xs
xsm
sm
md
lg

ศีลธรรมของคนที่มีจิตใจผิดปกติ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพวาดวาระสุดท้ายของ Socrates
Jonathan Glover คือ ศาสตราจารย์จริยศาสตร์แห่ง King’s College ในสังกัดของมหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อปี 2014 เขาได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ Alien Landscapes? Interpreting disordered minds ซึ่งจัดพิมพ์โดย Harvard University Press หนังสือนี้ได้กล่าวถึงการวิจัยเรื่องจิตสำนึกด้านศีลธรรมของคนที่มีจิตใจผิดปกติ และ Glover ได้พบว่าการรับรู้เรื่องความนึกคิดด้านศีลธรรมของคนเหล่านี้เปรียบเสมือนการได้ไปเยือนดินแดนต่างดาว

วิธีที่ Glover ใช้ในการศึกษา คือ การวิเคราะห์คำถาม-และคำตอบตามแนวของปราชญ์กรีกโบราณชื่อ Socrates ด้วยการตั้งคำถาม แล้ววิเคราะห์คำตอบที่ได้ เหมือนดังที่ Socrates ได้เคยใช้เมื่อ 2,000 ปีก่อน และวิธีเดียวกันนี้เป็นวิธีที่มหาวิทยาลัยปัจจุบันใช้การสอนนักกฎหมาย ฯลฯ แต่เราจะไม่พบเทคนิคการซักถามนี้กับคนไข้ในคุกหรือในโรงพยาบาลโรคจิตใดๆ

Socrates คือ นักปรัชญาชาวกรีกที่ถือกำเนิดเมื่อ 469 ปี ก่อนคริสตกาล ที่กรุง Athens ในประเทศกรีซ ซึ่งในเวลานั้นเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็ง เกรียงไกรและรุ่งเรืองที่สุดในโลก บิดามีอาชีพเป็นช่างปั้น ส่วนมารดาเป็นนางผดุงครรภ์ ในวัยเด็ก Socrates ได้เคยพยายามจะเจริญรอยตามบิดา แต่พบว่าไม่ชอบนั่งปั้นรูปเลย เมื่อเติบใหญ่ Socrates ได้กลายเป็นนักปรัชญาผู้มีหน้าที่ผดุงความนึกคิดของผู้คน ในทำนองเดียวกับมารดาที่ได้ดูแลครรภ์ของสตรีในการให้กำเนิดทายาท และผดุงความนึกคิดของผู้คน

ในยุคนั้นชาวกรีกหนุ่มทุกคนต้องรับราชการเป็นทหาร Socrates จึงถูกส่งตัวออกรบในสงครามหลายครั้ง และได้สู้รบอย่างกล้าหาญและไม่กลัวตาย นี่เป็นบุคลิกด้านหนึ่งที่ Socrates มีติดตัวตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

เมื่อออกจากราชการทหาร Socrates ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสนทนาวิสาสะกับบรรดาชาวเมือง ด้วยการตั้งคำถามต่างๆ นานา แล้วฟังคำตอบคือทำตัวเสมือนเป็นคนไม่รู้อะไรเลย ตามปรกติ Socrates จะออกจากบ้านตั้งแต่เช้า แต่งตัวมอซอ เวลาเดินไปไหนมาไหนไม่ใส่รองเท้า มิใช่เพราะชอบอวดความยากจนของตนให้สังคมเห็น แต่ต้องการให้ร่างกายมีความเคยชินกับความทุกข์ยากลำบาก พฤติกรรม “ประหลาด” เช่นนี้ทำให้ชาวเมืองคิดว่า ถ้าทาสคนใดถูกนายบังคับให้ใช้ชีวิตเช่น Socrates ทาสคนนั้นจะต้องหลบหนีทิ้งนายไปแน่นอน

แต่ Socrates ไม่ได้คิดจะหนีไปไหน เขาชอบใช้เวลาส่วนใหญ่เดินไปตามท้องถนน ทุกหนแห่งเพื่อสนทนาวิสาสะกับทุกคน ไม่ว่าคนนั้นจะยากจนหรือร่ำรวย จะมีการศึกษาหรือไม่มี เพราะ Socrates สนใจเรื่องความนึกคิด และจิตสำนึกของคนทุกคน เขาจึงตั้งคำถาม เช่น ให้บอกคำจำกัดความของความดีและความชั่ว จิตสำนึกค่านิยม ความรับผิดชอบ ฯลฯ เพราะ Socrates คิดว่า คนที่ไม่ทำคุณงามความดีเลย ชีวิตจะไม่มีความหมาย ดังนั้น มนุษย์ต้องแสวงหาและกระทำความดี ซึ่งจะเป็นความรู้ที่แท้จริง

