xs
xsm
sm
md
lg

พลิกผืนหญ้าให้เป็นเงินทอง ด้วยการอ่านหนังสือ! “เจ๊ะหัน ยะลา” : จากจับกัง สู่นายจ้าง 10 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนึ่งปี สร้างอาชีพระดับหลักหมื่น
สองปี กลายเป็นเจ้าของธุรกิจมีลูกจ้าง
สามปี เปลี่ยนเป็นผู้รับซื้อและแปรรูปส่งต่อ
หกปี ขยายรากฐานบริหารและสร้างรายได้นับกว่า 10 ล้าน แก่ตนเองและชุมชน

เรื่องราวนี้คงจะน่าสนใจน้อยลง ถ้า “เจ๊ะหัน ยะลา” หนุ่มใหญ่วัย 50 ปี การศึกษาวุฒิ ป.6 ที่นับถ้อยหลังไปก่อนหน้านี้ 6 ปี ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นกรรมกรและรับจ้างทั่วไปที่มีรายได้ต่ำกว่า 200 บาทต่อวัน...

แต่ก็เป็นไปได้แล้ว และไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ทั้งหมดเริ่มมาจากแผ่นกระดาษเพียงไม่กี่ร้อยหน้า จากหนังสือเรื่อง "หญ้า" วัชพืชเรี่ยดินที่กลายเป็นต้นธารความคิดและเงินทอง...

“...ชายผู้นี้เรียนจบแค่ ป.6 และจบมานานกว่า 30 ปี จากนั้นก็ไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเลย แต่เมื่อ 6 ปีก่อน หลังจากที่เขาอ่านหนังสือ ตัวอักษร ความรู้ ทำให้วิธีคิดและชีวิตเขาเปลี่ยนไป จากก่อสร้างธรรมดา ๆ ที่คนในครอบครัวก็ทำงานรับจ้าง ตอนนี้เขาได้คิดโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือชุมชน ตั้งกองทุนสวัสดิการในหมู่บ้าน คิดอาชีพใหม่ ๆ เปิดโลกให้กับคนในพื้นที่ ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ใช่แค่ตัวเขา แต่ทั้งชุมชนนั้นดีขึ้น ส่วนตอนนี้ เขาดูแลวิสาหกิจชุมชนที่มีมูลค่าหลายสิบล้านบาทอยู่ และแน่นอนชีวิตประจำวันของเขา จะมีหนังสือติดตัวอยู่เล่มหนึ่งเสมอ...”

นั่นคือถ้อยคำบางคำจากศิลปินแห่งชาติ “มกุฏ อรฤดี” ที่กล่าวถึงชายคนหนึ่ง ซึ่งยิ่งเร่งเร้าให้เราก้าวไป ทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น...

6 ปี จาก 120 บาท สู่ 10 ล้าน
อยู่ที่เราจะเห็นค่ากันอย่างไร

“เราก็อยู่ตามปกติชาวบ้าน ไม่รู้เลยว่าหนังสือสอนอะไร ไม่เคยรู้ว่าหนังสือที่มันกองๆ มากมาย มันมีประโยชน์อย่างไร เราแค่อ่านหนังสือศาสนาทั่วไปตามปกติ แต่หลังจากมี “โครงการระบบหนังสือหมุนเวียน” ของอาจารย์ มกุฏ อรฤดี ไปทำหนังสือหมุนเวียนที่มัสยิดแล้วเราก็ได้สัมผัสในความหมายของหนังสือ ได้อ่านได้เริ่มคิด นี่เป็นการจุดประกายที่ให้เรามีวันนี้”

เศรษฐีใหญ่วัย 50 แห่งจังหวัดกระบี่ เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงจากชาวบ้านธรรมดาที่มีอาชีพรับจ้าง ทำงานขายแรงงาน เป็นกรรมกรมาเกือบทั้งชีวิต ก่อนที่การอ่านหนังสือจะช่วยยกระดับสถานะสู่เศรษฐี

“ชีวิตตอนนั้นมันก็หนัก ทำงานก่อสร้าง กรีดยาง ทำนา ทำไร่ ส่งเสียครอบครัว ภรรยา ลูกๆ อีก 2 คน มันก็ไม่พอ เพราะเราได้ค่าแรงวันละ 120 บาท 160 บาท ไหนจะค่าอาหาร ค่าครัวเรือน ค่านม ทุกอย่างมันรวมอยู่ในนั้น ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ก็เพิ่งจะเริ่มได้ปีสองปีเอง เมื่อก่อน สมัยปี 2523 จบปริญญาตรีก็ 250 บาท แต่เราจบ ป.6 รุ่นแรก ที่ปรับจาก ป.7 ถามว่าเราจะได้เท่าไหร่”

“แบงก์แดงๆ 2 ใบ ยังไม่แตะถึงเลย”
เจ๊ะหัน กล่าวด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกให้รู้โดยไม่ต้องคิดเลยว่าสภาพคุณภาพชีวิตในช่วงนั้นของคนชนบทจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ กระดาษตัดมุมผืนผ้าเย็บหนาราคาหลักร้อยจึงไม่มีค่ามากกว่าข้าวสารที่กรอกหม้อ

