xs
xsm
sm
md
lg

จากสุนัขป่ามาเป็นสุนัขบ้าน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

มารุทาโร (Marutaro) สุนัขพันธุ์ชิบะอินุอายุ 7 ปี ซึ่งติดอันดับดาวเด่นในอินสตาแกรมนานหลายปี กับชินจิโร โอโนะ (Shinjiro Ono) เจ้าของ ในสวนสาธารณะที่โตเกียวเมื่อ 23 ธ.ค.2015 (AP Photo/Shizuo Kambayashi)
ปัจจุบันเจ้าของบ้านแทบทุกหลังมักมีสัตว์เลี้ยง เช่น นก ปลา ลิง สุนัข แมว ฯลฯ อเมริกาเพียงประเทศเดียวมีสุนัขเลี้ยงประมาณ 65 ล้านตัว และแมวประมาณ 57 ล้านตัว ประชากรทุกระดับตั้งแต่กรรมกรยันประธานาธิบดีต่างก็มีสัตว์เลี้ยง เช่น ประธานาธิบดี Bush และ Obama เลี้ยงสุนัข ด้าน Clinton เลี้ยงแมว เป็นค้น

นักจิตวิทยาได้อธิบายเหตุผลที่คนชอบเลี้ยงสัตว์ในบ้านว่า เพราะมนุษย์เองก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ดังนั้นการมีความรักและความปรารถนาดีต่อสัตว์อื่น จึงมิได้เป็นเรื่องแปลก แต่ที่แปลกคือ แม้สัตว์เลี้ยงบางชนิดจะเป็นพาหะนำโรค เช่น แมวถ่ายมูลที่มีพยาธิตัวกลม และนกนำไวรัสไข้หวัดนกสู่คน กระนั้นคนหลายคนก็ยังรู้สึกชื่นใจเวลามีสัตว์เลี้ยง เช่น แมวมาคลอเคลียอยู่ใกล้ๆ ทั้งนี้เพราะได้รับมิตรภาพที่อบอุ่นจากสัตว์ อันเป็นสิ่งที่แทบจะหาไม่ได้จากคนรอบข้างในทุกวันนี้

นอกจากจะให้ความเป็นเพื่อนแล้ว สัตว์เลี้ยงหลายชนิดยังช่วยให้คนเลี้ยงมีสุขภาพกายดีด้วย เช่นคนที่เป็นโรคหัวใจ ถ้ามีสัตว์เลี้ยงเป็นหมา เวลาจะต้องจูงสุนัขไปเดินออกกำลังกาย นั่นหมายความว่า คนเลี้ยงต้องเดินไปพร้อมสุนัข และการเดินจะทำให้สุขภาพของเจ้าของดีตาม นอกจากนี้การแสดงความผูกพันที่เจ้าของกับสุนัขเลี้ยงมีต่อกันก็สามารถทำให้เจ้าของลดความเครียดได้ นี่เป็นเรื่องดีสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ ในบางประเทศมีการฝึกสุนัขให้รู้จักนำทางเจ้าของที่เป็นคนตาบอดด้วย
เจ้าโบ โอบามา (Bo Obama) บนกลางโซฟา ร่วมกิจกรรมอ่านหนังสือให้เด็กป่วยในศูนย์ดูแลสุขภาพของสหรัฐฯ ในช่วงคริสต์มาส พร้อมกับมิเชล โอบามา (Michelle Obama) สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ และ ลูนา เฟรา (Luna Fera) เด็กหญิงวัย 11 ขวบ (AP Photo/Susan Walsh)
ในออสเตรเลียได้เคยมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า คนที่มีสุนัขเลี้ยง ร่างกายของเขาจะมีความดันโลหิตต่ำ มีสาร triglyceride น้อย และมีโคเลสเตอรอลน้อยกว่าคนที่ไม่มีสุนัขเลี้ยง อาจเป็นเพราะสุนัขเลี้ยงทำให้เจ้าของมีอารมณ์มั่นคง เวลามันวิ่งมาต้อนรับ หรือมาหา เพื่อเคล้าแข้งเคล้าขา หรือรู้จักนั่งคอยเจ้าของเวลากลับถึงบ้าน และเชื่อฟังทุกคำสั่งอย่างไม่บ่ายเบียง การแสดงออกเช่นนี้ทำให้เจ้าของมีความรู้สึกมั่นใจว่าตนเป็นคนมีค่า และการมีสุนัขเป็นการเสริมกำลังใจให้มีความมุ่งมั่นจะเอาชนะแรงกดดันที่มาจากนอกบ้านได้อย่างไม่ท้อแท้

