ภาพกองขยะทะลักถุงดำล้นอยู่บนสะพานลอย แก้วน้ำดื่มพลาสติกหลากไซส์ถูกวางเรียงร้อยเป็นทางยาวตามแนวทางเดิน ความสกปรกที่ประดับเส้นทางกลางกรุง ช่วยประจานให้รู้สึกตื่นตัวอีกครั้งว่า ถึงเวลากวาดชำระ “จิตสำนึก” ของคนไทย และกวาดล้างอุดช่องโหว่ “ระบบจัดการขยะ” อย่างจริงจังกันเสียที!!
หายากยิ่งกว่าถังขยะ... “จิตสำนึก”
“งามหน้า! ภาพประจานขยะบนสะพานลอยไปห้างฯ เซ็นทรัลลาดพร้าว ใครผ่านแถวนั้นช่วยไปเก็บที!” แค่ภาพเพียงภาพเดียว สะท้อนความสกปรกทางจิตสำนึกของคนทิ้งเอาไว้ได้อยู่หมัด เล่นเอาประเด็นการจัดการเรื่องขยะถูกกลับมาตั้งคำถามครั้งใหญ่ ไม่ว่าใครจะเป็นคนทิ้งขยะเอาไว้? หรือหน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบความสะอาดบนพื้นที่แห่งนั้น? อาจไม่ใช่สำคัญไปกว่าคำถามที่ว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีระบบจัดการขยะที่ดีๆ อย่างประเทศที่พัฒนาแล้วเสียที?
“สะพานนี้เป็นของหน่วยงานไหน? ส่วนคนทิ้งก็ไร้ซึ่งวินัย”
“เป็นเรื่องปกติของประเทศด้อยพัฒนา เพราะคนยังไม่พัฒนา”
“มักง่ายกันแบบนี้แหละ สะพานไหนๆ ก็เจอ บางทีก็ไม่เข้าใจคนพวกนี้นะ เป็นง่อยกันทันทีหลังอิ่ม”
“อย่าว่าแต่สะพานลอยเลย ชายหาดสวยๆ มันนั่งกินดื่มด่ำธรรมชาติเสร็จเรียบร้อย ตอนจะกลับ มันกองไว้อย่างนั้นแหละ ไม่น่าเชื่อมันจะทำได้”
สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว อาจมองเห็นปัญหาจากภาพสะท้อนใจในครั้งนี้ได้ประมาณนี้ แต่สำหรับ ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการขยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขามองเห็นช่องโหว่ของปัญหาที่ลึกยิ่งกว่านั้น
“อย่างนึงที่ต้องยอมรับในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา คือการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่อ่อนแอมาก ซึ่งเรื่องนี้มีคนถามผมทุกวันเลยว่าเราควรจะทำยังไงกันดี ก็ต้องบอกว่านิสัยไม่มีวินัย ไม่มีจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อมนี่ มันฝังรากลึกในบ้านเราแล้ว เหมือนเราป่วยหนักแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการให้ยาในหลายลักษณะ เริ่มจากการให้ยาบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ตอนนี้ก่อน แล้วให้ยาฟื้นฟูร่างกายในระยะยาวตามไปทีหลัง
การให้ยาระยะสั้นในปัญหาเรื่องการจัดการขยะก็คือ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบควรจะต้องส่งทีมลงไปคอยตรวจสอบว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่จัดการ ซึ่งมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะละเว้นการจับคนทิ้งขยะหรือละเว้นการเก็บขยะก็ตาม ต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลางคอยช่วยตรวจสอบ ถ้าเจ้าหน้าที่มีจำนวนไม่พอก็จะได้อุดช่องโหว่ให้ถูกจุด
