หลังจากปล่อยให้เมือกหอยทากจากเกาหลีครองตลาดความงามมาระยะหนึ่ง “ศ.ดร.สมศักด์ ปัญหา” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญหอยอันดับหนึ่งของเมืองไทยจึงยอมไม่ได้ที่ไทยจะตกเป็นรอง จากความรู้เรื่องหอยที่สะสมมานานกว่า 30 ปีวันนี้เขาตอบสังคมได้อย่างเต็มปากว่างานวิจัยพื้นฐานของเขานั้นนำไปสร้างประโยชน์ที่จับต้องได้อย่างไร ในฐานะหุ้นส่วนบริษัทความงามที่มีทั้ง “ฟาร์มหอย” และผลิตภัณฑ์จากเมือกหอย
ศ.ดร.สมศักด์ ปัญหา จาก ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าย้อนกลับเมื่อครั้งได้ทุนวิจัยเรื่องหอยครั้งแรกจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่าทุกครั้งที่ได้ไปรายงานในการประชุมวิชาการเขามักจะได้รับเสียงหัวเราะ แต่กว่า 30 ปีที่ผ่านมานี้องค์ความรู้เรื่องหอยที่เขาสั่งสมมาได้นำไปสู่ “ฟาร์มหอยทากเชิงนิเวศ” แห่งแรกของเอเชีย
ฟาร์มเพาะ “หอย” ผลิตเมือกความงาม
ฟาร์มดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ในบริเวณ หมู่ 2 ถนนร่วมพัฒนา แขวงลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก กทม. โดยเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท สยามสเนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสปิน-ออฟภายใต้สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาฯ ที่ต่อยอดจากองค์ความรู้กว่า 30 ปีของ ศ.ดร.สมศักดิ์เอง และร่วมทุนกับบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นอยู่ 51% เพื่อผลิตเครื่องสำอางจากเมือกหอยทาก ภายใต้แบรนด์สยามสเนลและสเนลเอท โดยมีผลิตภัณฑ์ออกมา 4 ชนิดแล้ว คือ เซรั่มเพื่อผิวกระจ่างใส เซรั่มเพื่อลดเลือนริ้วรอย ครีมบำรุงผิวสำหรับกลางวันและกลางคืน
ภายในฟาร์มพื้นที่ 10 ไร่เลี้ยง “หอยนวล” ซึ่งเป็นหอยทากไทยที่ให้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในปริมาณที่มากกว่าหอยทากชนิดอื่นๆ ปัจจุบันเลี้ยงหอยนวลอยู่ประมาณ 10,000 ตัว แต่ตั้งเป้าเลี้ยงให้ถึง 100,000 ตัว โดยได้จัดสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ รวมทั้งติดตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอัตโนมัติ จัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมตามธรรมชาติและควบคุมคุณภาพของเมือกได้
ธรรมชาติของหอยทากนั้นจะจำศีลในหน้าหนาว ช่วงหน้าร้อนจะอาศัยอยู่ในโพลง แต่จะชอบหน้าฝนและออกมาหากิน ภายในฟาร์มจึงได้ขุดสระน้ำที่มีความลึกถึง 5 เมตร เพื่อควบคุมให้สภาพภายในฟาร์มมีความชื้นตลอดทั้งปี เมื่อเข้าไปในฟาร์มจะพบหอยทากกองอยู่ตามพื้นชื้นๆ บางครั้งก็ออกมาเดินตามเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่ง ดร.สมศักดิ์กล่าวว่าหอยทากเหล่านั้นไม่หนีออกจากฟาร์ม เนื่องจากควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่การอาศัยของหอยทาก และหอยทากจะเลือกอยู่ในที่ที่เหมาะสม
“หอยทากส่วนใหญ่จะมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพพื้นๆ คล้ายกัน แต่หอยนวลมีเมือกเยอะกว่า ซึ่งเราคัดเลือกเมือกจากหอยทาก 3 ชนิด คือ หอยนวล หอยนกขมิ้นและหอยทากสยาม มาใช้ผลิตเครื่องสำอาง โดยเครื่องสำอางบางสูตรเราใช้เมือกจากหอยนกขมิ้นมาผสมเพื่อให้คุณสมบัติพิเศษ เพราะเป็นหอยนกขมิ้นกินไลเคนส์เป็นอาหารทำให้มีเปปไทด์เฉพาะบางตัวที่มีคุณสมบัติน่าสนใจ และผมยังมีสูตรลับอีกเยอะที่ยังไม่เปิดเผย” ศ.ดร.สมศักดิ์อดีตนายกสมาคมหอยนานาชาติกล่าว
สารความงามจากเมือกใต้เปลือก “แมนเทิล”