นอกจากจะมีความจงรักภักดีต่อเจ้าของแล้ว สมบัติที่ประเสริฐอีกประการหนึ่งของสุนัขคือ มันเป็นสัตว์ที่ไม่จู้จี้ ไม่เซ้าซี้ และซื่อสัตย์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย จนทำให้หลายคนคิดว่า สุนัขคือกัลยาณมิตรของเจ้าของที่สมควรจะได้มรดกจากเจ้าของบ้าง เวลาเจ้าของตาย

เมื่อสุนัขประพฤติและปฏิบัติดีต่อคนเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจที่ในรัชสมัยสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย (ประมาณ 200ปีก่อน) จึงมีกฎหมายคุ้มครองสุนัขเลี้ยงให้รอดพ้นจากการถูกเฆี่ยนตี เป็นที่น่าสังเกตว่า ในประเทศเดียวกันนี้ไม่มีกฎหมายห้ามบิดามารดาโบยลูก จนกระทั่งปี 1867

ปริศนาหนึ่งที่ค้างคาใจใครต่อใครมานานคือ มนุษย์เริ่มมีสุนัขเลี้ยงตั้งแต่เมื่อใด และด้วยวิธีใด

ในปี 1868 Charles Darwin ได้เคยจุดประกายความสงสัยนี้ โดยตั้งประเด็นเรื่องที่มาของสุนัขเลี้ยงในบทความชื่อ The Variation of Animals and Plants under Domestication โดย Darwin คิดว่าสุนัขเลี้ยงเป็นสัตว์สปีชีส์หนึ่งในอาณาจักรสัตว์ หรือไม่ก็เป็นสัตว์ที่เกิดจากการผสมพันธ์ระหว่างสุนัขป่ากับสุนัข jackal
สุนัขและเจ้าของเล่นสนุกกับหิมะในสวนสาธารณะที่เท็กซัส สหรัฐฯ เมื่อ 27 ธ.ค.2015 (Mark Lambie/The El Paso Times via AP)
การศึกษา DNA ของสุนัขพันธุ์ต่างๆ ในเวลาต่อมาได้ข้อมูลว่าสุนัขป่าสีเทา (gray wolf) คือ ต้นตระกูลสัตว์ของสุนัขบ้าน เพราะได้มีการพบว่าสัตว์ทั้งสองสปีชีส์นี้มี DNA ซ้ำกันถึง 99.9%

คำถามต่อไปคือมนุษย์นำสุนัขป่ามาเลี้ยงเป็นสุนัขบ้านตั้งแต่เมื่อใด และ ณ ที่ใดเป็นครั้งแรก

ในปี 1977 นักโบราณคดีได้ขุดพบโครงกระดูกของมนุษย์และลูกสุนัขอายุ 12,000 ปีที่ถูกฝังรวมกันในซากปรักหักพังอายุ 12,000 ปี ที่บริเวณทางตอนเหนือของอิสราเอล หลักฐานนี้แสดงว่า ชาวตะวันออกกลางรู้จักเลี้ยงสุนัข ก่อนที่จะรู้จักทำเกษตรกรรมเสียอีก หลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีการขุดพบซากกระดูกสุนัขในรัสเซียและเยอรมนี ข้อมูลการวัดอายุของกระดูกแสดงว่า เหตุการณ์การนำสุนัขมาเลี้ยงเกิดขึ้นเมื่อ 16,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่มนุษย์ยังเร่ร่อนและยังไม่รู้จักการใช้ชีวิตในหมู่บ้าน

