ASTVผู้จัดการ – ดร.ธรณ์ยกภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA แนะกรมเจ้าท่าตรวจสอบเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกน้ำมันได้มาก จอดแช่ผิดสังเกตในพื้นที่ต้องสงสัยช่วงวันที่ 21-24 ต.ค. ชี้เป็นต้นตอทิ้งคราบน้ำมันในทะเลอ่าวไทยกินพื้นที่มากกว่า 100 ตร.กม. จนกระทบชายหาดหัวหินยาวกว่า 10 กม.
จากกรณีคราบน้ำมันลอยกระจัดกระจายปะปนเข้ามากับเศษขยะเข้ามาที่ชายหาดหัวหินถึงเขาตะเกียบ ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้ (30 ต.ค.) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า หากพิจารณาภาพถ่ายดาวเทียมจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA แล้วจะเห็นได้ชัดว่า ต้นตอน่าจะเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกน้ำมัน และผ่านบริเวณสามเหลี่ยมบนในวงกลมสีเหลือง ในช่วงวันที่ 21-24 ตุลาคมที่ผ่านมา
“GISTDA เพิ่งแถลงข่าวเมื่อวาน ผมนำภาพดาวเทียมมาวิเคราะห์ให้เพื่อนธรณ์เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ? จะพยายามอธิบายแบบง่ายๆ สไตล์ CSI ว่าหากตั้งใจจริงและมีหลักฐานแล้ว วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ มิใช่มโนกันไปเรื่อยครับ
ดร.อานนท์ ผอ.GISTDA นำภาพดาวเทียมมาแถลงข่าว ใครสงสัยว่าแล้วทำไมเพิ่งโชว์ ต้องบอกว่าเราไม่ได้จ้องดูภาพจากดาวเทียมตลอดเวลา หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นและมีการร้องขอ เราสามารถย้อนหาภาพจากพื้นที่เหล่านั้นเพื่อวิเคราะห์หาคราบน้ำมันได้ เหมือนกับที่เราทำตอนเกาะเสม็ด ผมจึงพูดถึง GISTDA เสมอเพราะเห็นความสำคัญของหน่วยงานนี้
จากภาพถ่ายเวลา 18.30 น. วันที่ 24 ตุลา เราเห็นคราบน้ำมัน 2 กลุ่ม คราบชุดแรกอยู่ด้านบนเป็นแนวยาว คราบชุดสองอยู่ด้านใต้ แผ่ขยายเป็นวงกว้าง ระยะทางรวมกัน 38 กิโลเมตร กินพื้นที่ทั้งหมด 111 ตร.กม.
คราบชุดแรกด้านบนแผ่ขยาย ก่อนต่อเนื่องเป็นเส้นตรงลงล่าง หมายความว่าเรือที่ทิ้งน้ำมันอยู่บริเวณ 3 เหลี่ยมด้านบนนั่นแหละ เพราะฉะนั้น เราพอตีวงว่าต้องไปตามดูเรืออะไรที่ผ่านมาแถวนั้น
สถานที่ได้แล้ว เวลาล่ะ ? หากดูจากเวลาที่ GISTDA คำนวณ ชั่วโมงละ 0.7 กิโลเมตร วันละ 16.8 กิโลเมตร (24 ชั่วโมง) จากด้านบนสุดถึงล่างสุดยาว 38 กิโลเมตร แปลว่าปล่อยมาแล้วกว่า 2 วัน (48 ชั่วโมง) แต่ถ้าดูจากแนวคราบที่เป็นเส้นตรง แปลว่ากระแสน้ำที่ปากแม่กลองแรงกว่าทะเลข้างล่าง คราบน้ำมันจึงไหลยาวเป็นเส้น เพราะฉะนั้น น่าจะอยู่ในช่วง 48 ชั่วโมงมากกว่า
แต่ เพื่อความมั่นใจ ผมคิดว่าเราน่าจะดูตั้งแต่วันที่ 21-24 ตุลาคม ว่ามีเรือลำไหนที่มีขนาดใหญ่พอบรรทุกน้ำมันได้เป็นจำนวนมาก อยู่ในบริเวณนั้นหรือเปล่า ? เมื่อดูจากจุดที่ปล่อย เรือไม่ได้ทิ้งโครม 5 นาทีเสร็จ หรือวิ่งไปปล่อยไป น่าจะมีลักษณะผิดปรกติ เช่น หยุดอยู่กับที่นาน ฯลฯ