สำหรับหอยนวลเป็นหอยทากที่กินเห็ด ซึ่ง ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าวว่าทำให้เมือกของหอยนวลมีคุณสมบัติต้านเชื้อรา และเป็นคุณสมบัติที่ไม่พบในเมือกหอยทากจากเกาหลีหรือฝรั่งเศส ทำให้เมือกหอยทากของไทยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่า อีกทั้งมีโปรตีนที่ช่วยบำรุงผิวพรรณมากกว่าเมือกหอยทากของต่างประเทสมากถึง 30 เท่า เมือกหอยทากที่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและมีคุณสมบัติบำรุงผิวพรรณจะหลั่งออกมาจากบริเวณเปลือกแมนเทิล (mantle) ของหอยทาก
สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเปลือกแมนเทิลของหอยทาก 6 ชนิด คือ สารต้านเชื้อแบคทีเรีย กรดไกลโคลิค (Glycolic acid) ช่วยผลัดเซลล์ที่ตายแล้ว อาลันโทอิน (Allantoin) ช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่ กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic acid) ช่วยผยุงเนื้อเยื่อให้ตึงและสะสมน้ำให้ผิวชุ่มชื้น สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องผิวให้อ่อนเยาว์ และวิตามินเอ ดี อี ช่วยบำรุงผิวพรรณ โดยการเก็บเมือกหอยทากต้องอาศัยผู้ชำนาญลูบไล้เบาๆ บริเวณแมนเทิลเพื่อให้หอยหลั่งเมือกออกมา แล้วนำไปทำบริสุทธิ์เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเครื่องสำอางต่อไป
ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าวว่า เคยให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ช่วยออกแบบเครื่องมือในการกระตุ้นการหลั่งเมือกของหอยทาก แต่ปรากฏว่าหอยได้รับความบอบช้ำหรือตาย จึงต้องอาศัยแรงงานคนในการเก็บเมือก ซึ่งภายในฟาร์มนั้นสามารถเห็บเมือกได้วันละประมาณ 3 ลิตร โดยใช้หอยทากประมาณ 1,000 ตัว หอยทากที่ได้รับการเก็บเมือกแล้วจะถูกแยกไปพักฟื้นเป็นเวลาร่วมสัปดาห์
ส่วนเมือกที่หอยทากปล่อยระหว่างคืบคลานนั้น ศ.ดร.สมศักดิ์ระบุว่าไม่มีสารออกฤทธิ์บำรุงผิว เนื่องจากเป็นสารจำพวกคาร์โบไฮเดรต หากนำไปทาหน้าหรือปล่อยให้หอยทากคลานบนหน้า จะทำให้รูขุมขนอุดตันและเป็นสิวได้
จากจานโปรดสู่เคล็ดลับความงาม
ในอดีตหอยทากเป็นอาหารจานโปรดของเหล่านักรบและชนชั้นสูงชาวโรมัน และชาวอียิปต์โบราณ โดยหอยทากจานโปรดนั้นเป็นที่รู้จักในชื่อ “เอสคาโก” (Escargot) ส่วนหอยนวลซึ่งเป็นนางเอกในฟาร์มเพาะเลี้ยงของสยามสเนลนั้นก็เป็นเมนูเด็ดของชาวอีสานเช่นกัน แม้ว่าจะมีข้อมูลว่ามีการนำเมือกหอยทากหอยทากใช้ประโยชน์ในการบำรุงผิวและรักษารอยแผลเป็นมาแล้วกว่า 5,000 ปี แต่การผลิกโฉมสู่วงการความงามเพิ่งเริ่มขึ้นไม่ถึง 40 ปี
ข้อมูลจากสยามสเนลระบุว่าการค้นพบประโยชน์ด้านความงามของเมือกหอยทากนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2523 เมื่อเกษตรกรชาวชิลีที่มีอาชีพเลี้ยงหอยทากส่งภัตตาคารในฝรั่งเศส สังเกตพบว่าการเลี้ยงดูและการจับหอยทากทุกวันทำให้มือนุ่มและลื่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และรอยแตกหรือบาดแผลที่มือก็หายเร็วขึ้นโดยไม่อักเสบ จึงนำไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านความงามอย่างจริงจัง
ปล่อยเมือกฝ่าวิกฤต 300 ล้านปี
นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับหอยทากที่น่าทึ่งจากสยามสเนลระบุว่า หอยทากกำเนิดขึ้นมาบนโลกกว่า 300 ล้านปีแล้วในยุคคาร์บอนิเฟอรัส และผ่านเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การสูญเสียพันธุ์ครั้งใหญ่” มาอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยล่าสุดเมื่อ 65 ล้านปีก่อนพร้อมกับไดโดนเสารซึ่งเป็นจ้าวแห่งสัตว์บกและหอยแอมโมไนท์จ้าวแห่งสัตว์ทะเลที่แข็งแกร่ง แต่หอยทากรอดคืนกลับมาได้และยังมีโครงสร้างที่มีเปลือกแบบเวียนที่แข็งแรง มีร่างกายที่มีผิวชุ่มชื้นเหมือนเดิม ยืดหยุ่นรับกับภาวะวิกฤตต่างๆ สามารถอยู่รอดได้ถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบซากฟอสซิลที่ยืนยันว่าโครงสร้างและผิวพรรณของหอยทากถูกคัดเลือกให้อยู่รอด
