xs
xsm
sm
md
lg

2 ไดโนเสาร์ชนิดใหม่มีเขาประหลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพวาดจำลองไมไชโรเซราทอปส์ในปลายยุคครีเตเชียส (Pat OConnor/Courtesy of Ohio University/Handout via REUTERS)
นักวิทยาศาสตร์เผยผลการค้นพบไดโนเสาร์ 2 ชนิดใหม่ จากการค้นพบซากฟอสซิลในมอนทานาและยูทาห์ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ปรากฏลักษณะเขาประหลาด

ไดโนเสาร์ 2 ชนิดใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งประกาศค้นพบตามที่ระบุในรายงานของรอยเตอร์นั้น เป็นไดโนเสาร์กินพืชกลุ่มสำคัญ ซึ่งมีขนาดประมาณรถบรรทุก มีสี่ขาและมีเขา เคยท่องโลกอยู่ในยุคปลายครีเตเชียส (Cretaceous Period)

ทั้ง 2 ชนิดจัดอยู่ในกลุ่มไดโนเสาร์ที่เรียกว่า “เซราโทเซียนส์” (ceratopsians) ซึ่งมีไดโนเสาร์ที่รู้จักกันดีอย่าง “ไตรเซราทอปส์” (Triceratops) อยู่ในกลุ่มด้วย โดยทั่วไปจะมีจงอยปากเหมือนนกแก้วเพื่อกัดกินพืชต้นเตี้ยๆ รวมถึงพุ่มไม้ มีแผงกระดูกคอที่เรียกว่า “ฟริล” (frill) และมีเขาที่ชี้พุ่งไปข้างหน้า

หนึ่งในไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่พบคือ “มาไชโรเซราทอปส์ โครนูไซ” (Machairoceratops cronusi) ซึ่งเคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 77 ล้านปีก่อน ซึ่งฟอสซิลของไดโนเสาร์ชนิดนี้ถูกพบที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติแกรนด์สแตร์เคส-เอสคาแลนเต (Grand Staircase-Escalante National Monument) ในยูทาห์ สหรัฐฯ

อีริค ลุนด์ (Eric Lund) นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio University) อธิบายว่า มาไชโรเซราทอปส์มีความยาว 8 เมตร มีเขาโค้งงอขนาดใหญ่ชี้ไปข้างหน้า 2 เขา ซึ่งออกมาจากด้านหลังของแผงกระดูกคอ และมีรอยร่องตั้งแต่ฐานขึ้นไปถึงปลายเขา นอกจากนี้ยังมีนอ 2 ข้างเหนือตา และอาจจะมีอีกนอเหนือจมูก แม้ว่าฟอสซิลไม่สมบูรณ์ที่จะบอกเช่นนั้นได้ก็ตาม

ส่วนอีกฟอสซิลเป็นของไดโนเสาร์ “สไปไคลเพียส ชิปพอรัม” (Spiclypeus shipporum) ที่เคยอาศัยยอยู่บนโลกเมื่อ 76 ล้านปีก่อน ซึ่งถูกขุดพบใกล้เมืองวินิเฟรด มอนทานา โดยไดโนเสาร์ดังกล่าวมีความยาว 4.5 เมตร แต่ลักษณะนอที่มีจะชี้ออกข้างมากกว่าจะพุ่งมาข้างหน้า

จอร์แดน มัลลอน (Jordan Mallon) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแคนาดา (Canadian Museum of Nature) ในออตตาวา กล่าวว่า สไปไคลเพียสมีเขาที่หลังกระดูกแผงคอที่ชี้ไปทิศทางที่หลากหลาย บางเขาชี้ไปข้างหน้าแต่บางเขาก็พุ่งไปข้างหลัง และบอกว่าพวกเขาคิดว่าเขาและแผงคอนั้น น่าจะใช้ประดยชน์เพื่อแสดงถึงอะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นได้ทั้งเพื่อดึงดูดทางเพศหรือเพื่อระบุเพศ

สำหรับตัวอย่างสไปไคลเพียสที่พบถูกเรียกไม่เป็นทางการว่า “จูดิธ” (Judith) เพราะฟอสซิลขุดพบจากหินที่ก่อตัวในแม่น้ำจูดิธ ซึ่งดูเหมืนว่าไดโนเสาร์ตัวนี้จะมีชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน เพราะกระดูกส่วนขาซ้ายบนมีสัญญาณของโรค โดยมีลักษณะของโรคปวดข้อที่ข้อต่อหัวไหล่ และมีรูใกล้กับศอกที่เป็นผลมาจากกระดูกติดเชื้อ

มัลลอนกล่าวว่า ผู้ที่ได้ย้อนไปเยือนปลายยุคครีเตเชียสจะรู้สึกว่าข่มขวัญเมื่อยืนอยู่ใต้เงากะโหลกมีเขาของจูดิธ แต่เขาจะรู้สึกเห็นใจไดโนเสาร์ตัวนี้อย่างท่วมท้น เมื่อสังเกตความทุกข์ทรมานจากการยืนได้เพียง 3 ขา

สำหรับงานวิจัยนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารพลอสวัน (PLOS ONE)
ภาพจำลองสไปไคลเพียสขณะเดินอยู่บนพื้นที่ราบที่น้ำท่วมถึงเมื่อ 75 ล้านปีก่อน ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นแม่น้ำจูดิธในมอนทานา (Mike Skerpnick/Handout via REUTERS)


กำลังโหลดความคิดเห็น