“ฆ้องไทยใช้ตี ฆ้องลาวใช้ลูบ” ประโยคนี้อาจอ่านแล้วงง แต่สำหรับคนที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศลาวน่าจะเข้าใจ เพราะในวัดพุทธของลาวเราจะพบเห็นการลูบฆ้องเพื่อขอโชคลาภแทนการใช้ไม้ตี แต่น่าฉงนที่วิธีกลับใช้ไม่ได้กับทุกคน จนเกิดคำพูดที่ว่า “คนลูบฆ้องดังคือคนมีบุญ ส่วนคนลูบฆ้องไม่ดังคือคนไม่มีบุญ”
เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายแล้วสำหรับ “SuperSci” .. สัปดาห์นี้จึงมีความพิเศษกว่าเทปอื่นเพราะ “ประวีณา พลเขตต์” ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ พาทุกคนไปพิสูจน์ความน่าฉงนของฆ้องในวัดประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่มีวิธีทำให้เกิดเสียงด้วย “การลูบ” แทนที่การตีด้วยไม้หุ้มนวมแบบปกติของคนไทย ซึ่งการลูบนี่เองที่ทำให้เกิดความต่างและน่าแปลกใจ เพราะบางคนเพียงแค่ลูบเบาๆ เสียงของฆ้องก็ดังกังวาลขึ้นได้ ในขณะที่บางคนออกแรงถูเท่าไรก็ไม่เกิดเสียง จนต้องสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์อย่าง “รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ” ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยไขความกระจ่าง
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ” ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การเกิดเสียงของฆ้องเกิดจากการสั่นตัวของฆ้อง ที่นักฟิสิกส์เรียกว่า การกำทอน หรือ เรโซแนนซ์ (Resonance) การกำทอนของวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะโลหะจะต้องมีตัวกำเนิดการสั่นสะเทือนก่อน ซึ่งทั่วไปคนไทยจะใช้การตี อย่างไรก็ดี “การถู” ด้วยมือก็ทำหน้าที่เป็นตัวกำเนิดการสั่นสะเทือนได้เช่นกัน
แต่การถูที่จะทำให้ฆ้องเกิดเสียงได้ รศ.ดร.วีรพงษ์ ระบุว่า ต้องเป็นการถูที่เป็นจังหวะ เพราะจังหวะของการสั่นสะเทือนจะไปสอดคล้องกับความถี่ทางธรรมชาติของฆ้อง ที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์การกำทอนเกิดขึ้น เมื่อการกำทอนเกิดขึ้นก็จะทำให้เสียงดังขึ้น เช่นเดียวกับการเกิดเสียงของกีต้าร์ ที่ถ้าหากเราดีดเส้นลวดกีต้าร์ธรรมดาจะไม่เกิดเสียง แต่ถ้าเอาเส้นลวดไปวางไว้บนคานหรือกล่องกีต้าร์จะทำให้การสั่นสะเทือน ไปพ้องกับความถี่ทางธรรมชาติของกล่องกีต้าร์ซึ่งทำให้เกิดเสียงกีตาร์ขึ้นได้
“กระบวนการนี้เป็นเพียงกระบวนการของการสั่นสะเทือนที่ไปสอดคล้อง ไปพ้องกับความถี่ทางธรรมชาติ ของวัสดุที่ทำให้เกิดเสียงเท่านั้น เป็นเรื่องของความเชื่อที่อธิบายได้ ไม่ใช่เรื่องของการมีบุญ ไม่มีบุญ เพราะมันเกิดในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่จำเป็นต้องมีเทคนิค วิธีการให้เกิดความสั่นพ้องขึ้น ใครลูบเป็นจังหวะก็จะมีเสียง ใครลูบไม่เป็นจังหวะก็จะไม่เกิดเสียงดัง ทุกอย่างวิทยาศาสตร์ตอบได้ครับ” รศ.ดร.วีระพงษ์ อธิบาย