“การต้านทานต่อทุกสภาวะนี้จึงมีหลายคนกล่าวว่า 'หอยทากเป็นชีวิตต้นแบบของการดูแลผิวพรรณ' แต่ด้วยกาลเวลาและโครงสร้างของโลกที่เปลี่ยนแปลง กระบวนการวิวัฒนาการภายในยีน ทำให้เกิดการคัดเลือกทางธรรมชาติตามทฤษฏีของ ชาร์ล ดาร์วิน จึงเกิดเป็นความหลากหลายของสายพันธุ์ให้อยู่บนโลกอย่างยิ่งใหญ่ ถ่ายทอดพันธุกรรมรุ่นแล้วรุ่นเล่าอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน” ข้อมูลจากสยามสเนลระบุ
เสริมความรู้คู่ความงาม
นอกจากการผลิตเมือกสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมความงามแล้ว ศ.ดร.สมศักดิ์ หนึ่งในหุ้นส่วนสยามสเนลกล่าวว่าในฐานะนักวิจัยจึงอยากเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรของชาติให้คนไทยไดัรับรู้ จึงมีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ภายในฟาร์มให้ความรู้เกี่ยวกับหอยทากไทยที่มีมากกว่า 600 ชนิด รวมถึงนิทรรศการเปลือกหอยทากจากต่างประเทศ เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นถึงความน่าตื่นตาตื่นใจของหอยจากทั่วโลก
“ในฐานะที่จุฬาฯ เป็นเสาหลักแห่งปัญญา เราไม่ลืมว่าการให้การศึกษาและการใช้ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีโรงงานผลิตเมือกหอยทากที่ไหนในโลกมีพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้ มีฟาร์มให้ท่องเที่ยว แล้วยังให้ดูฟรี ฟาร์มของเราตั้งอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมก็จะได้ซื้อผลิตภัณฑ์กลับบ้านด้วย และยังให้เด็กไทยได้รู้ว่าในบ้านตัวเองนั้นมีอะไร เราเป็นฟาร์มธรรมชาติที่มีการค้นคว้าวิจัย เราตั้งเป้าจะเป็นผู้ผลิตเมือกหอยทากเขตร้อนกับความสวยงามแบบพรีเมียม” ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าว
ต้นแบบงานวิจัยพื้นฐานสู่อุตสาหกรรม
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าทางมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายให้นักวิจัยหยุดสร้างผลงานแค่การตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ แต่ยังส่งเสริมให้นำผลงานไปต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง ศ.ดร.สมศักดิ์ เป็นตัวอย่างของเราคนที่ศึกษาเรื่องหนึ่งเรื่องใดไม่ปล่อย และยังผลิตนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกออกมาจำนวนมาก
“หลายคนอาจจะมองกว่าการสปิน-ออฟเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆ ยาก ทางสภาพอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงได้เข้ามาช่วยตั้งแต่เริ่มแรก โดยจับคู่บริษัทร่วมทุนวิจัย และยังได้รับทุนในการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสันบสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และจุฬาฯ ซึ่งจะเห็นว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์นั้นใช้ทุนเยอะ ความสำเร็จนี้เป็นตัวอย่างของการนำงานวิจัยพื้นฐานไปสู่การต่อยอดทางด้านอุตสาหกรรม” ศ.นพ.ภิรมย์กล่าว
ทำนองเดียวกับ รศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว.ที่กล่าวว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมาถึงจุดนี้ได้ นักวิจัยต้องหยัดยืนในการศึกษาเรื่องเดียวอย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่อยากจะเชื่อว่าการศึกษาเรื่องหอยเพียงเรื่องเดียวทำให้มาถึงขั้นนี้ได้ ซึ่งทาง สกว.ยินดีสนับสนุนการวิจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะงานที่นำไปสู่การยอดเชิงพาณิชย์เช่นนี้ได้
