xs
xsm
sm
md
lg

33 ตัวแทน นร.เข้าพบ รมต.วิทย์ ก่อนลัดฟ้าแข่งโครงงานที่สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เยาวชนผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศเข้าแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เข้ารับโอวาทจาก รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์
สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ จับมือ เนคเทคและ อพวช. นำ33 ตัวแทนนักเรียนไทยเข้าพบ รมว.กระทรวงวิทย์ ก่อนเดินทางลัดฟ้าร่วมแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ที่สหรัฐฯ ต้นเดือนหน้า ด้านตัวแทนเด็กไทยเผยซุ่มฝึกซ้อมนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษอย่างหนัก หวังนำชื่อเสียงกลับประเทศ

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำ 33 ตัวแทนเด็กไทย ผู้เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในมหกรรมประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก (ISEF 2016) ณ สหรัฐฯ เข้าพบและรับโอวาทจากรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2559 ก่อนเดินทางไปยัง สหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในช่วงต้นเดือน พ.ค.

เป็นธรรมเนียมประจำทุกปี สำหรับตัวแทนเยาวชนไทยผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ ที่จะต้องเข้าพบและฟังโอวาทจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขวัญและกำลังใจ ซึ่งในปีนี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เจ้ากระทรวงฯ ก็ได้พบปะ ซักถามและให้โอวาทอย่างเป็นกันเองแก่เยาวชนทั้ง 33 คน ซึ่งเป็นตัวแทนการแข่งขันจาก 3 เวที อันได้แก่ การประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก (International Science and Engineering Fair: ISEF), การประกวดโครงงานเพื่อโลกที่ยั่งยืน (International Sustaionable World Project Olympaid: I-SWEEP) และโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยประจำปี 2558 ซึ่งในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมพูดคุยกับตัวแทนเยาวชนด้วย

เยาวชนกลุ่มแรกที่ทีมข่าวฯ ร่วมพูดคุยด้วยเป็นเยาวชนจากโครงการ (Young Scientist Competition: YSC) โดย เนคเทค สวทช. ผู้สร้างสรรค์ผลงาน “ การเพิ่มประสิทธิภาพของแผ่นเส้นใยพอลิเมอร์เซลลูโลสอะซิเตทจากไมยราบยักษ์ระดับนาโนจากการปั่นด้วยไฟฟ้าสถิตที่ประกอบด้วยน้ำตะโกในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ” ซึ่ง ด.ช.นาวินธิติ จารุประทัย นักเรียนชั้น ม.3 ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ สมาชิกในกลุ่ม เผยว่า โครงงานของเขาเป็นการนำเอาเปลือกไมยราพ ซึ่งเป็นวัชพืชที่พบเห็นได้มากในท้องถิ่นมาขึ้นรูปเป็นกระดาษเพื่อนำมาใช้ในการปิดแผล ซึ่งกระดาษดังกล่าวมีสมบัติพิเศษกว่ากระดาษปิดบาดแผลทั่วไปเพราะมีการนำไปเคลือบด้วยน้ำหมักตะโกนา ที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติด้านต่างๆ เช่น การคงอยู่ของความชื้น การป้องกันแบคทีเรีย และยังเป็นการพัฒนาสมบัติเชิงกล

นาวินธิติ เผยว่า จุดเริ่มต้นของโครงงานเกิดจากที่ครั้งหนึ่งได้เคยไปศึกษาดูงานที่ศูนย์การเรียนรู้ อ.บ่อสร้าง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการนำไมยราพมาพัฒนาเป็นกระดาษ นอกเหนือจากกระดาษสา เมื่อต้องทำโครงงานด้วยการใช้ประโยชน์จากวัสดุในท้องถิ่นเขาจึงนึกถึงไมยราพแต่คิดที่จะพัฒนาเป็นกระดาษในรูปแบบอื่น ประจวบเหมาะกับในท้องถิ่นมีต้นตะโก ซึ่งมีฤทธิ์ทางการแพทย์สำหรับแก้ท้องเสีย กันเชื้อรา และสมานแผลจึงมีแนวคิดว่าจะนำตะโกมาเพิ่มคุณค่าให้กับกระดาษไมยราพ จนเกิดเป็นหัวข้อโครงงานที่ต้องใช้เวลาพัฒนานานนับปีจนในที่สุดก็ได้เป็นแผ่นกระดาษไมยราพที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ สาขาวิทยาศาสตร์ด้านพืชจากเวที YSC ของเนคเทค

“กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ช่วงที่รวมตัวกันและคิดไอเดียโครงงานยากที่สุด แต่ก็ผ่านมาได้เพราะมีครูที่คอยชี้ให้เราคิดแบบกระบวนการวิทยาศาสตร์ ให้รู้จักการนำของในชุมชนมาใช้ สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ ค่อนข้างคาดหวังเพราะอยากสร้างชื่อเสียงให้กับคนไทย หลังรู้ว่าได้เป็นตัวแทนประเทศทางโรงเรียนเลยติวเข้ม ฝึกการพูดภาษาอังกฤษแบบเข้มข้นเพื่อความมั่นใจ เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ” นายกฤฎติโชค ดวงศรี สมาชิกอีกคนในทีมกล่าว