“คือจุดตอนนั้นทุกคนจะไม่คิดหรอก ชีวิตเราเริ่มตั้งแต่ก่อนจะแต่งงาน ทุกคนคิดเรื่องสนุกอย่างเดียว เรื่องหนังสือ เรื่องการอ่าน ไม่มี ทีนี้พอมีครอบครัวก็คิดแต่ว่าเราจะรักษาครอบครัวให้รอด เรื่องอย่างอื่นเขาไม่สนใจกันหรอก หนังสือเล่มละ 200-300 บาท ชาวบ้านเขาไปซื้อน่องไก่ ซื้อข้าวหมก

“มันยาก นอกจากเป็นไฟท์บังคับในทางศาสนาจริงๆ แต่ขนาดหนังสือศาสนา กว่าจะซื้อได้สักเล่ม มันก็ยากพอสมควร ส่วนตัวผมไม่เคยซื้อเลย เพราะรับจ้างกรีดยาง เราจะมีความสามารถไปซื้อหนังสือเล่มละ 300 บาทได้ยังไง โน่น ข้าวสารที่กรอกหม้อยังไม่มี ยาที่จะรักษาเจ็บไข้ได้ป่วยยังไม่มี นั่นต้องมาเป็นสิ่งสำคัญก่อน

“ชีวิตก็จะเป็นอย่างนั้น จนมีโครงการหนังสือหมุนเวียนในชุมชนเกิดขึ้น คือถ้ามีโครงการนี้ตั้งแต่จบ ป.6 รุ่นแรก (หัวเราะ) คนในชุมชนคงพัฒนาไปได้มากกว่านี้ คนจะได้ความรู้มากกว่านี้ เพราะมันใกล้ตัวเขา เขาไม่ต้องเดินทางไปถึงตัวจังหวัดเพื่อเข้าห้องสมุดประชาชน เข้าศาลากลาง”
อาจารย์ มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และ เจ๊ะหัน ยะลา
และก็จริงดั่งคำของเจ๊ะหัน เพราะหลังจากโครงการหนังสือหมุนเวียนเกิดขึ้นในมัสยิดชุมชนบ้านพรุตรีด ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง ทำให้เขาได้พบกับหนังสือเรื่อง "หญ้า" ที่จุดประกายความคิด ว่าด้วยกระบวนการตั้งแต่การคัดเลือกพืช วิธีการปลูก เปลี่ยนวัชพืชไร้ค่าให้กลายเป็นทุ่งทองเงินตรา

“พอเราอ่านและคิดตาม เราก็ได้ความรู้ เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ตอนนั้นหลังจากอ่านเรื่องอื่นๆ จนมาเจอเรื่องหญ้า เราก็มองไปเห็นชุมชนบ้านเราที่มีแหล่งเสื่อมอบายมุข มีบ่อนวัว เราจะแก้อย่างไร เราก็คิดๆ แต่เราก็แก้ไม่ได้ เพราะเราไม่มีความสามารถ เราก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไรให้คนหรือเด็กๆ ที่อยู่ในบ่อนวัวนั้นได้ความรู้ เราก็เลยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ปลูกหญ้าเพื่อเอาไปขายให้พวกวัวชน

“แรกๆ ครอบครัวหรือทุกคนก็มองว่าไร้สาระ มันทำอะไร มันขายอะไร วัวเราไม่เลี้ยง อะไรเราก็ไม่เลี้ยง เขาบอกกันว่าไร้สาระทุกอย่าง แต่ถ้าเราไม่ลอง เราไม่รู้ เราเห็นภาพจากการอ่าน คือถ้าถามว่าจากที่ไม่เคยอ่านหนังสือ ใช้สัญชาตญาณ ใช้วิถีชีวิตมาตลอด พอมาอ่านแล้วเราจะเชื่อตัวหนังสือในแผ่นกระดาษได้อย่างไร อยู่ที่เราอ่านก่อน อ่านแล้วเราจะเห็นภาพ เกิดการคิด แล้วก็ทำตาม เราเอาจิตเอาใจเข้าไปสู่ระบบของหนังสือ เอาสมองเล็กๆ คิดว่าเรื่องนี้มันจะได้น้อยมากสักแค่ไหน เราก็เริ่มคิด เริ่มทำ เริ่มหาข้อมูล

“ไม่ใช่ว่าอ่านปุ๊บแล้วทำเลย เราต้องคิด ต้องวิเคราะห์ว่าหนังสือมันสอนอย่างนี้ มันจะทำได้ไหม มันจะเป็นจริงได้ไหม มันจะปรับเข้ากับสิ่งที่เราจะทำอย่างไร เราจะปรับวิธีคิดอย่างไรให้เข้ากับเรา เพราะหนังสือบางเล่มเขาเขียนในบริบทที่ไม่เหมือนกัน เราจึงต้องใช้วิถีชีวิตคิดด้วย เช่น คำว่าพยัคฆ์ เราก็ต้องใช้คำว่าเสือ เราชาวบ้าน เราก็ต้องตีโจทย์ว่าเสือ จะตีเป็นพยัคฆ์ มันก็ไม่ได้ ไม่ตรงกับของเรา เราก็อ่านแล้วมาประยุกต์แล้วก็ปฏิบัติ ไม่ว่าจะอ่านเรื่องอะไร”

