xs
xsm
sm
md
lg

23-24 ก.พ.รอชมเสื้อจากรังไหมใส่สบาย-ไม่มียับในงาน Thai Tech Show

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย) รศ.ดร.อรุณี คงดี อัลเดรด ผู้วิจัยการนำโปรตีนไฟโบรอินจากเศษไหมสำหรับใช้เคลือบบนผ้าคอตตอน
สวทช.จับมือ 19 พันธมิตรเตรียมจัด Thailand Technology Show 2016 งานแสดง 153 ผลงานวิจัยไม่ขึ้นหิ้งพร้อมส่งต่อภาคเอกชน 23-24 ก.พ.นี้ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เตรียมพบเสื้อคอตตอนผสมเศษไหมไม่มียับสุดยอดผลงานวิจัยเพิ่มมูลค่าขยะโรงทอผ้าจาก ม.แม่โจ้

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ 19 หน่วยงานพันธมิตรจัดแถลงความพร้อมการจัดงาน Thailand Technology Show ครั้งที่ 3 งานแสดงผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2559 ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ภายในงานแถลงความพร้อมมีการนำผลงานวิจัยที่พร้อมต่อถ่ายทอดมาจัดแสดงมากกว่า 20 ผลงาน ทั้งผลงานวิจัยทางด้านสมุนไพร, ด้านอาหาร, ด้านอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงงานวิจัยเพิ่มมูลค่าผลพลอยได้จากขยะเกษตรกรรมซึ่งหนึ่งในนั้นคืองานวิจัยเรื่อง “การตกแต่งสิ่งทอด้วยโปรตีนไฟโบรอินจากเศษไหม” ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.อรุณี คงดี อัลเดรด อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ในวันนี้เดินทางมาจาก จ.เชียงใหม่ เพื่อนำงานวิจัยมาเรียกน้ำย่อย

รศ.ดร.อรุณี กล่าวว่า ทางภาคเหนือมีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นไหมส่งขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งการผลิตหนอนไหมแต่ละครั้งจะได้รังไหมและเศษไหมที่สาวไม่หมดเป็นผลพลอยได้ ในอดีตชาวบ้านนิยมนำมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ตกแต่งบ้านซึ่งขายได้ในราคาต่ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าเธอจึงคิดหาวิธีนำเศษไหม ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีชื่อว่า “ไฟโบรอิน” มาใช้ประโยชน์อีกครั้งด้วยการนำมาเคลือบกับผ้าฝ้าย

สำหรับกระบวนการวิจัย รศ.ดร.อรุณี อธิบายว่าจะเริ่มตั้งแต่การนำรังไหมมาละลายกับสารเคมีเพื่อนำเศษไหมที่แยกได้ ไปเข้าสู่กระบวนการบีบอัดให้แห้ง ใส่สารตัวเติมแล้วจึงทำให้เกิดปฏิกริยาเคมีด้วยความร้อนก่อนจะนำมาเคลือบผ้าฝ้าย ให้มีคุณลักษณะใหม่คือสวมใส่สบาย ทนยับ สีไม่ซีด และไม่เกิดกลิ่นอับแม้สวมใส่เป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังทำให้สามารถย้อมเส้นใยฝ้ายด้วยสีแอซิดซึ่งเป็นสีที่ใช้ย้อมไหมได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลภาวะที่เกิดจากน้ำทิ้งในโรงย้อม