เมื่อเวลา 404 ปีก่อนคริสตกาลกรุง Athens ได้ถูกข้าชาว Sparta ศึกยึดครองและ Socrates ถูกจับเป็นเชลย แต่เขาก็ไม่กลัวบทลงโทษ เพราะเขาไม่สนใจเรื่องความตาย และเชื่อว่าถ้าร่างกายสลายไป จิตวิญญาณก็ยังคงอยู่ต่อไป เมื่อกรุง Athens เป็นอิสระ Socrates ก็ได้รับการปล่อยตัว

ในสายตาของชาวเมือง Socrates เป็นมนุษย์ที่เฉลียวฉลาดที่สุดในโลก เพราะเป็นคนที่รู้ว่าตนไม่รู้อะไรบ้าง อีกทั้งมีเหตุผล เป็นคนที่ชอบยืนครุ่นคิดตลอดเวลา พูดจาตรงไปตรงมา ซึ่งการมีบุคลิกแบบขวานผ่าซากนี้ทำให้บรรดาผู้อาวุโสหลายคนไม่พอใจ และรู้สึกรำคาญ แม้จะมีปราชญ์หลายคนที่ไม่เห็นพ้องกับวิธีคิดของ Socrates แต่เขาก็มีสานุศิษย์มากมาย ที่ต่างพากันมาห้อมล้อมอาจารย์ เพื่อเรียนศิลปะการวิเคราะห์ความเห็น และความคิดทุกเรื่องอย่างมีตรรกะ ด้วยการถามและตอบ ก่อนที่จะตัดสินความดีชั่วต่างๆ คนเหล่านี้เดินทางมาหา Socrates เพื่อศึกษาพลังของความคิด และเทคนิคการพิสูจน์ความคิด บางคนก็มาเพื่อต้องการทำให้ชีวิตของตนมีคุณค่ายิ่งขึ้น

ศิษย์ของ Socrates เป็นบุคลิกที่มีหลากหลายอาชีพ หลายคนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เช่น Critias เป็นแม่ทัพผู้โหดร้าย Plato และ Xenophon เป็นปราชญ์ สถาปนิก Pericles ผู้ออกแบบมหาวิหาร Acropolis และ Euripedes เป็นกวีเอกที่ต่างก็ได้มานั่งแทบเท้าของ Socrates เพื่อฟังคำถามแล้วหาคำตอบ ซึ่งจะนำผู้ฟังไปสู่แสงธรรมแห่งปัญญา

บุคลิกที่ไม่เอาใครของ Socrates คงทำให้หลายคนคิดว่า เขาไม่สนใจสตรี แต่ปรากฏว่า Socrates แต่งงานถึงสองครั้ง ครั้งแรกกับ Myrtone และมีลูกชายสองคน ต่อมาได้แต่งงานใหม่กับ Xanthippe และมีลูกชายหนึ่งคน ภรรยาของ Socrates คนนี้เป็นคนจู้จี้ ขี้บ่นและมีอารมณ์ร้าย ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจและเห็นใจ เพราะเธอมีสามีที่เอาแต่พูดทั้งวัน พูดทั้งกับคนแปลกหน้า และคนที่รู้จัก การไม่สนใจในครองชีวิตคู่คงทารุณจิตใจภรรยาของ Socrates มาก

เมื่อ Socrates มีอายุ 70 ปี ศัตรูของเขาก็ประสบความสำเร็จในการฟ้องศาลโดยตั้งข้อหาว่า Socrates ไม่นับถือเทพเจ้า และมุ่งทำร้ายจิตใจของหนุ่มชาวเมืองที่อยู่ในวัยเยาว์ ด้วยการล้างสมองด้วยความคิดประหลาดๆ แม้จะมีคนอาสาช่วยแก้ต่างให้ Socrates ก็ไม่ยอมให้ช่วย โดยอ้างว่า การมีคนช่วยเป็นการแสดงว่า ตนมิใช่ชายชาตรี
ภาพวาด Socrates (ขวา) โดย Christoffer Wilhelm Eckersberg
Socrates ได้พยายามต่อสู้ข้อกล่าวหาต่างๆ ด้วยตนเอง โดยอธิบายความมุ่งหมายของการกระทำว่า ทุกอย่างที่ทำไปเพื่อชาติ และต้องการให้ทุกคนมีความสุข ตามที่เทพเจ้าทรงบัญชา นอกจากนี้ Socrates ก็ยังคิดว่า เทพเจ้าของเขาทรงมีอำนาจมากกว่าศาลที่พิจารณาตัดสินความเสียอีก และเมื่อเทพเจ้าทรงประสงค์ให้ Socrates ทำงาน เขาก็จะทำต่อไปตราบเท่าที่มีลมหายใจ และเวลาเผชิญหน้าผู้คน Socrates จะยิงคำถามว่า ไม่รู้สึกละอายใจบ้างหรือที่หมกมุ่นแต่เรื่องการแสวงหาทรัพย์สมบัติและเกียรติยศ แต่ไม่เคยสนใจเรื่องสติปัญญา และความจริงเลย และสำหรับเรื่องความตายนั้น Socrates ยังได้กล่าวท้าทายว่า แม้ข้าพเจ้าจะไม่เคยตาย แต่ข้าพเจ้าก็ไม่กลัวความตาย และรู้ตลอดเวลาว่าการละทิ้งหน้าที่ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดเป็นเรื่องชั่วร้าย