เรือบรรทุกน้ำมันพวกนี้มีดาวเทียม กรมเจ้าท่าสามารถตามรอยได้ว่าไปไหนมาไหนความเร็วเท่าไหร่ ก็เหมือนที่เราดูเส้นทางการบินนั่นแหละครับ นอกจากนี้ น้ำมันบางส่วนจะมีการบันทึกคุณสมบัติเพื่อการตรวจสอบ เราสามารถเก็บคราบน้ำมันที่เข้าฝั่งไปวิเคราะห์ว่าสอดคล้องกับน้ำมันในเรือลำไหนบ้าง แต่ถ้าเป็นน้ำมันเครื่องใช้แล้ว อาจไม่มีบันทึกไว้ หรือบางคนก็บอกว่าต้องตรวจสอบกันหลายครั้ง ไม่ใช่เป๊ะๆ ทุกหน
แม้จะยากนิด แต่ถ้าดูทั้งจากเส้นทางเรือ ความเร็วเรือ ลักษณะการวิ่ง ช่วงเวลา และจุดเกิดเหตุ ลองเช็คซ้ำกับคุณสมบัติน้ำมัน อย่างน้อยก็พอมีหลักฐานให้แกะรอย
มาถึงเรื่องการเคลื่อนที่ของน้ำมัน น้ำมันชุดด้านล่าง เคลื่อนที่ลงมาช้าๆ ในมุม 197 องศา (ตะวันตกเฉียงใต้) เข้าสู่หาดหัวหินในวันที่ 27 ตุลา หากดูความเร็วของกระแสน้ำ น้ำมันชุดนั้นน่าจะเข้าฝั่งเกือบหมดแล้ว ก็คือน้ำมันที่เราเจอบริเวณหัวหินมาตลอด 27-29 ตุลาคม
บางส่วนของน้ำมันชุดนั้น ลอยไปจนถึงปราณบุรีในวันที่ 29 และอาจลงไปถึงสามร้อยยอดในวันที่ 30 (ถ้ายังมีเหลืออยู่) จากนั้นจะลงใต้ไปเรื่อย จะเร็วจะช้าขึ้นกับคลื่นลมและกระแสน้ำ ที่เข้าใจว่าลมอาจจะแรงขึ้น คนที่อยู่ชายฝั่งบริเวณนั้นควรเฝ้าระวังไว้
คราบน้ำมันชุดบน เคลื่อนที่ตามมา เข้าหัวหิน 29 ตค. และน่าจะลดน้อยลง ปัญหาคือจากภาพดาวเทียมมันดูแปลกๆ คล้ายกับว่ายังไม่หมด แต่ผมคิดว่าคราบส่วนใหญ่ลอยผ่านหัวหินไปแล้ว ที่เหลือน่าจะเป็นส่วนปลาย ทั้งนี้ทั้งนั้น หมายความว่าคราบน้ำมันต้องมีเท่านี้ ไม่ใช่ตอนถ่ายภาพก็ยังแอบทิ้งไม่หมด
การเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันในทะเล ยังขึ้นอยู่กับคลื่นลม กระแสน้ำ และน้ำขึ้นน้ำลง ที่อาจแปรเปลี่ยนไปตามเสมอ จึงใช้คำว่า “คาดเดา” ครับ
สุดท้ายคือหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อนธรณ์ส่งภาพนกนางนวลแกลบที่โดนคราบน้ำมัน บอกว่าถ่ายแถวชายฝั่งสมุทรสาคร ตอนบ่ายสามโมง วันที่ 24 ต.ค. สอดคล้องกับภาพดาวเทียมที่บอกว่ามีน้ำมันในเขตนั้นพอดี
เรื่องนี้ยาวหน่อยและข้อมูลลึกซึ้ง แต่ผมอยากเขียนให้ทราบว่า หากเราใส่ใจจริงจัง หาข้อมูลให้รอบด้าน เราสามารถวิเคราะห์อะไรหลายอย่างได้ด้วยวิทยาศาสตร์ การตามหาและจับกุมผู้กระทำผิด ต้องมีหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่เอะอะก็ชี้นิ้วเหมาเอาว่านี่แหละใช่
สุดท้าย ใครคิดว่าอาจารย์ธรณ์วิเคราะห์ได้ด้วยเหรอ ? แฮ่ม ! ผมจบปริญญาโทและปริญญาเอกด้านดาวเทียมครับ ทำงานให้จุฬามาตั้งแต่ปี 3 ในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ไปทำงานให้อุทยาน Great Barrier Reef Marine Park เขาก็จ้างไปทำเรื่องดาวเทียม เรื่องดำน้ำหรือสัตว์ทะเลเป็นงานอดิเรก งานจริงคือเรื่องนี้ และดร.อานนท์ ผอ. GISTDA ก็เป็นรุ่นพี่ผม เจอกันคุยกันช่วยงานกันมาหลายครั้งแล้วครับ
ขอบคุณ GISTDA อีกครั้งที่โชว์ผลงานได้ strong มากๆ ครับ” ดร.ธรณ์ระบุ
GISTDA เพิ่งแถลงข่าวเมื่อวาน ผมนำภาพดาวเทียมมาวิเคราะห์ให้เพื่อนธรณ์เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ? จะพยายามอธิบายแบบง่ายๆ สไตล์...
Posted by Thon Thamrongnawasawat on Thursday, October 29, 2015