ส่วนการให้ยาระยะยาวก็คือการปลูกฝังเรื่องจิตสำนึก เห็นภาพแบบนี้แล้วต้องบอกว่า 'วินัยคน สะท้อนวินัยชาติ' จริงๆ นะครับ ประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่มีหรอกครับเรื่องพวกนี้ เราต้องปลูกฝังเรื่องการจัดการขยะกันตั้งแต่ในโรงเรียนเลย อย่างในญี่ปุ่น อเมริกา หรืออีกหลายๆ ประเทศที่เจริญแล้ว เขาก็สอนเด็กๆ ของเขาตั้งแต่ระดับอนุบาล สอนว่าต้องทิ้งขยะยังไง และถ้าไม่ทิ้งให้ถูกต้องจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง เสร็จแล้วก็ให้กลับไปทำการบ้าน เอาความรู้นี้กลับไปทำที่บ้าน สอนผู้ปกครองของเขาด้วย
[หนังสือคู่มือการทิ้งขยะของญี่ปุ่นที่ประชาชนทุกคนต้องเรียนรู้]
เรื่องจิตสำนึกเรื่องการทิ้งขยะในบ้านเราถือว่าน่าเป็นห่วงมาก รู้ไหมว่าเราถูกระดับนานาชาติตราหน้าจนถึงทุกวันนี้เลยครับว่า เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลสูงที่สุดในโลก อันนี้มีสถิติออกมาเลย แค่นี้มันก็สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างได้แล้ว
ส่วนกรณีการทิ้งขยะไม่เป็นที่ครั้งนี้ ก็สะท้อนถึงความบกพร่องทางจิตสำนึกของคนไทยเราอีกเหมือนกัน ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องมีจุดทิ้งขยะหรือถังขยะจำนวนมากก็ได้ เพราะถ้ามีมากไปก็จะลำบากคนเก็บอีก สมมติมีสัก 100 จุด แต่ละจุดตั้งห่างกัน 1 กม. มันทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากกว่ามีแค่ 10 จุด และแต่ละจุดตั้งห่างกัน 10 กม.อีกนะ ไม่ต้องเพิ่มถังขยะหรอกครับ แต่เพิ่มระดับจิตสำนึกในการทิ้งขยะก็พอแล้ว
ต้องบอกว่าขยะทุกวันนี้เพิ่มขึ้นเยอะมาก เยอะกว่าสมัยพ่อแม่เรามาก แถมยังมีเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้การแยกขยะทำได้ยากมากกว่าเดิมเข้าไปอีก และในอนาคตมันจะยิ่งมีความหลากหลายและมีปัญหาขยะหนักกว่านี้อีก ถ้าเราไม่ช่วยกันตั้งแต่วันนี้ ถ้าไม่สร้างระบบที่ดีตั้งแต่ตอนนี้ ประเทศเราก็จะเต็มไปด้วยกองขยะขนาดมหึมา
อย่างช่วงปีที่แล้ว แถวอ่างทอง-ลพบุรี ก็มีปัญหาขยะเกิดขึ้นครั้งใหญ่ เพราะทิ้งขยะกันจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง จนทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกระบาดหนัก จนเขาต้องเรียกหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาช่วยกันหาทางแก้กันครั้งใหญ่”
ข้อมูลในปี 2557 เองก็ระบุเอาไว้ว่า เฉพาะในเมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพฯ ทำให้เกิดขยะมูลฝอยเฉลี่ยถึง 9,900 ตันต่อวัน คิดเป็นคนละ 1.53 กก. หรือจะพูดให้เห็นภาพก็คือ คนกรุงเทพฯ ก่อขยะมูลฝอยมากที่สุดในประเทศ มากถึงร้อยละ 20 ของขยะมูลฝอยทั้งหมดในไทยเลยทีเดียว
อย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกองประชาสัมพันธ์ กทม. ก็เพิ่งโพสต์ภาพสิ่งปฏิกูลจำนวนมหาศาลที่ถูกทิ้งลงในคลองเปรมฯ ผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมทั้งวิงวอนให้ชาวกรุงช่วยกันหยิบขยะในบ้านใส่ถัง รณรงค์ให้เลิกทิ้งลงในแหล่งน้ำ พอมาเจอกองขยะขนาดโตบนสะพานลอยครั้งนี้อีก จึงยิ่งสะท้อนปัญหาความบกพร่องทางจิตสำนึกส่วนรวมเข้าไปใหญ่ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปลูกฝังเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ เสียที
ขยะมี “ที่มา” แล้ว โปรดหา “ที่ไป” ให้เจอ!!