และจากความคิดที่มุ่งหวังให้ความรู้ ระยะเวลาแค่ 6 เดือน ก็พลิกเปลี่ยนคำว่า “ไร้สาระ” ที่เขากล่าวๆ กัน ให้กลายเป็นที่สนใจ

“ตอนแรกเริ่ม เราอ่านเรื่องการปลูกหญ้า เขาก็มีบอกว่าสภาพภูมิประเทศแบบไหนจะเหมาะกับหญ้าประเภทใด เราก็ดูพื้นที่ของเราแล้วปลูก “หญ้าหวายคอก” ที่ขึ้นตามผืนนา ตามพื้นที่แฉะๆ ลักษณะของต้นหญ้าที่เหมาะแก่การเพาะพันธุ์ ถ้ามันอ่อนเกินไป มันก็ไม่งอก แก่เกินไปก็ไม่งอก ต้องเอาประมาณหนุ่ม มีรากเล็กๆ ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน จะยากอยู่อย่างเดียวก็ตรงที่พันธุ์หญ้ามันแพง แต่มันปลูกครั้งเดียว ครั้งแรกแล้วก็ยาวเลย มันก็ได้ตลอดไป

“เราก็เช่าที่สวนปาล์มเขาปลูกปีละ 5,000 บาท ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือนสำหรับการปลูกหญ้าก็เห็นผล รายได้ต่อเดือนที่ปลูกหญ้าขายก็ 3 หมื่นกว่าบาทต่อไร่ เพราะราคาหญ้ากิโลกรัมละ 4-5 บาท หน้าแล้งหน่อย ก็กิโลกรัมละ 10 บาท ทุกคนในบ่อนวัวก็เริ่มมองเห็น ยิ่งตอนนี้ ตกกิโลกรัมละ 12 บาท ทุกคนก็มาปลูกตามกัน ตอนนี้แปลงหญ้าก็ขึ้นว่อนไปหมด ก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้เห็น

“แต่บ่อนวัวชนก็ยังอยู่นะ ก็ยังอยู่ข้างบ้าน”
ชายกลางคน กล่าวติดตลกด้วยรอยยิ้ม เพราะถึงแม้จะไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ แต่กระนั้นก็ทำให้คนในชุมชนส่วนหนึ่งตระหนักถึงคุณค่าของหนังสือที่สามารถอ่านแล้วเอามาใช้สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของชีวิตอย่างแท้จริง

เปิดเล่มก็เปิดโลก
เพราะความรู้คือชีวิต

พอเปลี่ยนแปลงแล้วก็ทำให้คนอื่นเห็นและตื่นรู้ "หนังสือ" ที่เขาได้อ่านก็เสมือนดั่ง "ชีวิต" ที่เมื่อพอมีผู้ทำให้เกิด ก็ต้องขยายต่อ

“พอไม่ได้ปลูกหญ้า ก็คิดหาอย่างอื่น คิดว่าจะทำอะไร ถ้าเราอ่านแล้วเราสามารถทำได้อย่างนี้ ก็เลยเรารวมกลุ่มกันในครอบครัว ลูก หลาน เหลน ตอนนั้นทุกคนในครอบครัวเริ่มมองว่ามันไม่ไร้สาระแล้ว (ยิ้ม) เริ่มมองเห็น ก็คิดกันได้ว่าเศรษฐกิจในชุมชนมันมีอะไร แล้วก็อะไรที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับชุมชนเราบ้าง เพราะไปอ่านเรื่อง ดร.ดูลิตเติ้ล”

ดร.ดูลิตติ้ง เป็นผลงานการประพันธ์ของ “ฮิวจ์ ล็อฟติ้ง” (Hugh Lofting) วรรณเยาวชนสุดคลาสสิกอีกเรื่องหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย ความโดดเด่นของงานชิ้นนี้ถึงกับได้รับการขยับขยายไปเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์ แสดงนำโดย เอ็ดดี้ เมอร์ฟี่ ในชื่อ Dr.Dolittle เรื่องราวหลักๆ เกี่ยวข้องกับคุณหมอที่ชื่อ “ดูลิตเติ้ล” ซึ่งมีความสามารถพิเศษในการฟังและพูดภาษาของสัตว์ได้

จะเรียกว่าบังเอิญหรือโชคชะตา เจ้าตัวก็ไม่สามารถตอบได้ อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนี้ช่างเหมาะเจาะกับหนุ่มใหญ่อย่างเขาที่คิดและต้องการพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น ถึงขนาดตั้งกฎกติกา “อ่านแลกโสร่ง” เพื่อให้คนในชุมชนหันมาอ่านหนังสือมากขึ้น จะได้มีความรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