ด้าน Peter Savolainen แห่ง Royal Institute of Technology ที่ Stockholm ในสวีเดนสนใจสถานที่มีการเลี้ยงสุนัขบ้านเป็นครั้งแรก เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าแอฟริกาคือแหล่งกำเนิดของมนุษย์ สุนัขบ้านก็ต้องมีแหล่งกำเนิดเช่นกัน ในปี 2009 เขาได้วิเคราะห์ DNA ของสุนัขประมาณ 1,500 ตัวจากทั่วโลก และได้ข้อสรุปว่า ดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเมื่อ 16,300 ปีก่อน เป็นเวลาที่มนุษย์เริ่มรู้จักทำเกษตรกรรมข้าวเป็นครั้งแรก มนุษย์ได้นำสุนัขป่ามาเลี้ยงเป็นครั้งแรกด้วย แต่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร
จอช เรดไมเยอร์ (Josh Redmyer) อดีตนาวิกโยธินผู้ไปประจำการที่อิรัก 3 รอบ และได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder) ได้รับสุนัขบำบัดชื่อว่า “ไมโล” (Milo) เป็นของขวัญวันเกิดจากเพื่อนร่วมห้อง (AP Photo/Rich Pedroncelli)
ด้าน Robert Wayne แห่งมหาวิทยาลัย California ที่ Los Angeles ไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์พันธุกรรมของสุนัขปัจจุบันที่ Savolainen ใช้ เขาคิดว่าควรศึกษารหัสพันธุกรรมของสุนัขป่า และสุนัขที่มีอายุโบราณมากกว่า ในปี 2009 เขาได้ข้อสรุปว่า DNA ของสุนัขโบราณมีข้อมูลพันธุกรรมคล้าย DNA ของสุนัขป่าในยุโรปมาก ส่วน DNA ของสุนัขปัจจุบันก็มีลักษณะใกล้เคียงกับ DNA ของสุนัขป่า ข้อมูลเหล่านี้จึงชี้ให้เห็นว่าเมื่อ 32,000 ปี - 19,000 ปีก่อน ในยุโรปมีสุนัขป่าสปีชีส์หนึ่งที่เป็นต้นตระกูลของสุนัขบ้านปัจจุบัน และสุนัขป่าดังกล่าวได้สูญพันธ์ไปแล้ว

ความเห็นที่แตกต่างกันนี้เกิดจากหลายสาเหตุ ประการแรก คือ ความยากลำบากในการจะรู้ว่ากะโหลกของสัตว์ที่พบเป็นของสุนัขป่าหรือสุนัขบ้าน เพราะกะโหลกทั้งสองมีรูปทรงที่คล้ายกันมาก เช่น สุนัขบ้านมีกระดูกจมูกค่อนข้างสั้น ฟันเขี้ยวของสุนัขบ้านก็มีขนาดเล็กกว่า และฟันจัดเรียงกันดีกว่า ส่วนกระดูกจมูกของสุนัขป่านั้นจะยาวและลาดเอียงลงน้อยกว่า ฟันก็อยู่ห่างกันค่อนข้างมาก เหตุผลประการที่สองคือนักวิจัยที่สนใจเรื่องต้นกำเนิดของสุนัขบ้านก็มิได้ทำงานเสริมกัน ทั้งนี้เพราะอยู่ห่างไกลกันคนละซีกโลก ทำให้การวิจัยเป็นไปในแนวที่ว่าต่างคนต่างคิด

เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้ ทุกคนจึงเห็นความจำเป็นที่นักวิจัยจะต้องทำวิจัยร่วมกันมากขึ้น

ในปี 2013 คณะวิจัยซึ่งประกอบด้วยนักวิจัย 15 คนจากอเมริกา ยุโรป และเอเชียได้มาประชุมกันที่ London เพื่อวิเคราะห์โครงกระดูกสุนัขจากบริเวณต่างๆ ของโลก แล้วใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์โครงสร้างของทุกกะโหลกอย่างละเอียด ซึ่งการศึกษาที่รอบคอบมากเช่นนี้นักโบราณคดีที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เลยทำไม่ได้ เพราะคอมพิวเตอร์สามารถวัดขนาดของชิ้นส่วนต่างๆ ในโครงกระดูกที่มีอายุแตกต่างกันอย่างละเอียดจนสามารถบอกได้ว่า สุนัขป่าเริ่มกลายรูปร่างเป็นสุนัขบ้านตั้งแต่เมื่อใด
ภาพการแข่งขันสุนัขลากเลื่อนเมื่อเดือน ก.พ.2015 ในเยอรมนี (AP Photo/Jens Meyer, file)
ณ วันนี้ ทีมวิจัยที่สนใจเรื่องนี้มีสมาชิกประมาณ 50 คนจากทั่วโลก และได้วิเคราะห์กระดูกของสุนัขป่ากว่า 3,000 ตัว จึงคาดว่าจะได้ผลสรุปในปี 2016 นี้ แต่นักวิจัยทุกคนก็ต้องทำใจว่า ผลสรุปที่ได้อาจขัดแย้งกับความเชื่อของพวกเขาทุกคน และเหตุการณ์นี้อาจทำให้หลายคนหน้าแตก แม้จะมีอุปสรรคเช่นนั้นแต่นั่นก็เป็นจุดประสงค์หลักของนักวิทยาศาสตร์คือพยายามค้นหาความจริง