“เรื่องการเก็บขยะ ถ้าจะเข้ามาแก้กันในระบบใหญ่จริงๆ เราต้องมองให้ออกก่อนว่า มันแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ส่วนแรกคือ 'ต้นทาง' ต้องเริ่มจากประชาชนทั่วไป ต้องให้แยกขยะให้ถูกต้องก่อน ส่วนที่สองคือ 'กลางทาง' หมายถึงคนเก็บขยะหรือรถเก็บขยะก็ต้องแยก ส่วนที่สามคือ 'ปลายทาง' ซึ่งหมายถึงโรงงานหรือระบบที่ถูกเซตขึ้นมา ให้สามารถจัดการขยะประเภทต่างๆ อย่างถูกต้องได้
ซึ่งส่วนที่สามนี้ยังเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ในบ้านเรา ผมว่าต้องโทษทางภาครัฐเลยล่ะครับที่ไม่ยอมพัฒนาปรับปรุงส่วนนี้ให้เป็นเรื่องเป็นราวสักที คือไม่มีการนำเอาเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักอะไรเลย เทียบกับในต่างประเทศแล้ว เขามีระบบทุกอย่างที่รองรับเป็นอย่างดี ทำให้ 'ระบบจัดการขยะ' ของเขาเป็นวงจรที่จบสมบูรณ์ในตัวมันเอง
ยกตัวอย่าง โมเดลญี่ปุ่นก็ได้ครับ เขาจะเริ่มจากการปลูกฝังให้แยกขยะ ต้องเอาขยะใส่ถุง ถ้าไม่ทิ้งขยะใส่ถุง เขาจะไม่เก็บ ซึ่งขยะแต่ละถุงก็จะแยกประเภทไปอีกว่าคือขยะแบบไหน ยิ่งเป็นเมืองใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อนของขยะมากๆ ยิ่งต้องแยกให้ละเอียด เพราะยิ่งแยกขยะละเอียดเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งดีต่อระบบจัดการมากเท่านั้น พอแยกเป็นถุงๆ ไว้แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะเอารถเข้ามาเก็บตามวัน
[ในคู่มือการแยกขยะของญี่ปุ่น ระบุรายละเอียดหลายอย่างชัดเจน เช่นภาพนี้อธิบายประเภทขยะว่า หน้าซ้ายคือประเภทขยะเผาได้ หน้าขวาคือประเภทขยะเผาไม่ได้]
เนื่องจากการแยกขยะของเขาดี ขยะประเภทไหนที่เผาได้ก็จะวิ่งไปที่เตาเผา เผาให้แปรรูปออกมาเป็นพลังงานได้เลย หรือแม้แต่ขยะบางประเภทที่มีความซับซ้อนมาก อย่างในเยอรมัน เขาจะเก็บค่าจัดการขยะเพิ่มนอกเหนือจากนั้นอีก 8 ยูโร เช่น ขยะแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุแล้ว ส่วนประกอบของมันเกิดจากการรวมตัวของขยะหลายชนิดมาก มีทั้งกระจก, แผ่นเซลล์, สายไฟ ฯลฯ เพราะฉะนั้น บ้านไหนที่ทิ้งขยะที่มีความซับซ้อนแบบนี้ ก็จะต้องจ่ายเพิ่ม เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่นำไปแยกออกเป็นชิ้นๆ ให้ตามประเภทขยะอีกทีหนึ่ง”
ผศ.ดร.พิชญ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่ององค์ความรู้ด้านการจัดการช่วยลงรายละเอียดให้เข้าใจมากขึ้นไปอีก พร้อมทั้งช่วยเสนอทางออกด้านการจัดการขยะในบ้านเราด้วยว่า ถึงเวลาตั้งคณะกรรมจัดการด้านนี้โดยเฉพาะ หรือวางแผนแม่บทเพื่อจัดการให้ได้อย่างในประเทศที่พัฒนาแล้วเสียที
“คนไทยเรายังค่อนข้างสับสนในเรื่องการแยกขยะนะครับ เพราะในแต่ละแห่งก็มีถังขยะไม่เหมือนกัน สีไหนขยะเปียก สีไหนขยะแห้ง แล้วไหนจะถังขยะรีไซเคิลอีกที่บอกไม่ได้ชัดเจนว่ามันหมายถึงอะไรบ้างกันแน่ เพราะขยะที่รีไซเคิลได้ก็มีทั้งโลหะ, แก้ว, พลาสติก, กระดาษ ฯลฯ มันก็ใช่ ทำให้เกิดความสงสัยว่า ถ้าเราทิ้งพวกนี้เข้าไปในถังเดียวกันมันจะช่วยอะไรได้บ้างไหม หรือจะมีเจ้าหน้าที่มาช่วยแยกถังพวกนี้อีกทีหรือเปล่า ที่เป็นแบบนี้เป็นเพราะหน่วยงานในบ้านเรามองเรื่องการจัดการขยะแบบไม่เป็นระบบ
