นักวิจัย มธ.ใช้ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงสร้างแอปพลิเคชันตรวจความแท้-ปลอมกระเป๋า “แอร์เมส” สำเร็จเป็นเจ้าแรกของโลก คว้าแชมป์สิ่งประดิษฐ์จากสวิสฯ มาครอง พร้อมเดินหน้าพัฒนาแอปสำหรับตรวจ “พราด้า-หลุยส์ วิตตอง-นาฬิกา” เพิ่มความมั่นใจร้านค้า-ผู้ซื้อ
รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน "bagtector" กล่าวว่า แอปพลิเคชันที่เขาทำขึ้นเกิดจากการผสมคำระหว่างคำว่า bag กับ detector ซึ่งสะท้อนการทำงานของแอปพลิเคชันในการตรวจสอบความแท้-ไม่แท้ของกระเป๋า ซึ่งในที่นี้หมายถึงกระเป๋าแอร์เมส (Hermes) ราคาแพงที่หลายคนรู้จักกันดี
สำหรับสาเหตุที่แอร์เมส ถูกเลือกให้เป็นกระเป๋าแบรนด์แรกที่แอปพลิเคชันตรวจสอบได้เป็นเพราะกระเป๋าแอร์เมสได้รับความนิยมสูงในระดับสากล คนมีฐานะเห็นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าซื้อทองหรือซื้อหุ้นเพราะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 500% ภายใน 35 ปี ด้วยเหตุนี้แอร์เมสจึงไม่ตกยุคแถมยังมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะมีราคาแพงระดับแสนถึงหลายล้านบาท การจะได้ครอบครองกระเป๋ารุ่นเคลลี่ หรือเบอร์กินก็ทำได้ไม่ง่ายมากนัก เพราะนอกจากจะต้องมีเงินสำหรับการซื้อแล้ว ยังต้องมีเครดิตเพียงพอหรือเป็นลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าแอร์เมสในราคาหลักล้านอยู่ประจำ ด้วยความต้องการของตลาดจึงมีคนทำปลอมขึ้นมากในหลากหลายเกรด ตั้งแต่เกรด AAA ที่เหมือนของแท้มากจนแทบแยกไม่ออก ไปจนถึงของปลอมเกรดตลาดที่คนในวงการจะสามารถแยกออกได้ในทันที
ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.จาตุรงค์ จึงใช้ความสามารถในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนวิชาปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligent) นำความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้สำหรับกับตรวจความแท้ไม่แท้ของกระเป๋าในรูปแบบที่ใช้งานง่ายผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่จะทำงานด้วยการตรวจจับโลโก้ของกระเป๋าทั้งของจริงและของปลอม ซึ่งจะมีความแตกต่างของรายละเอียดโลโก้ แรงบีบอัดและริ้วรอยของตราโลโก้บนกระเป๋าและวัสดุที่ใช้
“ความจริงผมไม่ได้เริ่มจากกระเป๋า ผมเริ่มจากการตรวจสอบพระเครื่อง เช่น หลวงปู่ทวด ด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์พิจารณาการปั๊ม กระเป๋าก็เช่นเดียวกันมีความหินอยู่ตรงที่ผมจะไปหาแอร์เมสของจริงได้ที่ไหน แต่ผมก็ทำได้ด้วยการติดต่อไปยังไฮโซในแวดวงที่มีแอร์เมสของจริง มีใบเสร็จรับรองจากร้านแอร์เมส กระเป๋าแท้ที่ซื้อจากการหิ้วต่อจากคนอื่นมาเราก็ไม่เอาเพราะไม่มั่นใจ หามาได้ประมาณ 200 ใบ พอได้มาก็เริ่มการถ่ายตัวโลโก้กระเป๋าด้วยแอปพลิเคชันแบ็กแทคเตอร์ในสมาร์ทโฟน จากนั้นจึงไปหาตัวอย่างกระเป๋าปลอมอันนี้ยากกว่าหาของจริงอีก ผมจึงต้องเริ่มงานด้วยการสืบก่อนว่าร้านค้าใดบ้างที่ขายกระเป๋าปลอมเกรดดี แล้วจึงเก็บข้อมูลตั้งแต่เกรด AAA ไปจนถึงมิร์เรอร์ซึ่งในส่วนนี้ก็เก็บตัวอย่างมาได้ประมาณร้อยกว่าใบ” รศ.ดร.จาตุรงค์ เผย