ในขณะที่นักวิจัยหลายคนสนใจเรื่องเวลา และสถานที่ๆ คนนำสุนัขมาเลี้ยงเป็นครั้งแรก หลายคนก็สนใจเรื่องวิธีที่คนโบราณใช้ในการทำให้สุนัขป่ากลายเป็นสุนัขบ้าน

ในปี 1907 Francis Galton คิดว่า เมื่อคนโบราณเห็นลูกสุนัขป่าที่น่ารัก (คือตาโตและหูยาว) จึงฉกลูกสุนัขป่านั้นมาเลี้ยงที่บ้าน สมมติฐานนี้ดูสมเหตุสมผล แต่ในความเป็นจริงความคิดของ Galton ผิด เพราะเขาไม่รู้ว่าการนำสุนัขป่ามาเลี้ยงให้เชื่องต้องใช้เวลากว่าร้อยปี และอาจจะถึงพันปี สุนัขป่าจึงจะเชื่องได้ นั่นคือลูกสุนัขป่าที่ Galton เลี้ยงก็ยังเป็นสุนัขป่า เมื่อมันโตขึ้น
ชายในชุดซานตาคลอสเล่นกับสุนัข เผยแพร่โดยศูนย์พิทักษ์สัตว์เฮเลนวูดวาร์ด ซึ่งรณรงค์ให้มีการรับเลี้ยงสัตว์ไร้บ้านในช่วงเทศกาลคริสต์มาสมานาน 17 ปี (Helen Woodward Animal Center via AP)
ปัจจุบันนักชีววิทยาหลายคนคิดว่า สาเหตุที่สุนัขป่ากลายนิสัยเป็นสุนัขบ้านเกิดจากเวลามนุษย์กินอาหารแล้ว ทิ้งเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคออกไปนอกที่อยู่อาศัย และสุนัขป่าได้ลอบเข้ามากินอาหารนั้น มันจึงพัฒนานิสัยให้ชอบการอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้นๆ และเมื่อมันได้กินอาหารในปริมาณมากขึ้นๆ ลูกหลานของมันก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ จนในที่สุดมันกล้าเดินเข้ามากินอาหารจากมือมนุษย์ จากนั้นมนุษย์ก็เริ่มจับมันมาช่วยเลี้ยงดูวัวควาย เฝ้าบ้าน และพิทักษ์ปกป้อง จนมันกลายเป็นสุนัขเลี้ยงในที่สุด

ในวารสาร Science ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2015 Takefumi Kikusui แห่งมหาวิทยาลัย Azabu ของญี่ปุ่นได้รายงานว่า เวลาคนกับสุนัขบ้านจ้องตากัน สายตาที่ส่อแววอาทรกันจะทำให้ร่างกายของคนกับสุนัขบ้านหลั่งฮอร์โมน oxytocin ออกมาซึ่งทำให้ทั้งคู่มีความรู้สึกไว้วางใจกัน และผูกพันกันในทำนองเดียวกับที่แม่และลูกน้อยทอดสายตาดูกัน ข้อมูลนี้จึงบ่งบอกว่า เมื่อสุนัขป่ากลายมาเป็นสุนัขบ้าน เพราะร่างกายมันมีการหลั่ง oxytocin ขณะมันจ้องดูคน นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการมีอารยธรรมของมนุษย์ด้านการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับสัตว์อื่น

แม้ปัญหาการทำให้สุนัขป่าเชื่องมีคำตอบแล้ว แต่ก็ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่ยังไม่มีคำตอบคือ ทำอย่างไรจึงจะให้คนบางคนเชื่องไม่กัดหรือแทงข้างหลังคนอุปถัมภ์

อ่านเพิ่มเติมจาก Beyond Words: What Animals Think and Feels โดย Carl Safina จัดพิมพ์โดย Henry Holt ปี 2015

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์









กำลังโหลดความคิดเห็น