นเดือนที่ 14 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าโลกกำลังร้อนขึ้นด้วยอัตราเร่ง
อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่พื้นดินเมื่อเดือน มิ.ย.ยังสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของแต่ละเดือนในศตวรรษที่ 20 อยู่ 1.24 องศาเซลเซียส และ 6 เดือนแรกของปี 2016 ก็ทำสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นดินสูงสุดด้วยเช่นกัน ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยผิวน้ำมหาสมุทรของเดือน มิ.ย.ก็สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของแต่ละเดือนในศตวรรษก่อน 0.77องศาเซลเซียส ทำให้เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาและช่วง ม.ค.- มิ.ย. ของปีนี้ทำสถิติร้อนที่สุดด้วย
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ภาวะโลกร้อนก็มีส่วนที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่การฟอกขาวของปะการังในแนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ของออสเตรเลีย ไปจนถึงไฟป่าที่แคนาดา
เมื่อปี 2015 ได้ทำลายสถิติปีที่่ร้อนที่สุดของปี 2014 ลง และอากาศที่ร้อนต่อเนื่องมา 14 เดือน ทำให้ปี 2016 ที่ผ่านมาเพียงครึ่งปีก็มีอากาศร้อนทุบสถิติแล้วจ่อคิวเป็นปีที่แผดเผาอีกปี
แม้ว่าอากาศร้อนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งจะมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) แต่ กาวิน ชมิดท์ (Gavin Schmidt) นักภูมิอากาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่า ยังมีปัจจัยอื่นอีก 60% ที่ทำให้อากาศร้อน ซึ่งรวมถึงการร้อนขึ้นอย่างรุนแรงที่บริเวณอาร์กติก
เมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญสิ้นสุดในปีนี้ ปรากฏการณ์เย็นตัวของมหาสมุทรแปซิฟิกที่เรียกว่าลานีญา (La Nina) จะเริ่มขึ้น แม้ว่าปี 2017 อาจไม่ทำลายสถิติปีที่ร้อนแรงเหมือนเช่นปีนี้ แต่ชมิดท์กล่าวว่า อุณหภูมิขึ้น-ลงปีต่อปีนี้ไม่สำคัญต่อนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเท่าแนวโน้มโดยภาพรวมทั้งหมด
“ปีเดียวที่ร้อนขึ้นและอีกปีที่เย็นลงไม่ได้มีความหมายนัก เพราะว่าผลกระทบจริงๆ จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นคืออุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มจะไปต่อเรื่อยๆ” นักภูมิอากาศจากนาซาระบุ