สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยบรรยากาศกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 11 ปี คืนวันที่ 31 พ.ค.59 ณ 3 จุดสังเกตการณ์หลักของสดร. ฉะเชิงเทราฟินสุด !! ฟ้าเปิด ดาวอังคารโผล่พร้อมดาวเสาร์ ส่วน เชียงใหม่ และโคราชฝนตกหนักตลอดคืน
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า บรรยากาศการจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลกในรอบ 11 ปี คืนวันที่ 31 พ.ค.59 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยค่อนข้างผิดหวังเนื่องจากมีฝนตกลงมาตลอดทั้งคืน โดยในส่วนของสดร. เองตั้งจุดสังเกตการณ์หลัก 3 จุด คือที่ เชียงใหม่ โคราช และ ฉะเชิงเทรา
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ จัดบริเวณลานน้ำพุ หน้าศูนย์การค้าเมญ่าเชียงใหม่ มีฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงดึก จึงไม่สามารถจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ได้ รวมถึงที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ก็มีฝนเทลงมาตั้งแต่ช่วงกลางวันยาวต่อเนื่องถึงช่วงเย็นอย่างไม่ขาดสาย แต่สำหรับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา แม้ฝนจะตกลงมาในช่วงเย็น แต่หลังจากเวลาประมาณทุ่มครึ่งฝนหยุดตกฟ้าเริ่มเปิด ดาวอังคารและดาวเสาร์ โผล่ทะลุเมฆมาให้ประชาชนได้ชมกันอย่างเต็มตา ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง
"ในคืนนี้เราได้เปิดกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ไว้บริการประชาชนด้วย สามารถดูดาวอังคารและดาวเสาร์ผ่านช่องมองภาพของกล้องโทรทรรศน์ดังกล่าว ซึ่งจะมองเห็นรายละเอียดพื้นผิวของดาวอังคารและวงแหวนของดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจน สำหรับเครือข่ายจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ หลายพื้นที่ส่วนใหญ่พบว่ามีฝนตกลงมาทำให้สภาพท้องฟ้าไม่เอื้อต่อการสังเกตการณ์ แต่ก็มีบางจังหวัด เช่น น่าน พะเยา นครพนม สงขลา ที่สภาพท้องฟ้าเปิด ไร้ฝน สามารถจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกในคืนดังกล่าวได้ มีประชาชน นักเรียน ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก" ดร.ศรัณย์เผย
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังจากดาวอังคารโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ที่ระยะห่าง 76.31 ล้านกิโลเมตร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา จนกระทั่งจะเข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 31 พ.ค.59 ที่ระยะห่าง 75.28 ล้านกิโลเมตร เป็นการโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 11 ปี ตั้งแต่ปี'48 เป็นต้นมา และหลังจากนี้ดาวอังคารจะโคจรห่างออกไปเรื่อย ๆ แต่คนบนโลกยังคงสามารถสังเกตเห็นดาวอังคารปรากฏอยู่บนท้องฟ้าได้อย่างชัดเจน แต่ความสว่างจะค่อยๆ ลดลง และจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดครั้งต่อไปอีกประมาณ 2 ปี ข้างหน้า คือในวันที่ 31 ก.ค.61 ดาวอังคารจะห่างจากโลกที่ระยะทาง 57.59 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 15 ปี
"สำหรับผู้ที่พลาดชมความสวยงามของดาวอังคารใกล้โลกในคืนนี้ ยังมีอีก 1 ปรากฏการณ์ให้ได้ติดตาม ในคืนวันที่ 3 มิ.ย.59 ดาวเสาร์จะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ปรากฏชัดสีเหลืองสว่างสุกใส ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หลังดวงอาทิตย์ตก อวดโฉมยาวนานตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า หากดูด้วยกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตา สามารถเห็นวงแหวนได้ชัดเจน สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ "ดาวเสาร์ – ราชาแห่งวงแหวน” ให้ประชาชนสัมผัสเต็มตาที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และ นครราชสีมา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/NARITpage "ดร.ศรัณย์ กล่าวทิ้งท้าย