“จริงๆ ก็อ่านหลายเรื่อง หลายเล่ม เช่น อ่านเรื่องศาสนา อ่านเรื่องอาชีพ อ่านกระทั่งพจนานุกรม หนังสือแต่ละเล่ม ความหมายมันก็ไม่เหมือนกัน บางเล่มเราอ่านเขาเพื่อดูความสำเร็จ สอนให้รู้จักคิด รู้จักทำ แต่บางเล่มอ่านเพื่อจะทำ บางเล่มสอนจริยธรรมวัฒนธรรม บางเล่มสอนให้เรารู้จักพึ่งพาตนเอง รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักถ้อยทีถ้อยอาศัย มันมีหลากหลาย เราอ่านหลายเรื่องแล้วเรามาผนวกเข้ากัน มาประยุกต์เข้ากัน หนังสือมันไม่มีวันจบ ไม่มีจุดจบ และไม่มีหลักสูตรตายตัว เราอ่านแล้วเราก็ต้องคิด ยกตัวอย่าง เรื่องพึ่งพาตนเอง ทำไมทุกคนพูดว่าต้องพึ่งพาตัวเอง นี่คือปรัชญาของในหลวง ของศาสนา ของจริยธรรม

“พึ่งตัวเอง พึ่งยังไง การพึ่งตัวเองคือถ้าเราจะเขียนอักษร ก.ไก่ ถ้าเราไม่ลงมือเขียน เราจะรู้ไหมว่าเขียนตัวอะไร เราก็ต้องทำด้วยตัวเอง นี่คือ ก.ไก่ นี่คือ ข.ไข่ คือตัวเองต้องเขียนตัวเอง บอกตัวเอง ถ้าไม่ลองเขียน เราจะรู้ไหมว่าเราเขียน เราขีด เราวาด เป็นรูปร่างอะไร นี่คือการพึ่งตนเอง คือมองจุดเล็กๆ ไม่ต้องไปมองให้มันใหญ่โต มโหฬาร แค่จุดเล็กๆ ที่เรามองแค่นั้นเอง”
หนุ่มใหญ่เปิดเผยที่มาของแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในการส่งต่อความรู้สู่ชุมชน

“เรามาดัดแปลงให้มาเป็นวิถีชีวิตของชุมชนเราขึ้นมา เปลี่ยนแปลงให้ชุมชนมีรายได้ มีงานทำ มีการสร้างงานเกิดขึ้น อย่างที่บอก ชุมชนก็เหมือนสัตว์ที่อยู่ในลำเรือที่มันท้วงติงคุณหมอ (ดร.ดูลิตเติ้ล) ทำไมต้องแกะเชือกโยงลงไปในทะเลให้เป็นภาระกับเรืออีก เรือก็จะวิ่งไม่ไหวแล้วไหนยังจะต้องลากเชือก มันก็จะเป็นภาระ แต่ทำไมเราไม่หันมาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ ช่วยกันทำ ช่วยกันประคับประคองให้เดินไปสู่จุดหมาย

“ที่ผมหยิบเรื่อง ดร.ดูลิตเติ้ล ขึ้นมากล่าว เพราะถ้าเรามองให้ลึกซึ้ง คิดให้ลึกซึ้ง เป็นต้นฉบับที่ว่าสวยที่สุดในความคิดของผม และก็มีความหมายมาก หลายคนคงจะคิดว่าเรื่องหมอหนีจากโจรสลัดโดยนกนางนวล จะมีอะไรมาสอนเราได้ แต่เราต้องตีโจทย์ของมัน ตีข้อความในหนังสือ คือคุณหมอลิตเติ้ล ทำไมต้องออกไปพูดให้นกนางนวล นกนางนวลทำไมต้องช่วยคุณหมอหนีจากโจรสลัด ทำไมสัตว์อื่นที่มีความสามารถ มีความแข็งแรง มีอำนาจอะไรหลายๆ อย่างที่จะช่วยคุณหมอหนีจากโจรสลัดได้ ทำไมเขาไม่ทำ แต่ทำไมนกนางนวลต้องทำ เราอ่าน เราตีความ เราก็จะเห็นว่าความสามารถเฉพาะตัว เฉพาะบางสิ่งบางอย่าง มันไม่ใช่อยู่แค่คนคนเดียวแล้วจะทำ จะเปลี่ยนอะไรก็ได้

“ทุกคนต้องร่วมมือกัน ช่วยกัน เหมือนอย่างนกนางนวลใช้ให้คุณหมอแกะเชือกแล้วขยายออกเส้นเล็กๆ ถ้าเส้นใหญ่ ด้วยความที่นกนางนวลปากเล็ก จะคาบพาเรือไปได้อย่างไร ก็ต้องเอาเส้นเล็กก่อน แล้วทำไมสัตว์บางตัว บอกว่าการทิ้งเชือกไปทำให้น้ำหนักเพิ่ม ถ่วงโอกาสให้เรือแล่นช้าเกินไปอีก โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงนกนางนวลทั่วทะเลที่มาช่วยคาบเชือกตัวละเส้น อุตสาห์พาเรือลำนั้นวิ่งหนีจากโจรสลัดได้ นี่คือความหมายของมัน มันจะสื่อให้เราเห็นว่า ถ้าครอบครัวหรือว่าชุมชน กระทั่งประเทศ ทุกคนอย่าหวังพึ่งอะไรอย่างหนึ่งอย่างเดียว แต่เราต้องช่วยกัน แล้วเราต้องกระทำก่อน เราต้องมองให้เห็นภาพก่อนที่จะตำหนิใคร