เมื่อถูกย้อนและไม่มีคำตอบ ศาลรู้สึกสุดทนที่จะรับการลบหลู่อีกต่อไป จึงตัดสินให้ประหารชีวิต Socrates ด้วยการดื่มยาพิษ แต่ช่วงเวลานั้นเป็นเทศกาลทางศาสนา การสังหารจึงถูกเลื่อนออกไป 3 สัปดาห์ และ Socrates ต้องทนอยู่ในคุก โดยเท้าถูกล่ามโซ่ตลอดเวลา Crito ซึ่งเป็นลูกศิษย์ได้เสนอจะพา Socrates หลบหนี แต่ Socrates ปฏิเสธ พร้อมชี้แจงว่าเมื่อศาลตัดสินให้ตนฆ่าตัวตาย เขาก็ต้องตายตามคำตัดสิน

Plato ซึ่งเป็นศิษย์อีกคนหนึ่งของ Socrates ได้บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวาระสุดท้ายของ Socrates ว่า มีเพื่อนหลายคนมาเยี่ยมเยือนถึงห้องขังหลายคน หลังจากที่ได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการ และเห็นภรรยา Xanthippe กับลูกชายคนสุดท้องแล้ว ภรรยาได้ร้องไห้ และกล่าวกับ Socrates ว่า บรรดาเพื่อนต่างมากล่าวคำอำลาเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว และคุณเองก็คงต้องกล่าวลาพวกเขาเป็นครั้งสุดท้ายเช่นกัน แต่ Socrates มิได้สนใจคำพูดของภรรยามาก กลับบอกให้ Crito นำเธอกลับบ้านก่อน

หลังจากที่ภรรยาถูกนำตัวออกไปแล้ว Socrates ได้ผลุดขึ้นนั่งบนเตียง และบรรยายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับความเจ็บปวด บรรดาศิษย์ที่มาเยี่ยมต่างนั่งเรียงรายรอบอาจารย์ และสนทนากันเรื่องชีวิต ความตาย และวิญญาณ จนถึงเวลาบ่าย Socrates ก็ไปอาบน้ำ และกลับมาอีกครั้งเมื่อตะวันใกล้จะตกดิน อันเป็นเวลาที่ Socrates ถูกกำหนดให้ฆ่าตัวตาย

เจ้าหน้าที่ประหารชีวิตได้เดินเข้ามา แล้วกล่าวขออภัยที่จะต้องทำตามหน้าที่ๆ ได้รับมอบหมาย และขอ Socrates มิให้โกรธเคืองตน แล้วเบือนหน้าไปเพื่อซ่อนน้ำตา Socrates ยิ้มให้เพชฌฆาต และบอก Crito ให้นำยาพิษมา แล้วเทยาพิษส่วนหนึ่งทิ้งเป็นเทพบูชา จากนั้นก็ดื่มยาพิษที่เหลือ ทุกคนที่ยืนล้อมรอบต่างรู้สึกอดกลั้นความเสียใจไม่ได้ แต่ Socrates ก็ยังพยายามพูดต่อไปว่า พวกท่านกำลังทำอะไรอยู่ และการที่ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้สตรีท่านใดเห็นสถานการณ์นี้ เพราะไม่ต้องการให้เธอถูกบังคับเช่นนี้บ้าง อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าคิดว่า การตายครั้งนี้จะเป็นมงคล ถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายใดๆ เกิดขึ้นจึงขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบและอดทน

เมื่อยาพิษแผ่กระจายไปทั่วร่าง ก่อนที่จะหมดสติ Socrates บอกลูกศิษย์ให้จัดทำพิธีอำลาเทพเจ้า เพราะเขาลืมทำ แล้ว Socrates ก็สิ้นใจ