เมื่อได้รูปภาพของทั้งกระเป๋าแท้และไม่แท้เพียงพอ รศ.ดร.จาตุรงค์ เผยว่า ขั้นตอนถัดไปคือ การสร้างโมเดลที่มีลักษณะคล้ายกับการเปรียบเทียบภาพแต่ไม่ใช่ เพราะอาศัยหลักการโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก (Deep Neural Network) ที่คล้ายกับการเอาเซลล์สมองมาเชื่อมต่อกัน ที่การเชื่อมต่อของแต่ละเซลล์สมองจะมีค่าความสำคัญแตกต่างกันไป คล้ายกับการจำลองสมองมนุษย์เพื่อดูความแท้ไม่แท้ หลังจากสร้างโมเดลเสร็จ ก็นำเข้าสู่ขั้นตอนการฝึกสอนปัญญาประดิษฐ์อีก 2 เดือนเพื่อให้มันเข้าใจว่ากระเป๋าใบใดเป็นของจริง กระเป๋าใบใดเป็นของปลอมจน A.I. ฉลาดพร้อมใช้งาน
รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าวว่า ตัวปัญญาประดิษฐ์นี้จะมีเซิร์ฟเวอร์เป็นตัวเก็บข้อมูลและประมวลผลซึ่งขณะนี้ถูกเก็บไว้ที่สหราชอาณาจักร ส่วนตัวแอปพลิเคชันบนมือถือจะเป็นเพียงแค่ส่วนแสดงผลเท่านั้น โดยเวลาจะใช้ก็ทำได้ง่ายเพียงแค่ถ่ายรูปกระเป๋าต้องสงสัยแล้วกดประมวลผลในแอปพลิเคชัน รูปภาพจะถูกส่งเข้าสู่ระบบประมวลผลของระบบใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาทีก็จะแสดงผลออกมาทางหน้าจอสมาร์ทโฟนว่ากระเป๋าใบดังกล่าวใดเป็นของแท้หรือไม่แท้ โดยแอปพลิเคชันนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมและวัตถุราคาสูงชนิดต่างๆ เพราะในอนาคตจะมีการขยายผลให้สามารถตรวจกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง และพราด้าเพิ่มขึ้นด้วย
“ผลงานของเราได้ไปแข่งขันสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ ที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ได้รางวัลเหรียญทองแดงกลับมา ทำให้เราตั้งใจที่จะตั้งตัวเซิร์ฟเวอร์ไว้ที่สหราชอาณาจักรเลย เพราะใกล้กับสถานที่แข่งขันและยังถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแอปพลิเคชันนี้ด้วย หลังการประกวดทางสวิสฯ สนใจมากเขาอยากนำไปใช้กับศุลกากรเพราะการถือของปลอมเข้าประเทศเขาเป็นเป็นการทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้อีกหลายบริษัทก็สนใจล่าสุดคือ โชพาร์ ผู้ผลิตนาฬิกาและเครื่องประดับระดับโลกก็สนใจให้เราพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับการตรวจความแท้ไม่แท้ เพราะนวัตกรรมและแอปพลิเคชันนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลกยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เรายังไม่เปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เพราะยังต้องคุยกับอีกหลายบริษัท และเรายังต้องการพัฒนามันให้ขึ้นอีกเรื่อยๆ” รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้แอปพลิเคชันตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการที่ได้รับรางวัลจากเวทีสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช. กรุงเทพฯ