เด็ก ป.5 สาธิตจุฬาฯ สุดเจ๋ง ประดิษฐ์อุปกรณ์มัดถุงขยะแก้ปัญหาใช้ถุงไม่คุ้ม-น้ำขยะไหลนอง-พลาสติกล้นโลก จากการเลียนแบบท่าทางนิ้วมือขณะคนเก็บขยะมัดถุง อีกทั้งยังได้การันตีเหรียญทองแดงสิ่งประดิษฐ์นานาชาติที่สวิตเซอร์แลนด์
น่าจะเป็นปัญหาของหลายบ้านทีเดียว สำหรับการมัดถุงขยะแบบไร้หู ที่นอกจากจะมัดยากเสี่ยงต่อการหกรดรั่วไหลของวัตถุภายใน การมัดปมแต่ละครั้งยังทำให้สูญเสียพื้นที่ถุงพลาสติกไปเป็นจำนวนมาก แทนที่จะใส่ขยะได้เต็มจำนวน นักเรียนชั้น ป.5 จำนวน 4 คนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เด็กนักเรียนวัยใสที่ต้องทำโครงงานนวัตกรรมส่งครูจึงใช้ปัญหานี้ในการประดิษฐ์ “อุปกรณ์มัดถุงขยะอย่างง่าย”
ด.ช.สุภกิณห์ นามมนตรี นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าอุปกรณ์สำหรับช่วยมัดถุงขยะที่กลุ่มของพวกเขาทำขึ้น เป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลทั่วไป และผู้เก็บขยะเพราะจากการสังเกตปัญหาเกี่ยวกับขยะรอบตัวพบว่า การมัดถุงขยะด้วยวิธีธรรมดาทั่วไป ที่เป็นการม้วนแล้วมัดเป็นปมจะกินเนื้อที่ถุงขยะมากเกินความจำเป็น อีกทั้งยังทำให้เกิดลมซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขนย้าย
สมาชิกในกลุ่มซึ่งประกอบด้วย ด.ญ.ปัณณา อมรวิวัฒน์, ด.ช.จีราวัฒน์ พูนบันดาลสิน และด.ช.ธนานิษฐ์ เลิศวิลาศานนท์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้น จึงได้รวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยมัดถุงขยะที่สามารถมัดปมถุง ได้โดยใช้พื้นที่ถุงน้อยลง, ไม่ต้องออกแรงมาก และเหมาะสำหรับผู้ใช้ทุกกลุ่มทุกวัย
ด.ญ.ปัณณา อมรวิวัฒน์ กล่าวว่าเมื่อได้ข้อสรุปว่าจะทำอุปกรณ์มัดปากถุงขยะ สิ่งที่พวกเธอทำต่อในทันทีคือการสังเกตวิธีมัดถุงขยะจากคนใกล้ตัว และคนเก็บขยะนับสิบคน ทำให้เห็นการมัดปากถุงในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็มีทั้งตัวอย่างที่ไม่ดี เช่น มัดหลวมเกินไปจนน้ำจากขยะด้านในไหลนองออกมา หรือบางแบบก็กินพื้นที่ถุงไปเกือบครึ่ง จนในที่สุดก็พบรูปแบบการมัดถุงที่ดีที่สุด นั่นก็คือการใช้นิ้ว 2 นิ้วคือนิ้วชี้และนิ้วกลาง คีบปากถุงพลาสติกแล้วออกแรงม้วนและขมวดเป็นปม หลังจากนั้นจึงจำลองท่าทางดังกล่าวแล้วร่างแบบออกมาเป็นที่มัดถุงซึ่งมีหน้า ตาเบื้องต้นเป็นขายาว 2 ขาและมีที่เกี่ยวตรงกลาง
ในส่วนขั้นตอนลงมือทำหลังออกแบบ ด.ช.จีราวัฒน์ พูนบันดาลสิน เผยว่าผู้ปกครองของทุกครอบครัวและครูที่ปรึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะลำพังเด็กอย่างพวกเขาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบางอย่างต้องใช้เครื่องมือช่างและอุปกรณ์เฉพาะ โดยได้เริ่มทำที่มัดถุงรูปแบบที่ 1 ขึ้นจากไม้ก่อน เพราะทำง่ายโดยใช้ไม้แท่งยาวสองแท่งมีที่เกี่ยวตรงกลาง แต่ก็พบว่าใช้งานได้ไม่ดีและแตกง่ายจึงเป็นอันต้องยกเลิกไป
เพื่อแก้ไขความเปราะของไม้ ที่มุดถุงรูปแบบที่ 2 จึงถูกทำขึ้นจากสแตนเลสโดยฝีมือการดัดของพ่อ ด.ช.สุภกิณห์ ซึ่งใช้งานได้ดีมาก แต่ก็มีน้ำหนักมากและค่อนข้างอันตรายเช่นกัน เพราะมีส่วนปลายของเครื่องมือที่แหลมคม จึงมาถึงรูปแบบที่ 3 ที่ทำขึ้นจากพลาสติกด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และรูปแบบปลายที่กลมมน และยังมีการเพิ่มลูกเล่นให้ขอเกี่ยวด้านในสามารถปรับระดับได้สำหรับถุงทุกขนาด นอกจากนี้ปลายอีกด้านที่เหลือยังพัฒนาให้เป็นที่เปิดขวดอีกด้วย
“อุปกรณ์นี้พวกผมทำกันมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปี'58 ครับ ลองผิดลองถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนตอนนี้เป็นรุ่นที่ 4 ที่ทำขึ้นจากโลหะแบบเบาแต่แข็งแกร่ง แบบนี้เราผลิตให้ผู้เก็บขยะใช้โดยเฉพาะเพราะมันจะทนทานกว่าและไม่เจ็บมือ ส่วนในอนาคตเราได้คิดไปถึงการพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของมีดพก สำหรับเวลาเข้าป่า หรือทำยังไงก็ได้ให้มันใช้ง่ายที่สุด คนจะได้คิดว่าการทิ้งขยะไม่ใช่เรื่องที่ลำบาก และที่สำคัญเมื่อเรามัดปมถุงขยะได้เล็กลง ใน 1 รอบของการใช้งานถุงก็จะบรรจุขยะได้มากขึ้น ทำให้เราไม่ต้องใช้ถุงพลาสติกมากเกินไป โดยเราได้นำผลงานไปแข่งขันที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับรางวัลเหรียญทองแดงด้าน Domestic Science ในประเภท Restaurant equipment กลับมาครับ” ด.ช.ธนานิษฐ์ เลิศวิลาศานนท์ กล่าว