xs
xsm
sm
md
lg

ชื่นชม 2 นักเรียนผู้ตั้งชื่อ "ตะเภาแก้ว-ชาละวัน" ให้ดาวเคราะห์-ดาวฤกษ์ต่างระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น้องพิมพ์ ผู้ตั้งชื่อ ตะเภาแก้ว และ น้องปอนด์ ผู้ตั้งชื่อ ชาละวัน
เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้คัดเลือกให้ชื่อ "ชาละวัน และ ตะเภาแก้ว-ตะเภาทอง" เป็นชื่อสามัญภาษาไทยของดาว 47 เออเซย์ มาจอริส ดาวฤกษ์ต่างระบบในกลุ่มดาวหมีใหญ่ จนเป็นกระแสที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจดาราศาสตร์อีกครั้ง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรุงเทพฯ สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้เปิดตัวเยาวชนคนเก่งผู้ตั้งชื่อดาวทั้ง 2 คนได้แก่ น.ส.ศกลวรรณ ตระการรังสี ผู้ตั้งชื่อ "ตะเภาแก้ว" และ นายสุภาภัทร อุดมรัตน์นุภาพ ผู้ตั้งชื่อ "ชาละวัน" ซึ่งในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็ได้ร่วมสัมภาษณ์เพื่อสอบถามถึงความรู้สึกและที่มาของชื่อดาว

น.ส.ศกลวรรณ ตระการรังสี หรือน้องพิมพ์ นักเรียนชั้น ม.4 ร.ร.เบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี ที่เดินทางมาจากเมืองเพชรเพื่องานนี้โดยเฉพาะกล่าวว่า ครั้งแรกที่ทราบว่าชื่อ "ตะเภาแก้ว" ที่เธอตั้งได้รับเลือกจากสมาคมดาราศาสตร์ไทยให้เป็นชื่อตั้งต้นก็รู้สึกดีใจมาก แต่รู้สึกดีใจมากขึ้นไปอีกเมื่อถูกนำไปใช้เป็นชื่อดาวจริงๆ ของดาวเคราะห์ในระบบ 47 เออเซย์ มาจอริสบี

น้องพิมพ์เล่าว่า จุดเริ่มต้นทั้งหมดมาจากเพื่อนของเธอที่ทราบข่าวว่าสมาคมฯ มีประกาศให้คนไทยช่วยกันส่งชื่อดาวที่เป็นภาษาไทยเข้าร่วมโครงการตั้งชื่อให้โลกต่างระบบ โดยต้องตั้งตามข้อกำหนดต่างๆ เธอและเพื่อนจึงปรึกษากันว่าจะตั้งชื่อดาวเป็นธีมวรรณคดี ซึ่งน้องพิมพ์ได้เลือกเอาชื่อ "ตะเภาแก้ว" ส่งเข้าร่วมโครงการจากความชื่นชอบส่วนตัวของเธอ แต่ในภายหลังเพื่อนที่ชวนเธอกลับไม่ได้ตั้งชื่อในธีมวรรณคดีไทย

"ส่วนตัวชอบดูดาวอยู่แล้วค่ะ ดูด้วยกล้องดูดาวที่โรงเรียน เพราะสนใจด้านดาราศาสตร์อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ทำอะไรเท่ๆแบบสถาปัตย์ได้ พอเพื่อนมาบอกว่ามีโครงการให้ตั้งชื่อดาวเลยลองเปิดๆ หนังสือดูไปเจอวรรณคดีมีชื่อตะเภาแก้วเลยเลือกชื่อนี้เพราะความชอบ พอสมาคมฯเลือกเขาก็เอามาตั้งเพิ่มเพราะโลกต่างระบบนี้มีดาว 3 ดวง โดยใช้ชื่อดาวหลักว่าชาละวัน ส่วนชื่อตะเภาแก้วของหนูเป็นดาวบริวารดวงที่ 1 ดาวบริวารดวงที่ 2 ชื่อตะเภาทอง เป็นเซ็ตเลยน่ารักดี แล้วก็ถือว่าเป็นเกียรติมากๆ เลยค่ะ" น้องพิมพ์ ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้าน นายสุภาภัทร อุดมรัตน์นุภาพ หรือน้องปอนด์ นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.สาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม) หนึ่งในเยาวชนสมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ผู้ตั้งชื่อ ชาละวันกล่าวว่า เหตุที่ตั้งให้ "ชาละวัน" เป็นชื่อไทยของดาวฤกษ์ต่างระบบ 47 เออเซย์ มาจอริสนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากมติที่ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้คัดเลือกชื่อให้ชื่อ "ตะเภาแก้ว" เป็นชื่อที่ชนะจากชื่อดาวทั้งหมดกว่า 200 ชื่อที่ประชาชนเข้าร่วมโครงการ

น้องปอนด์ ให้เหตุผลว่า "ชาละวัน" ถือเป็นตัวเอกของวรรณคดีเรื่องไกรทอง และยังสอดคล้องกับลักษณะของดาวฤกษ์ 47 เออเซย์ มาจอริส ที่เป็นดาวในกลุ่มดาวหมีใหญ่หรือดาวจระเข้ของคนไทย โดยสมาคมฯ ได้ตั้งชื่อ "ตะเภาทอง" เพิ่มอีกหนึ่งชื่อสำหรับดาวบริวารอีกดวงที่มีชื่อว่า 47 เออเซย์ มาจอริสซี

"ตัวผมเป็นสมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ไทยครับ ตอนคัดเลือกก็เห็นแล้วว่าตะเภาแก้วมันเล่นต่อได้ ก็เลยผุดชื่อชาละวันออกมา ซึ่งมันก็สอดคล้องกับดาวที่เราตั้งพอดี พอทราบประกาศก็ดีใจมาก เพราะนี่ถือเป็นชื่อไทยชื่อแรกที่ได้เป็นชื่อสามัญของดาว ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากในวงการดาราศาสตร์ แล้วก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ส่งชื่อเข้าร่วมโครงการและคนไทยทุกคนที่ร่วมกันโหวตด้วยครับ" ผู้ตั้งชื่อชาละวัน กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้ประกาศเกียรติคุณให้แก่เยาวชนทั้งสอง พร้อมกับของที่ระลึกเป็นภาพฝนดาวตกเจมินิตส์, พจนานุกรม, วารสารดาราศาสตร์และคู่มือดูดาว
น.ส.ศกลวรรณ ตระการรังสี หรือน้องพิมพ์ นักเรียนชั้น ม.4 ร.ร.เบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี (ภาพประกอบทั้งหมดจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย)
น้องพิมพ์รับของที่ระลึกจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย
นายสุภาภัทร อุดมรัตน์นุภาพ หรือน้องปอนด์ นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.สาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม)
น้องปอนด์รับของที่ระลึกจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย









กำลังโหลดความคิดเห็น