“คนในชุมชนก็เช่นกัน ถ้าไม่ช่วยกัน ชุมชนจะอยู่อย่างไร นกนางนวลก็เหมือนคนในชุมชนที่อยู่ ครอบครัวก็เหมือนนกนางนวลที่เราช่วยกันให้บ้านมีความสุข ให้บ้านอบอุ่น ครอบครัวอยู่อย่างสมานฉันท์ พ่อกับแม่ ลูกกับน้อง พ่อกับลูก แม่กับลูก ชุมชนก็เหมือนกัน ตำบลมันอยู่กับชุมชุน ชุมชนก็ต้องช่วยเหลือตำบลให้อยู่รอดกับชุมชน คือมันเป็นการเชื่อมโยง ไม่ต่างจากนกนางนวลกับคุณหมอ”

โรงเพาะเห็ด รับซื้อปาล์ม สร้างฟาร์มเลี้ยงไก่ เปลี่ยนกะลามะพร้าวอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายให้กลายมาเป็นถ่านอัดแท่ง ชักชวนปลูกหมาก สร้างรายได้แก่พี่น้อง มีเงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาทของธุรกิจ ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี สร้างความมั่นคงและมั่งคั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ

“คือเราไปมองว่าข้าราชการเขามีกองทุสวัสดิการข้าราชการ เช่น กองทุนทหารผ่านศึก กองทุนตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยงานราชการเขามีกองทุน แต่เราชาวบ้านไม่ใช่ข้าราชการที่มีรายได้ตกวันละ 200-300 บาท เราก็มีศักดิ์ศรีที่มีกองทุนสวัสดิการเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันละกันได้ เราก็มองที่นกนางนวลอีก มันไปเชื่อมโยงทั้งหมด อยู่ตรงนั้นหมดเลย เชือกเส้นละหนึ่งบาท เชือกเส้นหนึ่งคือเงินหนึ่งบาท แล้วนกนางนวลก็คือคน ลำเรือคือกองทุน กินทุนวันละบาท ออมวันละหนึ่งบาทเพื่อช่วยเหลืออะไร ก็ช่วยเหลือ เช่น สัตว์ในลำเรือมันมีอะไรบ้าง ช้าง ม้า วัว ควาย อีเก้ง อีก้าง อยู่ในลำเรือ

“ก็มีทุนเรื่องการศึกษา ทุนผู้ด้อยโอกาส ทุนผู้พิการ ทุนคลอดบุตร ค่ารักษาพยาบาลเจ็บไข้ได้ป่วย เสียชีวิต และทุนอาชีพ แรกก่อตั้ง เราก็ต้องทำให้เห็นว่ากองทุนวันละ 1 บาท มันได้อะไรบ้าง เราก็ทำให้เห็นว่าพอเขาสมัครปุ๊บเขาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ สมมุติเขาไปหาหมอ ไปทำแผล เขาต้องเสียค่ายา เราให้เลย 200 บาท การเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่รู้เมื่อไหร่มันจะป่วย แต่สมัครปุ๊บได้รับปั๊บ แต่ที่ไม่ได้รับต้องรอ 6 เดือน คือเรื่องทุนการศึกษา ค่าคลอดบุตร ทุนอาชีพ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องล่วงหน้าที่เขารู้ เรียนกี่เดือน ท้องกี่เดือน ประกอบอาชีพก็รู้ ก็คิดมาล่วงหน้า

“เราจัดระบบแล้วทำให้เห็นก่อนว่าเขาได้อะไร เขาเสียเปรียบหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดที่ทำก็คือเขาไม่เสียเปรียบ เขาได้แต่ผลประโยชน์อย่างยั่งยืน ถ้าทำจริงๆ จังๆ มันไม่มีการเจ็บที่เดียวพร้อมๆ กัน สมมุติมี 5 คน อาทิตย์นี้เจ็บไป 3 คน ก็ยังมีอีก 2 คนมาช่วย อาทิตย์หน้า 2 คน อีก 3 คนที่เจ็บอาทิตย์ที่แล้วก็หายกลับมาช่วย มันจะอยู่ในระบบของมัน คือถ้าเราช่วยเหลือกันเป็นจริงเป็นจัง ก็หนีได้อย่างหมอ ถ้านกนางนวลไม่ช่วยเรือคุณหมอ เรือคุณหมอก็ถูกโจรสลัดเรียบร้อย มองแค่นี้ ไม่ได้มีหลักการซับซ้อน แต่เราต้องมองหนังสือ ไม่ใช่ว่าอ่านหนังสืออย่างเดียวแล้วไม่คิด ไม่วิเคราะห์ตาม”