ด้านตัวแทนนักเรียนสาวไทย ก็ขนความมั่นใจไปร่วมแข่งขันไม่แพ้กัน น.ส.สุรีย์พร ตรีเพชรประชา นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี ตัวแทนเยาวชนผู้ชนะเลิศการแข่งขันระดับเหรียญทองจากสมคมวิทยาศาสตร์ฯ ด้วยหัวข้อโครงงาน “การผลิตเอทานอลจากเซลลูโลสจากแบคทีเรียโดยใช้เมนไซม์ย่อยเซลลูโลสจากแบคทีเรียในมูลวัว” กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า โครงงานของกลุ่มเธอเป็นการนำน้ำเสียจากการะบวนการผลิตยางพารามาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการนำไปผลิตเป็นวุ้นมะพร้าวเพื่อเป็นอาหารให้แบคทีเรียย่อยจนได้ผลิตภัณฑ์เป็นเอทานอล

สุรีย์พร เผยว่า โครงงานดังกล่าวเกิดจากปัญหาใกล้ตัวของคนใต้ ซึ่งนิยมปลูกและผลิตยางพาราแผ่น ซึ่งในแต่ละวันจะมีน้ำเสียซึ่งมีกลิ่นเหม็นเป็นปริมาณมาก โดยกลิ่นเหม็นดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่เจริญเติบโตได้ด้วยอาหารที่ตกค้างจากกระบวนการผลิต เพื่อให้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเสียน้ำทิ้งอันอุดมด้วยจุลินทรีย์ไปโดยเปล่าประโยชน์ เธอจึงมีแนวคิดที่จะนำน้ำทิ้งมาผลิตเป็นวุ้นเพื่อใช้สำหรับการเพาะเลี้ยงแบคทีเรีย และเดินหน้าการทดลองผลิตจนสำเร็จ เป็น “วุ้นมะพร้าว” ที่ไม่ใช่วุ้นมะพร้าวแต่เป็นวุ้นที่ใช้สำหรับเลี้ยงแบคทีเรีย

น.ส.ธิดารัตน์ เพียรจัด สมาชิกในกลุ่มอีกคน เผยว่า แบคทีเรียที่ได้จากวุ้นมะพร้าวของ เป็นแบคทีเรียที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบถึง 98% เจริญเติบโตได้ดีมาก พวกเธอจึงคิดหาวิธีใช้งาน โดยจากการเรียนที่ผ่านมาทำให้ว่าแบคทีเรียบางประเภทโดยเฉพาะที่อยู่ในขี้วัวสามารถย่อยเซลลูโลสเป็นน้ำตาล และเอนไซม์บางอย่างยังสามารถย่อยน้ำตาลจนเป็นเอทานอลได้ ประจวบเหมาะกับที่บ้านของพวกเธอได้เลี้ยงวัวไว้อยู่แล้ว การทดลองเอาขี้วัวมาหมักกับวุ้นมะพร้าวให้แบคทีเรียย่อยเซลลูโลสจึงเริ่มขึ้น ด้วยการเก็บขี้วัวสดมาใส่ในถาดวุ้นมะพร้าวทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 7 วัน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ตรวจสอบจนในที่สุดก็พบว่ามีเอทานอลเกิดขึ้น โดยสุรีย์พรยังเผยด้วยว่าเอทานอลที่ผลิตได้มีความบริสุทธิ์สูงและผลิตได้เร็วกว่าการผลิตเอทานอลจากฟางข้าวถึง 5 เท่า

“เราเริ่มงานวิจัยชิ้นนี้มาตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 58 ค่ะ ทำมาเรื่อยๆ จนได้ผลชัดเจน และเราก็เข้าแข่งขันในโครงการต่างๆ จนได้เหรียญทองจากการแข่งขันโครงงานของสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ และได้รางวัลรองชนะเลิศ สาขาสิ่งแวดล้อมจากเวที YSC จนได้รับการคัดเลือกให้ไปแข่งขันที่ สหรัฐฯ ตอนแรกดีใจมาก เพราะไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกในชีวิต แต่ตอนนี้เริ่มหนักใจแล้ว เพราะคาดหวังไว้มาก อยากนำชื่อเสียงกลับมาให้ประเทศ ตอนนี้ซ้อมหนัก ซ้อมพูดทุกวันเพื่อไม่ให้ผิดพลาดในการแข่งขัน แต่ถ้าไม่ได้รางวัลอะไรก็จะเก็บประสบการณ์กลับมาแบ่งปันเพื่อนๆ ” สุรีย์พรและธิดารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ด.ช.นาวินธิติ จารุประทัย และ นายกฤฎติโชค ดวงศรี นักเรียนชั้น ม.3 ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่
น.ส.ธิดารัตน์ เพียรจัด และ น.ส.สุรีย์พร ตรีเพชรประชา นักเรียนชั้น ม.4  โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี
เยาวชนผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศเข้าแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เข้ารับโอวาทจาก รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์
เยาวชนผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศเข้าแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เข้ารับโอวาทจาก รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวให้โอวาทแก่นักเรียนอย่างเป็นกันเอง









กำลังโหลดความคิดเห็น