Plato ได้กล่าวสรุปว่า นี่คือฉากอวสานของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนดีที่สุดที่ทุกคนรู้จัก อีกทั้งเป็นคนที่ฉลาดที่สุดและมีจิตใจที่ยุติธรรมมากที่สุดด้วย

หลังจากที่ Socrates จากไป แล้วชาวเอเธนส์ต่างรู้สึกเสียใจ และเสียดายชีวิตของคนที่พวกตนได้กล่าวหาและกล่าวโทษ จนทำให้สังคมกรีกต่อต้าน จึงได้ขอให้ช่างปั้น Lysippus หล่อรูปเหมือนของ Socrates ด้วยทองสำริด ให้โลกได้ระลึกถึงคนที่นำวิชาปรัชญาจากสวรรค์เบื้องบนลงมาสู่โลกมนุษย์เบื้องล่าง เพราะ Socrates สามารถแสดงให้ทุกคนเห็นว่า คนธรรมดาก็สามารถทำความดีและบรรลุถึงซึ่งความจริง และความสวยงามของสวรรค์ได้ ด้วยเหตุและผล การตายของ Socrates แสดงให้เห็นว่าความคิดใดๆ ที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจในการปกครอง มักได้รับการพิจารณาว่าเป็นอันตราย ดังนั้นการฆ่าความคิดก็คือการกำจัดศัตรู

ในการนำเทคนิค Socrates มาใช้ซักถามทัศนคติและความนึกคิดของคนไข้ที่มีจิตใจผิดปกติในโรงพยาบาล Broadmoor ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของอังกฤษ เพราะ Glover คิดว่าในสายตาของคนทั่วไปบุคคลประเภทนี้มีจิตสำนึกที่ผิดปกติด้านคุณธรรม ดังนั้นเพื่อให้คน “ธรรมดา” เข้าใจจิตใจของคน “ผิดปกติ” การวิเคราะห์การสนทนาจึงเป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าสนใจ แทนที่จะประณามเขาไปโดยไม่ฟังความนึกคิดของเขาว่า มีบุคลิกภาพที่ต่อต้านหรือแก้แค้นสังคม มาจากสาเหตุใด หรือเพราะจิตใจของเขาผิดธรรมชาติอย่างไม่มีทางแก้ไขได้

คนไข้ที่ Glover สัมภาษณ์ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่แตกแยก และทุกคนได้กระทำความผิดที่ร้ายแรงจนถูกวิเคราะห์ว่ามีบุคลิกภาพผิดปรกติ และไม่มีคุณธรรมใดๆ เพราะไม่เข้าใจผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของตนเองเลย และ Glover ก็ได้พบว่า เวลาเขาถามคำถามง่ายๆ เช่นว่า คนเหล่านี้จะสอนเด็กเล็กๆ เรื่องความถูกต้อง และสิ่งที่ไม่ควรทำนั้น เขาจะสอนอะไร และอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้ก็เป็นตามที่คนส่วนใหญ่คิด คือเป็นการตอบที่ไม่ลึกซึ้ง เช่น บอกว่าจะไม่ให้เด็กกล่าวคำสบถสาบาน ส่วนการสาปแช่งนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากการรังแกผู้อื่น หรือการลักขโมยถือเป็นเรื่องผิด เพราะคนทำจะถูกขังคุก ทำให้ไม่มีเสรีภาพ เป็นต้น

Glover ได้ทดลองใช้คำถามเชิงจินตนาการว่า ถ้าให้คนไข้สวมแหวนที่ทำให้หายตัวได้ แล้วกระทำกรรมชั่ว อะไรจะเกิดขึ้น คนไข้หลายคนคิดว่า ถ้าไม่มีใครเห็น การทำกรรมชั่ว การขโมยหรือการฆ่าคนก็ไม่มีความผิด และนั่นแสดงว่า ฆาตกรอยู่เหนือกฎหมาย

Glover ได้พบความจริงหลายข้อจากการศึกษานี้ เช่นว่า ความผิดปกติของพฤติกรรมมีหลายมิติ และหลายเรื่องของความผิดปกตินี้ คนปกติทั่วไปก็มีเช่นกัน ดังนั้น นักจิตเวชศาสตร์จึงมีประเด็นที่ต้องศึกษาและน่าศึกษามาก เพราะการเข้าใจจิตใจของคนเหล่านี้จะทำให้ความรู้ของมนุษย์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะมันจะเป็นองค์ความรู้ใหม่ ที่เราสามารถจะรู้ได้ ถ้าอดทนและตั้งใจฟัง ดังที่ Socrates ได้เคยทำเมื่อ 2,300 ปีก่อน






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์








กำลังโหลดความคิดเห็น