ตั้งเป้าสูงสุดคว้ารางวัลจากเจนีวา
ผลงานเมือกหอยทากสายพันธุ์ไทยเข้มข้นสำหรับเครื่องสำอางของสยามสเนลยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานแสดงนวัตกรรมนานาชาติกรุงโซล (Seoul International Invention Fair 2015: SIF 2015) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์สาธารณรัฐเกาหลี (KIPA-Korea Invention Promotion Association) ซึ่งงานดังกล่าวมีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมกว่า 500 ผลงานจาก 33 ประเทศส่งเข้าประกวด
ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าวว่าเมือกหอยทากของไทยมีจุดเด่นจนแม้แต่เกาหลียังต้องยอมรับ โดยเฉพาะคุณสมบัติหลายๆ อย่างที่เมือกหอยทากเกาหลีเทียบของไทยไม่ได้ เช่น ไม่มีคุณสมบัติต้านเชื้อรา อีกทั้งหอยทากไทยยังเผชิญกับเชื้อโรคและแสงแดดที่ร้อนแรงของแถบเส้นศูนย์สูตรมากกว่า หอยทากไทยจึงมีความแกร่งมากกว่า ซึ่งนวัตกรรมเมือกหอยทากของไทยนี้หากคนไทยไม่รับไปต่อยอด เกาหลีหรือมาเลเซียก็พร้อมจะรับไป
“ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะเอารางวัลจากเจนีวาอีกตัว พอได้แล้วผมก็จะหยุด ไม่เอารางวัลอะไรแล้ว” ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าวถึงเป้าหมายในการส่งนวัตกรรมเมือกหอยทากสายพันธุ์เข้าประกวดในงานแสดงนิทรรศการและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติแห่งเจนีวา (International Exhibition of Inventions of Geneva) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงกลางเดือน เม.ย. ณ กรุงเจนีวา ประเทศสมาพันธรัฐสวิส โดยการสนับสนุนของรัฐบาลสวิส และองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (The World Intellectual Property Organization) หรือไวโป (WIPO)
งานวิจัยคนไทยใช้ได้จริง
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม กล่าวถึงการร่วมทุนกับสยามสเนลว่า ธุรกิจเครื่องสำอางนั้นมีการเติบโตที่สูงมาก โดยภาพรวมในประเทศมีมูลค่าตลาดมากถึง 180,000 ล้านบาท และจะถึง 200,000 ล้านปีในอีก 2-3 ปี และคาดว่าจะเพิ่มเป็นล้านล้านบาทในอีกไม่กี่ปี จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ไทยค่อยไม่มีนวัตกรรมด้านความงาม จนกระทั่งทราบว่ามีงานวิจัยด้านความงามจากหอยทากก็ดีใจมาก
“งานวิจัยคนไทยมีอยู่จริง แต่ไม่มีใครเอามาใช้ทั้งที่เราได้รางวัลนานาชาติด้วย และเมือกหอยทากของไทยยังมีโปรตีนที่มากกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดมากถึง 30 เท่า เรามีคุณค่ามากกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาด ซึ่งนอกจากการนำงานวิจัยสู่ตลาดแล้ว เรายังเชื่อว่าจะเป็นผู้นำระดับโลกได้” นายเกรียงศักดิ์กล่าว
ส่วน ดร.สมศักดิ์กล่าวว่าสยามสเนลร่วมทุนกับ อี ฟอร์ แอล เอม เนื่องจากเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยด้วย โดยการลงทุนสู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางจากเมือกหอยทากนี้ใช้เงินทุน 100 ล้านบาท ในจำนวนนั้นเป็นเงินลงทุนสำหรับสร้างฟาร์มเพาะหอยทาก 40 ล้านบาท และนอกจากฟาร์มที่หนองจอกแล้ว ยังมีฟาร์มสำรองอีกแห่งที่ จ.สระบุรีด้วย โดยอนาคตคาดว่าหากตลาดมีความต้องการเครื่องสำอางจากเมือกหอยทากสูงขึ้น จะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงหอยทากเพื่อผลิตเมือกป้อนอุตสาหกรรม