xs
xsm
sm
md
lg

ชธ.ยันก้อนน้ำมันดินไม่ได้เกิดจากผู้รับสัมปทานในอ่าวไทย รอ 4-6 สัปดาห์ทราบผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยืนยันกรณีพบก้อนน้ำมันดินบนชายหาด จ.ประจวบฯ และเพชรบุรี ไม่ได้เกิดจากผู้ผลิตและสำรวจในอ่าวไทย ส่งตัวอย่างก้อนน้ำมันดินตรวจวิเคราะห์เพื่อความชัดเจน รู้ผลใน 4-6 สัปดาห์ พร้อมตั้งคณทำงานร่วมตรวจสอบ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี รักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยถึงกรณีเมื่อวันที่ 27 ต.ค. เวลา 13.00 น.เกิดปราฏการณ์คราบน้ำมันขึ้นที่ชายหาดของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณเขาตะเกียบ จนถึงชาจหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ระยะทาง 10 กิโลเมตร ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นข้อมูลด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทผู้ที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย ทั้งในกิจกรรมขุดเจาะ การผลิต และการขนถ่ายจากเรือกักเก็บน้ำมันดิบพบว่าไม่มีเหตุน้ำมันรั่วจากกิจกรรมดังกล่าว และพบว่า เป็นลักษณะของน้ำมันที่ผ่านการกลั่นมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ชัดเจน กรมฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่บริษัท เอสจีเอส ประเทศไทย จำกัด ซึ่ง ชธ.ได้ว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมรองรับการเกิดก้อนน้ำมันดิน (Tarball) ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างก้อนน้ำมันดินบริเวณดังกล่าวแล้วเพื่อนำส่งวิเคราะห์ไปยังห้องปฏิบัติการ ณ ประเทศเบลเยียม คาดว่าจะรับทราบผลวิเคราะห์ภายใน 4-6 สัปดาห์ จากนั้นจะนำผลวิเคราะห์มาเปรียบเทียบเอกลักษณ์ลายพิมพ์นิ้วมือ (Fingerprint) กับน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย เพื่อพิสูจน์ว่ามาจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยหรือไม่ หากเป็นเพราะการดำเนินงานของแหล่งผลิตในอ่าวไทยจริงก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมายว่าด้วยการชดเชยค่าเสียหายต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวเกิดการทำงานแบบบูรณาการ จึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบการเกิดก้อนน้ำมันดินขึ้น โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ เช่น กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรชายฝั่ง วิทยาลัยปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เป็นต้น เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบด้านต่างๆ ของหลายหน่วยงาน

“ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่น้ำมันดินเป็นน้ำมันที่ผ่านการกลั่นมาแล้ว ซึ่งปัจจัยที่เกิดก็มีหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการไหลลงทะเล ก็มีทั้งแหล่งปิโตรเลียม และจากการเดินเรือ ทุกอย่างก็เป็นไปได้หมด โดยเฉพาะจากการเดินเรือนั้นตามหลักสากลแล้วถ้าพ้นเขตน่านน้ำของแต่ละประเทศไป 12 ไมล์ทะเล เรือเดินทะเลก็สามารถปล่อยน้ำล้างเรือได้แล้วก็เกิดการตกตะกอนเมื่อมีมรสุมก็จะพัดขึ้นมายั่งฝั่ง แต่การหาผู้กระทำผิดแบบชัดๆ นั้นกรณีเรือก็เป็นเรื่องที่ยาก” รักษาการอธิบดี ธช.กล่าว

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดจากการประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ระดมเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดเก็บก้อนน้ำมันดินตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ คาดว่าหากไม่มีก้อนน้ำมันดินเพิ่มเติม จะสามารถทำความสะอาดได้เรียบร้อยภายในวันนี้ โดยจากการสังเกตการณ์บริเวณหาดชะอำ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ไม่พบคราบน้ำมันเพิ่มเติม และประชาชนสามารถลงไปใช้ชายหาดได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น