โดยที่ไม่รู้เลยว่าจะก่อให้เกิดปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งต่อจากไม้แรก สู่มือคนแล้วคนเล่า ซึ่งเรื่องตรงนี้นับไปถึงแนวคิดในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชนอีกด้วย

“เมื่อเขายืนด้วยตัวของเขาเองได้แล้ว เราสอนให้พึ่งตนเอง ไม่ใช่ว่ารอแต่งบประมาณ คอยอย่างเดียว คอยให้แจกๆ เราก็แจกกันตาย โดยที่ว่าเราไม่ได้อะไรกลับมาช่วยเหลือกองทุน แต่พอทำไป กลับกัน คนที่ได้ทุนพัฒนาอาชีพ เขารู้เลยว่าพอเขาขายได้ เขาจะแบ่งให้กับกองทุนด้วย เพื่อสำหรับช่วยเหลือคนอื่นๆ ต่อไป เราไม่ใช่ว่ากลุ่มๆ หนึ่งพอสร้างอาชีพมีรายได้ เขาได้ตังค์มาแล้ว ของเขาจะต้องพัฒนาปลูกอย่างเดียว ไม่ใช่ กลุ่มจะต้องมองว่ามาช่วยเหลือกองทุนต่อด้วย แล้วก็แบ่งเป็นกองทุนของเขาเอง เช่น กองทุนพัฒนาอาชีพปลูกเห็ดที่กำลังทำอยู่ กองทุนเขามีกองทุนของเขาเองในตัว โดยที่ว่ากลุ่มเพาะเห็ด เขาจะตั้งเป็นกองทุนกอง สมมุติรับซื้อกิโลกรัมละ 55 บาท ตัด 5 บาท นำเงินเข้ากอง เป็นการตกลงของกลุ่มเขาเอง

“ผลสุดท้าย กองทุนไม่ได้ไปจ่ายให้กับกลุ่มเพาะเห็ดเลย เพราะเขามีเงินของเขาเอง อยู่ได้เอง และก็มีฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเงินชัดเจน เราก็ไม่ต้องไปยุ่งของเขา นี่คือการพัฒนาชุมชน การอ่านเรามาพัฒนาชุมชนได้ เปลี่ยนแปลงอะไรได้ เปลี่ยนแปลงคนได้ ถ้าเราไม่อ่าน ไม่เปลี่ยนแปลง เราก็ไม่รู้จะอ่านไปทำอะไร ก็ต้องอ่าน อ่านปุ๊บ เราก็เปลี่ยนวิธีคิด พอคิดปุ๊บ คนที่คิด ก็เปลี่ยนสถานะของตัวเองได้ มันจะอยู่เป็นระบบ เป็นสเต็ปของมัน ทีนี้พอเปลี่ยนแปลง เรามีกองมทุนสวัสดิการก็เหมือนเขาเห็น เรามาช่วยเขา พอเขาอยู่ได้เขาก็ช่วยกลับคืนมา เป็นการอยู่ร่วมกันช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ไข ช่วยกันประคับประคองในพื้นที่นั้นๆ”

แตกฉานทางความคิด
ชีวิตก็บรรลุเป้าหมายสมบูรณ์แบบ

“เราอยากช่วยเหลือคนที่เขามีอาชีพ คนที่เขาทำอาชีพสุจริต”
หนุ่มใหญ่กล่าวถึงเรื่องหลังจากชุมชนเกิดความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ชุมชนบ้านพรุตรีด ยังตระหนักถึงคุณค่าของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ในราคาค่างวดที่สูงกว่า เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างสมบูรณ์

“ก็อย่างที่บอก เราต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เรื่องของเรื่อง บังเอิญไปเจอคนแก่อยู่คนหนึ่งที่เกาะลันตา แกเป็นคนเก็บขยะ แล้วเขาถามเราว่าเขาขอเก็บกะลามะพร้าวไปขายได้ไหม เราก็บอกว่าได้ เก็บไว้กองหนึ่งที่ไหนก็ได้ ไปหามา เขาก็ไปหามากองไว้จนเยอะ เราก็เอาเราบรรทุกไปขน ก็ทำให้เรามองเห็นว่าคนสูงอายุ คนแก่ เขาก็เป็นบุคลลากรที่มีความสามารถอยู่ เขาคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้

“อีกอย่าง เท่ากับเราทำบุญไปอีกทอดหนึ่ง ช่วยให้เขามีอาชีพอีกด้านหนึ่ง ช่วยให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ ฉะนั้น เราจึงไม่กดราคา แต่จะให้เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ว่าคนแก่ทำได้น้อยแล้วเรากดราคาเขา คนยิ่งแก่ เรายิ่งต้องเพิ่มราคาให้เท่าตัว คนพิการก็เหมือนกัน แต่บางทีคนพิการก็ให้มากกว่าคนแก่อีก คือคนพิการเขายังหา ยังช่วยตัวเองเพื่อให้มีรายได้ แขนด้วน เดินถือไม้เท้า แต่เขาถือกะลามะพร้าวมา 2-3 กิโลกรัม เราก็ซื้อ ไม่ต้องบรรทุกมาเป็น 1-2 ตัน คือเราอยากให้มีความพึ่งพาตนเอง แล้วเขาก็มีรายได้”