“งานวิจัยนี้ทำมาประมาณ 2 ปีจนถึงตอนนี้ก็มีผู้สนใจหลายรายทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่ติดต่อเข้ามา เพราะมันช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับรังไหมได้อย่างมหาศาล จากเดิมที่เอาไปทำดอกไม้ขายแทบไม่ได้กำไร แต่ถ้าเอามาเข้าเทคโนโลยีจะได้เศษใยไหมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าคอตตอนธรรมดาๆได้ถึง 50% แต่ตอนนี้ยังไม่มีผู้ที่จะติดต่อซื้อสิทธิวิจัยไปใช้จริงจัง เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการนำงานวิจัยมาเข้าร่วมในงาน Thai Tech show ครั้งนี้จะมีผู้ประกอบการที่มีไอเดียคลิกกับเราและนำเทคโนโลยีไปใช้ เพราะพันธกิจของมหาวิทยาลัยและงานวิจัยคือเราไม่ได้ต้องการขายสินค้าแต่เราต้องการให้มีผู้รับช่วงงานวิจัยไปใช้ต่อในภาคอุตสาหกรรม” รศ.ดร.อรุณี กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ภายในงานยังมีบูธผลงานวิจัยที่น่าสนใจที่ทีมข่าวฯ เก็บภาพมาฝากอีกมากมาย เช่น สารสกัดจากข้าวเหนียวดำที่มีความคงตัวสูง และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดชาอัสสัม จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ลูกประคบสมุนไพรสดบรรจุกระป๋องและถุงรีทอร์ด จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ, เจลสมุนไพรแต้มสิว อุปกรณ์ช่วยจับขวดยา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สารสกัดตรีผลา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ชุดหุ่นยนต์เสริมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล, เทคนิคลดต้นทุนการผลิตแก่อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งด้วยมาตรวิทยาอุณหภูมิ จากมาตรวิทยา, ฟิล์มกลิ่นหอมสมุนไพร จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ผลิตภัณฑ์ขนมปังและวุ้นเส้นจากแป้งเมล็ดขนุน เมล็ดมะม่วง จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, สวิตช์สัมผัสจากหมึกนำไฟฟ้า จากสวทช. และข้าวตอกหอม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า งานแสดงผลงานวิจัย Thailand Technology Show เกิดขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการมีความต้องการนำงานวิจัยของรัฐบาลมาต่อยอด แต่ขาดสายโซ่กลางในการจับคู่เทคโนโลยีและไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของงานวิจัยในประเทศ เพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมให้เกิดการนำวิจัยในประเทศไปใช้ สภาอุตสาหกรรมฯ จึงมีความร่วมมือกับ สวทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยหลักของประเทศในการจัดงานโชว์ผลงานวิจัยให้เกิดขึ้น เพื่อแสดงศักยภาพ เรียกความมั่นใจ เพิ่มโอกาสการจับคู่ธุรกิจ และเปิดโอกาสให้มีการเสนอปัญหาโจทย์ปัญหาเพื่อให้การทำวิจัยในอนาคตเป็นงานวิจัยแบบพุ่งเป้ามากขึ้น เพราะที่ผ่านมางานวิจัยในประเทศส่วนมากเกิดขึ้นจากความสามารถเฉพาะบุคคลของนักวิจัย ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจจนทำให้เกิดคำว่า “วิจัยขึ้นหิ้ง”

“Thailand Tech Show ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดย 2 ครั้งแรกจัดขึ้นในปีที่แล้วและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ดูได้จากจำนวนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมีมากถึง 554 ราย และมีผู้สนใจนำนวัตกรรมไปใช้ถึง 88% ถือเป็นสถิติที่สูงมากเพราะส่วนหนึ่งผมคาดว่าเป็นเพราะงานวิจัยของเราเปิดกว้างเป็นสิทธิ์แบบ non-exclusive ทำให้ SMEs ก็มีสิทธิ์เข้าถึงนวัตกรรมได้ ไม่เสียเปรียบธุรกิจใหญ่ และมีค่าธรรมเนียมเมื่อตกลงทำสัญญาเพียง 30,000 ต่อรายการและอีก 2% ของยอดขาย โดยในปีนี้เรามีงานวิจัยดีๆมาให้เลือกช๊อปมากถึง 153 ผลงาน ” ดร.ณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้งาน Thailand Technology Show ประจำปี 2559 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 ก.พ.2559 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายไปจัดตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 29 เม.ย., จ.ขอนแก่น วันที่ 18 พ.ค.และ จ.สงขลา วันที่ 31 พ.ค.

**ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดโครงการ ข้อมูลเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะนำมาแสดงในงานThailand Tech Show รวมถึงข้อมูลในการขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.thailandtechshow.com หรือโทรศัพท์ 0-2564-8000 **
ข้าวตอกหอม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ลูกประคบสมุนไพรสดบรรจุกระป๋องและถุงรีทอร์ด จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ
ฟิล์มกลิ่นหอมสมุนไพร จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ฟิล์มกลิ่นหอมสมุนไพร จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
สารสกัดตรีผลา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
อุปกรณ์ช่วยจับขวดยา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เจลสมุนไพรแต้มสิว จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผลิตภัณฑ์ขนมปังและวุ้นเส้นจากแป้งเมล็ดขนุน เมล็ดมะม่วง จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

สวิตช์สัมผัสจากหมึกนำไฟฟ้า จากสวทช.
เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดชาอัสสัม จากม.แม่ฟ้าหลวง
สารสกัดจากข้าวเหนียวดำที่มีความคงตัวสูง จาก ม.แม่ฟ้าหลวง
ชุดตรวจสอบแบคทีเรียแบบเห็นผลไวใน 2 วัน
เทคนิคลดต้นทุนการผลิตแก่อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งด้วยมาตรวิทยาอุณหภูมิ จากมาตรวิทยา
ชุดหุ่นยนต์เสริมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. (คนกลาง)









กำลังโหลดความคิดเห็น