ประเด็นเรื่องการแยกขยะหรือไม่แยก ส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งก็คือ 'การให้การศึกษาแก่คนเก็บขยะ' ตอนผมไปอยู่เยอรมัน ผมเอากล้องวิดีโอไปนั่งถ่ายการเก็บขยะของเจ้าหน้าที่ของบ้านเขา ผมเห็นเลยว่าเขาได้รับการศึกษาเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี คือผมไม่ได้ว่าเรื่องระดับการศึกษาของคนทำงานในบ้านเรานะครับ คือเขาไม่จำเป็นต้องจบสูงก็ได้ แต่แค่ต้องได้รับการปลูกฝังให้มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องที่ตัวเองทำ
แต่ทุกวันนี้ คนเก็บขยะในบ้านเรายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าทำไมเขาต้องทำแบบนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องแก้ก็คือ ต้องทำให้คนที่ทำงานในด้านนี้มีความเข้าใจ มีความเป็นมืออาชีพในสายงานของตัวเอง อยากให้เข้าใจว่าคนในอาชีพนี้ ถ้าทำดีๆ เก็บขยะอย่างเข้าใจ นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่ออาชีพการงานของเขาแล้ว มันยังเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างมากมายมหาศาลเลย และรู้ไหมว่าทำไมทุกวันนี้เขาถึงไม่เข้าใจในอาชีพของตัวเอง ก็ต้องกลับไปถามว่าทาง กทม.มีส่วนช่วยหนุนให้ระบบมันเอื้อต่อการลงมือปฎิบัติได้มากน้อยแค่ไหนกัน
[ที่ญี่ปุ่น จะทิ้งขยะอิเลกทรอนิกส์และขยะขนาดใหญ่ ต้องสติกเกอร์ตามราคาเรียกเก็บที่ระบุมา แล้วโทร.จองวันที่ให้รถขยะมารับ]
ถ้าจะให้พูดถึงตัวระบบการแยกขยะในบ้านเราทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ ดังนั้น ต่อให้คนเก็บขยะจะได้รับการศึกษาหรือถูกปลูกฝังให้เป็นมืออาชีพในการแยกขยะสักแค่ไหน สุดท้าย ขยะบางประเภทก็จะไม่มีที่ไปอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น ขวดพลาสติก แยกแล้วมันยังไปสู่ปลายทาง นำไปรีไซเคิลที่โรงงานได้ แต่อย่างขยะเศษอาหาร ทุกวันนี้ยังไม่มีปลายทางที่เป็นระบบออกมารองรับเลย ยังไม่มีกระบวนการการเอาไปทำไบโอแก๊ซ ทำปุ๋ยหมัก หรือเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนไหนให้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเป็นช่องโหว่ช่องใหญ่ที่ภาครัฐต้องเข้ามาจัดการ
ที่ทางรัฐบาลเคยออกมาบอกว่า จะจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้เข้ามาทำระบบฝังกลบ แต่อันนั้นผมก็มองว่ายังไม่ใช่การจัดการที่มองระบบทั้งหมดอยู่ดี ถ้าจะให้ดีก็คือคุณต้องพิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทำเป็นแผนออกมาให้เห็นเลยว่าแผนการใช้และแยกวัสดุในบ้านเรา จะมีที่มาที่ไปแบบไหน แต่ทุกวันนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบยังคิดทุกอย่างแบบแยกเป็นส่วนๆ อยู่เลย ประมาณว่าแค่จัดการส่วนของตัวเองแล้วปล่อยไปก็พอแล้ว อะไรที่พ้นหน้าตัวเองไปแล้วก็ปล่อยไปแล้วกัน”
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพบางส่วน: กระทู้ "พาไปดูวิธีทิ้งขยะของคนญี่ปุ่นค่ะ"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754