xs
xsm
sm
md
lg

จิงโจ้สุดเจ้าเล่ห์!! ขอให้ยูเนสโกลบ “ออสเตรเลีย” ออกจากรายงาน “วิกฤตโลกร้อนในเขตมรดกโลก” ทั้งฉบับ ปกป้องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตัวเองอย่างเหนียวแน่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – ในรายงานผลกระทบปัญหาโลกร้อนต่อเขตมรดกโลกที่จัดทำโดยหน่วยงานยูเนสโกร่วมกับองค์การสหประชาชาติ “ได้มีการลบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับออสเตรเลีย” ในทุกที่ซึ่งได้ระบุไว้ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ โดยรัฐบาลออสเตรเลียของนายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ เจ้าของยุทธศาสตร์สุดตุกติกอ้าง หากเผยแพร่อาจกระทบหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ

บีบีซีรายงานวันนี้(27 พ.ค)ว่า สำหรับร่างรายงานวิกฤตโลกร้อนในเขตมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ในบทที่ว่าด้วยเดอะเกรทแบริเออร์รีฟ (the Great Barrier Reef) และการอ้างอิงที่โยงไปถึงบทย่อยๆ “คาคาดู” (Kakadu) และ “เกาะทัสมาเนีย” (Tasmania) พบว่าเมื่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียได้อ่านร่างรายงานฉบับนี้ ได้ทำการประท้วงโดยการขอให้ช่วยตัดบทเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับออสเตรเลียออกไปจากรายงานฉบับทางการทั้งหมด

โดยทางกระทรวงสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียชี้แจงว่า หากยังคงมีการเปิดเผยออกไป อาจส่งผลกระทบอย่างหนักถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแดนดาวน์อันเดอร์ได้

และนอกจากนี้สื่ออังกฤษชี้ว่า ในส่วนชื่อรายงาน “Destinations at Risk” หรือ เขตมรดกโลกที่ตกอยู่ในความเสี่ยงนั้นทางออสเตรเลียชี้ว่า อาจทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้

โดยในแถลงการณ์ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียกล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า “เป็นที่เข้าใจกันว่า คณะกรรมาธิการของมรดกโลกจากยูเนสโกมีเวลาจำกัดเพียงแค่ 6 เดือนก่อนหน้านี้ในการตัดสินใจที่ไม่ใส่ชื่อ “เดอะเกรทแบริเออร์รีฟ” เข้ารวมในรายชื่อมรดกโลกที่ตกอยู่ในความเสี่ยง และได้ให้คำแนะนำแก่ออสเตรเลียสำหรับแผน the Reef 2050 Plan”

และในแถลงการณ์ยังกล่าวต่อว่า “และจากปัญหานี้ทำให้ทางออสเตรเลียมองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นว่า กรอบของรายงานฉบับนี้สามารถทำให้เกิดความสับสนขึ้นใน 2 จุดใหญ่ด้วยกันคือ สถานภาพการเป็นมรดกโลกของสถานที่เหล่านั้น และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศของโลกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้ชี้ได้ว่า การแสดงความเห็นด้านลบเกี่ยวกับสถานภาพของการเป็นมรดกโลกนั้นเป็นผลร้ายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว”

ด้านศาสตราจารย์ วิล สเตฟเฟน (Will Steffen) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และประธานหน่วยงานสภาสภาวะอากาศแห่งออสเตรเลีย(Australia's Climate Council)ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เขารู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากในการกระทำที่เกินกว่าเหตุของรัฐบาลออสเตรเลียต่อรายงานของทางองค์การสหประชาชาติ

“ผมไม่เข้าใจเลย รายงานฉบับนี้มีเนื้อหาที่สมดุลในทุกด้าน และไม่มีสิ่งใดในรายงานฉบับนี้ที่ถือเป็นสิ่งใหม่” สเตฟเฟนกล่าว และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะอากาศจากออสเตรเลียยังแสดงความกังขาถึงคำอธิบายของรัฐบาลออสเตรเลียในปัญหาด้านความสับสนถึงสถานะการเป็นมรดกโลกของเดอะเกรทแบริเออร์รีฟที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวออสเตรเลีย “ไม่มีสิ่งใดที่จะเชื่อมโยงไปสู่ตรรกะนี้ได้” สเตฟเฟนชี้

“ไม่มีการเอ่ยถึงแม้แต่น้อยว่า เดอะเกรทแบริเออร์รีฟจะถูกขึ้นเป็นสถานที่ตกอยู่ในอันตรายเสี่ยงต่อการถูกทำลาย และนอกจากนี้ยังมีย่อหน้าในช่วงท้ายที่กล่าวถึงขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรมที่ทางรัฐบาลออสเตรเลียกำลังหาทางที่จะทำให้แหล่งมรดกโลก “เดอะเกรทแบริเออร์รีฟ” จะตกอยู่ในความเสี่ยงน้อยลง” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวต่อ

ทั้งนี้เดอะการ์เดียนรายงานว่า มีข่างลือหนาหูมาตลอดในช่วงไม่ถึงปีมานี้ที่รัฐบาลอสเตรเลียประสบความสำเร็จสามารถล็อบบี้หน่วยงานยูเนสโกไม่ให้ขึ้น “เดอะเกรทแบริเออร์รีฟ” อยู่ในรายชื่อเขตมรดกโลกตกอยู่ในอันตราย หรือ “World Heritage Sites in Danger” ทั้งๆที่เป็นที่รู้กันดีว่า ผลจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศและปรากฎการณ์ด้านสภาพอากาศของโลก ส่งผลทำให้เดอะเกรทแบริเออร์รีฟตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นอย่างมาก ระดับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงผิดปกติส่งผลทำให้ 93% ของแนวปะการังทั้งหมดยาวตลอด 2,300 กม.ของเขตมรดกโลก “มีสภาพที่มีสีที่จางลงไปจนเป็นสีขาว” ในขณะที่ในทางตอนเหนือที่เชื่อว่าเป็นเขตที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่สุดนั้น บรรดานักวิทยาศาตร์ต่างเชื่อว่า เหล่าปะการังอาจได้ตายลงไปแล้ว

และในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีครั้งนี้ สเตฟเฟนยังเปิดเผยด้วยว่า ในการเผยแพร่รายงานของยูเนสโกฉบับนี้ ที่มีรายละเอียดสรุปถึงความเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้นต่อเขตมรดกโลกในที่ต่างๆของโลกนั้น ดูเหมือนจะถูกจำกัดให้กับบรรดาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาทีทำงานในแวดวงที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

บีบีซีรายงานทิ้งท้ายว่า ในเบื้องต้นยังไม่ปรากฏว่าเหตุใดองค์การสหประชาชาติจึงตกลงกับรัฐบาลออสเตรเลีย ยอมอนุญาตให้มีการลบชื่อประเทศออกจากรายงานทั้งฉบับได้
วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมบนเกาะทัสมาเนีย ออสเตรเลีย

กำลังโหลดความคิดเห็น