เมื่อช่วยเหลือตนเองได้ ภาระหรือสิ่งที่ต้องคอยอุ้มชู ก็สามารถอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง จากครอบครัว สู่ชุมชน จากตำบลสู่อำเภอและจังหวัด กระทั่งประเทศ

“เราตั้งเป้าหมายว่าเราช่วยชาวบ้าน ช่วยครอบครัวมีรายได้ มีงานทำ ทุกอย่างเราไม่ต้องไปรับจ้างอะไร ไม่ต้องไปทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำอะไรที่มันเป็นสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น เช่น เอากะลามะพร้าวซึ่งเป็นขยะที่เขาทิ้ง แถมเป็นแหล่งเพาะยุงลาย ประเทศไทยเราอยู่อันดับต้นๆ ของไข้เลือกออก เราก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้น ชุมชนเราลองแก้ดูว่า ทางหน่วยงานอื่นให้คว่ำกะลา เราก็บอกว่าเราเก็บมาเผาสิ มันเปลี่ยนแปลงกันได้ เจ้าหน้าที่เขาก็ทำหน้าที่ของเขา เราก็ทำหน้าที่ของเรา

“เหมือนเราศึกษาแนวทาง พอเรามีความคิดที่แตกฉาน เราก็ดัดแปลงสิ่งของในชุมชนที่เขาเรียกว่าภูมิปัญญา วิถีชีวิตให้เขาอีกทีหนึ่ง ทั้งหมดนี้ก็เพราะหนังสือที่เคยอ่าน เจอเขียนไว้ว่า "อย่าว่าเปลี่ยนคนเลย เปลี่ยนโลกยังเปลี่ยนได้" เราก็มาคิด เปลี่ยนคน เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนชาติ เปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนโลกยังเปลี่ยนได้ เปลี่ยนโลกเปลี่ยนอย่างไร โอเค โลกปัจจุบันมันเกิดอะไรขึ้น แล้วเรามามองกลับมามองว่าถ้าเป็นเรา เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง จะสามารถช่วยกันแก้ปัญหาในจุดๆ นั้นได้อย่างไร

“หรืออย่างโลกร้อน คนกรุงเทพฯ ต้นไม้มีน้อย ก็ปลูกต้นไม้ที่บ้านกันทุกคน มันก็เยอะขึ้นได้”

หนุ่มใหญ่ยกตัวให้เห็นง่ายๆ อย่างคนที่มองเห็นการแก้ปัญหาทางออกโดยการมองส่วนรวม ไม่ใช่เพียงตัวเองเท่านั้นที่จะรอดได้

“และเราทำแล้ว เรามีความสุขไหม ได้ประโยชน์ไหม มีคุณภาพไหม มันนำไปสู่ชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีใช่ไหม โลกเราเปลี่ยนแปลงใช่ไหม ชุมชนเปลี่ยนแปลงใช่ไหม เราอยู่ร่วมกันได้ไหม เราขัดแย้งกันไหม มีอยู่แค่นี้ อย่างน้อยเราทำงานร่วมกัน ทำงานกันเป็นทีม โอกาสที่เราเจริญก้าวหน้าพัฒนาไปได้ดี เข้าไปสู่ในระบบที่ว่า กอดคอช่วยกัน รีๆ ข้าวสารช่วยกัน จับมือร่วมกันแล้วก็ทำ แล้วมาอ่าน คิดว่าเราทำอย่างไร อ่านแล้วก็คิด แล้วก็ทำให้มันถูกต้อง ก็ย้อนกลับไปที่เรือได้อีก ประเทศไทยเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีคนมาช่วยเหลือ มาสนับสนุน ทุกอย่างมันก็จบ ถ้าเราต่างคนต่างมอง ต่างนอนรอคอย ก็ยากที่จะพัฒนา”

อ่านอะไร ได้อะไร
บทส่งท้ายชีวิต ป.6 ผู้พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

หลังชีวิตพลิกจากการอ่านนำมาซึ่งความรู้และการพัฒนาต่อยอดจนประสบความสำเร็จเป็นแนวทางให้กับใครหลายคน ล่าสุด กับงานเสวนาเรื่อง 'อ่านอะไร ได้อะไร' ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ ที่ 23 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา

“อ่านอะไร ก็ได้อะไร อ่านเรื่องเกษตรก็ได้เกษตร นี่อ่านอะไร ได้อะไร คือความหมายของมัน มันสื่อให้เราได้เห็นแล้วว่าอะไรที่เราอ่าน อะไรที่เราได้ ประเด็นของมันคือง่ายๆ เลย”

หนุ่มใหญ่เกริ่นนำถึงประเด็นที่นำมาเปิดประสบการณ์ ซึ่งนับเป็นความรู้ครั้งแรกที่คนนอกพื้นที่ชุมชนได้รับรู้ถึงแนวความคิดของการอ่านและการประสบความสำเร็จจากหนังสือ

