ฉะเชิงเทรา - นักดาราศาสตร์ชี้ถึงความน่าสนใจของปรากฏการณ์ดาวอังคารโคจรใกล้โลกในวันนี้ ระบุเหมาะแก่การเลือกใช้โอกาสทางการศึกษาเรียนรู้ และเข้าถึงดาวอังคารได้อย่างใกล้ชิดมากที่สุดที่มนุษย์จะสามารถสังเกตเห็นได้ เพราะถือเป็นดาวเคราะห์คู่แฝดของโลก ทั้งสภาพพื้นผิว และชั้นบรรยากาศ ที่จะสังเกตเห็นได้ดีกว่าในช่วงอื่นๆ ที่ดาวอังคารจะโคจรห่างออกไปไกลจากโลก
วันนี้ (22 พ.ค.) นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงความน่าสนใจของปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกในวันนี้ 22 พ.ค. และในวันที่ 31 พ.ค.59 ว่า ดาวอังคารถือเป็นดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรคู่กันกับโลกมนุษย์ แต่จังหวะที่ดาวอังคาร และโลกจะเข้ามาอยู่ใกล้กันนั้นมีไม่มาก เนื่องจากวงโคจรดาวอังคารกับโลกนั้นมีส่วนหนึ่งที่ห่างออกจากกัน และมีส่วนหนึ่งที่แคบเข้ามาใกล้กัน จึงมีโอกาสที่ไม่บ่อยนักที่โลกกับดาวอังคารนั้นจะเข้ามาเคียงคู่อยู่ในระยะใกล้กัน และอยู่ในระนาบเดียวกันในวันนี้
ซึ่งจะเป็นโอกาสให้มนุษย์เราจะได้สังเกตเห็นพื้นผิวของดาวอังคาร และสังเกตเห็นบรรยากาศโดยรอบของดาวอังคาร จึงต้องเป็นช่วงที่โคจรเข้ามาใกล้โลกเท่านั้นเราจึงจะสามารถสังเกตเห็นได้ดี หรือถ่ายภาพได้ดีในจังหวะนี้ ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะที่สำคัญที่ผู้สนใจทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปจะได้มาติดตามชมดาวอังคารใกล้โลกกันในวันนี้ที่ระยะ 76 ล้าน กม. และในวันที่ 31 พ.ค.59 ที่ระยะ 75 ล้าน กม.
ซึ่งทางหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ประจำภูมิภาค ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา แห่งนี้ จะได้มีการจัดกิจกรรมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมาสังเกตการณ์ และจะไม่ทำแต่เฉพาะดาวอังคารใกล้โลกเพียงอย่างเดียว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ถึงดาวเคราะห์ดวงอื่นด้วย ทั้งดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ โดยจะมีการตั้งกล้องดูดาวให้ประชาชนได้ดูผ่านทางกล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดาวที่ทางหอดูดาวแห่งนี้มีความพร้อมเป็นจำนวนมากที่จะให้บริการฟรีแก่ประชาชนที่มาลงทะเบียน โดยที่จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
อีกทั้งยังมีความพร้อมที่จะรองรับประชาชนที่มีความประสงค์จะเดินทางมากางเต็นท์ พักแรม เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางดาราศาสตร์กับทางหอดูดาวแห่งนี้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืนอีกด้วย
สำหรับดาวอังคารนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นดาวเคราะห์คู่แฝดของโลก ในสมัยอดีตนั้นมนุษย์เคยเชื่อว่า บนดาวอังคารนั้นเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เนื่องจากสังเกตเห็น และค้นพบว่า มีร่องรอยเส้นต่างๆ บนผิวดาวอังคารที่มนุษย์เข้าใจว่าเป็นคลองขุดบนดาวอังคาร ซึ่งอาจเป็นร่องรอยแหล่งน้ำที่ได้เคยเกิดขึ้นบนดาวอังคารมาก่อน จึงทำให้เชื่อได้ว่าก่อนหน้านี้ บนดาวอังคารอาจจะเคยมีน้ำ มีบรรยากาศ และสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารด้วยก็เป็นได้ แต่อาจมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ดาวอังคารนั้นไม่สามารถที่จะเก็บกักน้ำ และเก็บกักบรรยากาศ หรือออกซิเจนเอาไว้ได้ จึงทำให้เกิดการสูญเสียไปทั้งหมด
จึงทำให้ในปัจจุบันนี้ มนุษย์จึงมีความพยายามที่จะทำการค้นคว้า และศึกษาเพื่อหาแหล่งน้ำบนดาวอังคาร โดยได้มีการส่งยานอวกาศขึ้นไปยังดาวอังคารจำนวนมาก และมีแผนการที่จะส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปเหยียบดาวอังคารอีกด้วย
จึงเป็นความพยายามที่มนุษย์จะทำการศึกษาค้นคว้าบนดาวอังคารให้ละเอียดมากขึ้น เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่มีความคล้ายคลึงกันกับโลกอย่างมาก โดยมีสิ่งเทียบเคียงกันกับโลกได้หลายอย่าง เช่น ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์หิน ไม่ใช่ดาวเคราะห์แก๊สเหมือนโลก และยังมีพายุบนพื้นผิวดาวอังคารคล้ายกันโลกด้วย ขณะที่แกนความเอียง และอุณหภูมิบนพื้นผิวก็ยังมีความใกล้เคียงกัน ตลอดจนระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเองก็ยังมีความใกล้เคียงกันอีกด้วย