“แต่บางคนอ่านแล้วไม่ได้ ก็เขาอ่านแล้วเขาลืม เขาไม่ได้ทำ เขาไม่ได้คิดตามจากหนังสือที่เขาอ่าน ถ้าเกิดเราอยาก เรามีจุดประสงค์อะไรแล้วเราไปอ่าน มันก็จะได้ตามนั้น ตามที่เป้าหมายของเราที่เราอ่าน เช่น เราอ่านมาพัฒนา เราก็มาพัฒนาแล้วไปสู่ระบบ ระบบมันก็ไปสู่ชุมชน ชุมชนก็ได้พัฒนาตัวของเขาเอง พึ่งพาตัวเองได้ ก็เจริญขึ้น เจริญเพราะการอ่าน ทุกอย่างอยู่ที่การอ่าน ไม่ได้อยู่ที่การกระทำโดยที่เราไม่มีความรู้ มีความรู้ก็เพราะอ่าน มันไม่มี มันไม่เกิดขึ้นมา ถ้าเราไม่อ่าน

“อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีหนังสือให้อ่าน ถ้าเราไม่กระทำ ไม่คิด ทุกอย่างไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราอ่าน เราพัฒนา เราเปลี่ยนตัวเอง มันก็เกิดขึ้นได้ มันก็เปลี่ยนได้ เปลี่ยนโลกเปลี่ยนได้ เปลี่ยนประเทศเปลี่ยนได้ แล้วเราคิดเราช่วยกัน ความสามัคคีมันก็จะเกิดขึ้นเองตรงนั้น ความสมานฉันท์มันจะอยู่ในจุดนั้น ทุกอย่างมันอยู่ที่เราอ่าน อ่านอะไร แล้วได้อะไร การที่เราไม่ทำ ทำไม่สำเร็จ ก็อยู่ที่เราไม่อ่านแค่นั้นเอง

“ตอนนี้ก็บรรลุเป้าหมายส่วนหนึ่ง ก็ภูมิใจ คือในชุมชนเราจะให้สำเร็จทุกอย่างตามที่คิด หมายถึงทุกอย่างมันก็ยังไม่หมดเท่าที่ควร แต่ตามจุดประสงค์เราก็บอกว่าเกินครึ่งในความรู้สึก เพราะแค่ 6 ปี เกิดการพัฒนาที่ฐานรากคือครอบครัว ก่อนจะมาพัฒนาชุมชน ถ้าเปรียบตอนนี้ก็เข้าร่องน้ำตื้น กำลังจะถึงฝั่งแล้ว อีก 10 ปี อาจจะถึงฝั่ง ถึงตอนนั้นก็มุ่งหวังว่า นอกจากให้ชุมชนอยู่ร่วมกันได้แล้ว เราก็จะขยับขยายไปพัฒนาเรื่องตำบล ไปจังหวัด ขึ้นไป ก็เริ่มจากราก ศูนย์ ไป หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า”

และนี่คือเรื่องราวของชายชาวบ้านธรรมดาที่ขวนขวายหาความรู้จนแตกฉาน ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เราเห็น "นักปราชญ์" "นักพัฒนา" "นักสังคม" รวมไปถึงคนต้นแบบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้

“อยากให้ทุกคนได้ตระหนักความสำคัญของการอ่าน ถามว่าประเทศไทยเราทุกคนเขาก็รู้ว่าเราด้อยในการอ่าน เราไปเน้นเรื่องด้านเทคโนโลยี เฟซบุ๊ก ไลน์ จริงอยู่ที่อ่านเหมือนกัน แต่เราได้ความรู้มาพัฒนาน้อยมาก บางคนก็อ่านแล้วพัฒนาได้ บางคนอ่านแล้วไปพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องอื่น ขอฝากไปทางสื่อให้คนทั่วประเทศอ่าน ฝากให้บอกว่าทางหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันรณรงค์ให้อ่าน อ่านแล้วคิด การอ่านเป็นจุดที่สำคัญ เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้ ไม่ใช่ว่าอ่านแล้ว เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิต วิถีชีวิต หนังสือมันสอนแนวทางให้เราเดิน ทุกคนเรียนรู้เองโดยที่ไม่อ่านไม่ได้ คุณต้องอ่าน

“และถึงแม้จะฟังจากคนที่เขามีความรู้มาสอน คนที่สอนก็ต้องรู้มาก่อน ก่อนจะสอนคนอื่นได้ คนที่เรียน เรียนต้องอ่าน อ่านแล้วรู้ รู้แล้วกระทำ มันเป็นลูกโซ่ ทุกอย่างอยู่ที่เราจะคิดและเราจะทำ คิดก่อน อย่ามองคนอื่นด้อยกว่าเรา เราด้อยกว่าคนอื่น มองคนอื่นสำคัญกว่าเราทุกอย่าง ไม่มีใครจะเก่งกว่าใครนั้นแหละ อ่านแล้วก็ใช้ คิดตามไป สร้างโลกให้มันเกิดขึ้น ถ้าคุณทำได้ นั่นคือความสมบูรณ์แบบที่คุณได้จากหนังสือ”

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญาพัฒน์ เข็มราช

กำลังโหลดความคิดเห็น